COVID-19 สะท้อนสถานการณ์การศึกษาญี่ปุ่นยังไม่พร้อมเรียนออนไลน์

COVID-19 สะท้อนสถานการณ์การศึกษาญี่ปุ่นยังไม่พร้อมเรียนออนไลน์

ที่มาภาพ : NIKKEI ASIAN REVIEW

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

โรค COVID-19 ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องงัดมาตรการเด็ดขาดขึ้นมาใช้เพื่อสกัดกั้นการระบาด ซึ่งรวมถึงการปิดโรงเรียน ได้แสดงให้เห็นปัญหาในวงการการศึกษาของญี่ปุ่นว่า ยังไม่พร้อมรองรับระบบการเรียนการสอนทางไกลหรือระบบการเรียนออนไลน์

สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังย่ำแย่เพราะภาวะเงินฝืดเท่านั้น แต่ปัญหาของโรคระบาดได้สะท้อนให้เห็นประเด็นที่น่าวิตกของวงการการศึกษาของแดนอาทิตย์อุทัยที่ว่า โรงเรียนอีกหลายแห่งทั่วประเทศยังไม่พร้อมรองรับระบบการเรียนออนไลน์ 

สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น รายงานว่า ท่ามกลางโรงเรียนหลายแห่งทั่วโลกที่หันไปเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้เด็กนักเรียนนานาประเทศกว่า 1,500 ล้านคนสามารถเรียนหนังสือต่อไปได้ แม้ไม่อาจเดินทางไปโรงเรียนเพื่อเข้าเรียนที่ห้องเรียนได้ตามปกติ แต่สำหรับโรงเรียนรัฐทั่วญี่ปุ่นกลับไม่อาจนำระบบการเรียนออนไลน์มาใช้ได้อย่างเต็มที่

สื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานโดยยกตัวอย่างสถานการณ์ของโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐอย่างโรงเรียน Kitasuwa ในเมือง Tama ของกรุงโตเกียว ซึ่งตัดสินใจเลือกแจกเนื้อหาหลักสูตรที่พิมพ์ออกมาบนแผ่นกระดาษ พร้อมกับการบ้านแบบทดสอบต่างๆ ไปให้กับนักเรียนของโรงเรียนจำนวน 500 คน ให้กลับไปศึกษาที่บ้านด้วยตนเองแทนการใช้ระบบการสอนออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า คุณครูของโรงเรียน Kitasuwa ไม่อยากทำบทเรียนการสอนออนไลน์ แต่หลังจากพิจารณาถึงปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ แล้ว บรรดาคุณครูเหล่านี้จำต้องถอดใจ โดยเฉพาะปัจจัยที่น่าวิตกมากที่สุดอย่าง “ความเท่าเทียม” เพราะไม่ใช่นักเรียนทุกคนของโรงเรียนที่จะมีคอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการเรียนของตนภายในบ้าน และในบ้านแต่ละหลังก็ใช้ว่าจะสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพที่ดีเพียงพอได้ 

คุณครูโรงเรียน Kitasuwa ที่มาภาพ : NHK WORLD – JAPAN

คุณครูท่านหนึ่งของโรงเรียนประถมแห่งนี้ยอมรับ เหล่าคุณครูต่างตระหนักและรู้ซึ้งดีถึงประโยชน์มากมายของการเรียนออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจตัดใจนำมาใช้ได้ เมื่อต้องคำนึงและให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กนักเรียนทุกคนของโรงเรียน 

การตัดสินใจของโรงเรียนประถม Kitasuwa สอดคล้องกับผลการสำรวจก่อนหน้าของทางกระทรวงศึกษาธิการในช่วงกลางเดือนเมษายน ที่เพิ่งจะเริ่มมีการประกาศทยอยปิดโรงเรียนหลายแห่งในบางพื้นที่ ซึ่งพบว่า มีโรงเรียนรัฐทั่วประเทศเพียง 5% เท่านั้นที่วางแผนใช้ระบบการเรียนออนไลน์ในช่วงระหว่างปิดโรงเรียนหนี COVID-19 ขณะที่โรงเรียนทุกแห่ง 100% วางแผนให้นักเรียนศึกษาเองที่บ้านผ่านหนังสือเรียนและเอกสารที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้ 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ระยะเวลาปิดโรงเรียนเริ่มกินเวลายาวนานร่วมหลายเดือน ก็เริ่มมีพ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนในญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้โรงเรียนรัฐบาลหันมาใช้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองในเมือง Musashino กรุงโตเกียว ได้ยื่นจดหมายร้องเรียนถึงผู้ว่าเพื่อให้โรงเรียนรัฐทุกแห่งในจังหวัดดำเนินการเรียนการสอนออนไลน์  ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของผู้ปกครองในพื้นที่รวม 1,500 คน พบว่า 96% ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

สำหรับเหตุผลหลักที่พ่อแม่ผู้ปกครองยินดีให้การสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์เป็นเพราะต้องการให้ลูกหลานของตนเองได้มีโอกาสได้มีปฎิสัมพันธ์กับคุณครูและเพื่อนร่วมชั้นบ้าง แทนที่จะมัวแต่คร่ำเคร่งอ่านหนังสือเรียน ตำรา และเอกสารที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้

ด้าน Ishido Nanako ศาสตราจารย์ด้านการออกแบบสื่อแห่งมหาวิทยาลัย Keio ของญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีของเด็กนักเรียนบางคนเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งยังเกิดจากปัญหาความไม่พร้อมของตัวโรงเรียนเอง โดยที่ผ่านมา โรงเรียนทั่วญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เคยแสดงความกระตือรือร้นสนใจต่อระบบการศึกษาแบบดิจิทัล ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนเหล่านนี้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวรองรับกับสถานการณ์วิกฤตต่างๆ อย่างการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อ่อนด้อยเพียงใด 

“ผู้คนส่วนใหญ่วิตกกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านความเสมอภาคมากเกินไป จนกลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างหลักที่ทำให้เรายังยึดมั่นกับสไตล์การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมอยู่ ที่นักเรียนจะต้องนั่งนิ่งเรียบร้อยในห้องเรียน กางสมุดหยิบดินสอขึ้นมาจด โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยนานนับศตวรรษ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง
(ด้านการศึกษา) ในแง่ของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ” ศาสตราจารย์ Ishido ระบุ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ภายใต้โครงการวัดประเมินผลนักเรียนอย่าง Programme for International Student Assessment (PISA) ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความล่าช้าในการนำ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) มาใช้เพื่อการศึกษามากเพียงใด ซึ่ง OECD ได้สอบถามนักเรียนอายุ 15 ปีของญี่ปุ่นว่าใช้เวลากับอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างการเรียนหนังสือที่ห้องเรียนตลอดทั้งสัปดาห์มากน้อยเพียงใด พบว่า 89% ไม่เคยใช้หรือแทบจะไม่ได้ใช้เลย โดยเฉพาะในชั้นเรียนที่น่าจะต้องนำมาใช้อย่างวิชาคณิตศาสตร์ ขณะที่อีก 75.9% ตอบไม่เคยใช้หรือแทบจะไม่ได้ใช้เลยในชั้นเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และมีนักเรียนญี่ปุ่นเพียง 3% เท่านั้นที่ยอมรับว่าใช้คอมพิวเตอร์ทำการบ้าน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบรรดาชาติสมาชิก OECD ซึ่งอยู่ที่ 20%

ศาสตราจารย์ Ishido Nanako มหาวิทยาลัย Keio ของญี่ปุ่น ที่มาภาพ : NHK WORLD – JAPAN

ศาสตราจารย์ Ishido กล่าวว่า การปิดโรงเรียนทั่วประเทศของญี่ปุ่น ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการ ICT ที่มีต่อการศึกษา ทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน แน่นอนว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาของญี่ปุ่นย่อมไม่ต้องการที่จะทำให้ช่องว่างทางการศึกษาที่มีอยู่อย่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตขยายวงกว้างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฎิเสธแนวทางเทคโนโลยีต่างๆ หรืออยู่นิ่งเฉยโดยไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ ดังนั้น แทนที่จะโอดครวญหรือมั่วแต่กังวล โรงเรียนควรจะพยายามหาทางจัดการแก้ไข เช่นเดียวกับภาครัฐเองที่จะต้องยกระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในแวดวงการศึกษาของประเทศ 

แม้จะก่อให้เกิดอุปสรรคติดขัดที่ยากลำบากหลายประเทศ กระนั้น ศาสตราจารย์ Ishido กลับเชื่อมั่นว่า การระบาดของโรค COVID-19 จะเป็นชนวนที่จุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามที่ตนเรียกร้องมานาน 

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาด รัฐบาลญี่ปุ่นได้เร่งดำเนินการปฎิรูปสถาบันและหน่วยงานด้านการศึกษาต่างๆ รวมถึงการเร่งลงมือทำตามแผนการที่วางไว้ หนึ่งในนั้น รวมถึงการแจกจ่ายแท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศภายในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า 

“โรงเรียนอาจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องกลับไปเป็นเหมือนเดิม แนวทางเดิมๆ สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันอาจเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ดังนั้น จึงถึงเวลาที่เราต้องค้นหาหนทางที่จะสร้างระบบการศึกษาใหม่ หรือ การศึกษาแบบผสมผสาน (hybrid learning) ที่รวมเอาระเบียบแบบแผนการเรียนแบบดั้งเดิมเข้าไว้กับการเรียนแบบดิจิทัล เพือที่จะสร้างประตูแห่งโอกาสให้แก่เด็กนักเรียนของญี่ปุ่นให้มากที่สุด” ศาสตราจาร์ย Ishido กล่าว 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของญี่ปุ่นรายนี้ ทิ้งท้ายว่า แทนที่จะให้นักเรียนกลับไปเป็นเด็กที่ต้องนั่งนิ่งเรียบร้อยหน้ากระดานดำ การระบาดของ COVID-19 ได้กลายเป็นตัวบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องหันมาคิดพิจารณาทบทวนอย่างจริงจังว่าสมควรจะต้องสอนเด็กอย่างไร ให้สอคล้องกับโลกและสภาพสังคมในปัจจุบันและอนาคต 

 

ที่มา : Coronavirus crisis shows Japan lagging in online education