แปลงดอกไม้ทั้งเยอร์บีร่าและกุหลาบ ที่เคยเป็นรายได้หลักของชาวดอยหมอก ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ถูกปล่อยให้แห้งตายคาต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ อันเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อรัฐบาลออกมาตรการคุมการแพร่เชื้อ ทำให้การสั่งซื้อดอกไม้ที่เคยนำไปใช้ในงานอีเวนท์ งานมงคล กิจกรรมต่างๆ หายไป และส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวดอยหมอกโดยตรง
อีกด้าน รายได้รองจากการทำไร่ และทำสวน ไม่ว่าจะเป็น สวนลำไย ข้าวโพด รวมไปถึงต้นหอมญี่ปุ่น ก็ยังไม่ถึงฤดูกาลผลิต และต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง รวมถึงไฟป่าซ้ำเติมสถานการณ์อีกด้วย
แม้จะไม่มีรายได้ แต่ชาวบ้านต้องกินต้องใช้หลายครอบครัวที่มีต้นทุนเพาะปลูกพืชผักสวนครัว หรือเลี้ยงหมูดอยอยู่บ้างก็พอบรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง แต่อีกหลายครอบครัวไม่มีต้นทุนใดๆ ต้องเข้าป่า เพื่อหาของป่าประทังชีวิตในแต่ละวัน หลายครอบครัวไม่มีทางเลือกต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใส่ผักที่เก็บมาแถวบ้านเพื่อให้พออิ่มท้อง
เหล่านี้คือสิ่งที่ครอบครัวของ นักเรียนโรงเรียนแม่ตะละวิทยา ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่นักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
กระทั่งมีธารน้ำใจจากโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนและความยากลำบากในการกินอยู่ โดยเฉพาะในช่วงการปิดเทอมที่ทอดเวลายาวนานกว่าเดิม
“เราประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้าน ให้ผู้ปกครองของเด็กที่ได้รับทุนจากโครงการโควิดของกสศ. มารับที่โรงเรียน ผู้ปกครองดีใจกันมาก บางคนบอกว่ามาในจังหวะที่พอดีเขากำลังไม่มีเงินซื้อข้าว บางบ้านมีลูก3-4คน เขาขอแค่ให้ลูกอิ่ม ผู้ปกครองพออดได้” รชฎ อิ่นคำ ผอ.รร.แม่ตะละวิทยา ย้อนเหตุการณ์ในวันนั้น
โรงเรียนแม่ตะละวิทยา มีทางเลือกให้ผู้ปกครอง 2 ทาง คือ รับเป็นเงินสด 600 บาท หรือ จะให้ทางโรงเรียนนำเงินสดไปซื้ออาหารแห้งที่ตัวเมืองขึ้นมาส่งให้ เพราะหลายครอบครัวไม่มีรถ การเดินทางจึงยากลำบาก ชุมชนแห่งนี้อยู่บนดอยสูงชันห่างจากตัวเมืองถึง 22 กิโลเมตร เมื่อโรงเรียนจัดซื้ออาหารแห้งจากในเมืองให้กับครอบครัวของนักเรียนก็จะนำของเหล่านี้ไปมอบให้ถึงที่บ้านนักเรียนแต่ละคน
“เด็กๆดีใจ เงิน 600 บาท สำหรับเด็กที่นี่ถือเป็นเงินจำนวนมาก เพราะพวกเขามีฐานะยากจน และการที่ครอบครัวขาดรายได้จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อยู่อย่างยากลำบากมากขึ้น อาหารการกินไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ”
ผอ.รชฎ บอกว่า หลังจากเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม นักเรียนทุกคนมาเรียนกันตามปกติ โดยโรงเรียนได้จัดอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน และนมโรงเรียนเพื่อเสริมโภชนาการให้เด็ก ภายหลังจากปิดเทอมที่ยาวนาน
ส่วนมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรงเรียนนั้น เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ทุกประการ โดยมีการคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียนด้วยการคัดกรองอุณหภูมิ ล้างมือ แจกหน้ากากอนามัย และเฟสชีลให้กันักนนักเรียนทุกคน สร้างระยะห่างระหว่างโต๊ะเรียน รวมถึงจัดการรับประทานอาหารกลางวันเหลื่อมเวลาเป็น 3 รอบ จากเดิมที่เด็กทุกคนจะรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกันทั้งหมด
ผอ.โรงเรียนแม่ตะละวิทยา ยังบอกด้วยว่า นักเรียนและผู้ปกครองรู้สึกขอบคุณกสศ. และผู้บริจาคสมทบทุนในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาของความยากลำบากได้