เราทำงานกับทุกภาคส่วน สร้างการตระหนักรู้ให้กับสังคมว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือกันให้โอกาสกับเด็กด้อยโอกาส เพราะกลุ่มนี้ ถ้าเราช่วยกัน คือความมั่นคงของประเทศ
ตลอดสองปีที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคธุรกิจเอกชน มูลนิธิ เครือข่ายภาคประชาสังคม ให้การบริจาคในรูปของเงินและสิ่งของ เพื่อต่อเติมโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค
คลื่นความร่วมมือที่ไหลบ่ามาสู่ กสศ.อย่างต่อเนื่อง นับเป็นปรากฎการณ์มีนัยยะสำคัญ “รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ได้ให้มุมมอง “คลื่นความร่วมมือ” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยล่าสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้เข้าร่วมในพิธีมอบทุนการศึกษา “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ให้น้องได้เรียน” ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
“เราได้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับกสศ. ในการใช้เครื่องมือ iSEE สืบค้นข้อมูลกลุ่มเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ช่วยกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา”
นี่อาจเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง เพราะตลอดสองปีที่ผ่านมา กสศ. ยังได้สร้างเครือข่ายกับองค์กรภาคสังคมทั้งในและต่างประเทศ
“ตอนนี้สร้างเครือข่ายกับต่างประเทศเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาจไม่ใช่การสร้างการมีส่วนร่วมในแง่ของตัวเงิน แต่เป็นการร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี เรื่ององค์ความรู้ อย่างการประชุมวิชาการนานาชาติที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 20-30 ประเทศเข้าร่วม และมีองค์กรช่วยเหลือเด็กยากจนในระดับโลกหลายองค์กร เป็นการสร้างความร่วมมือเครือข่ายระหว่างประเทศ และกสศ. ได้รับการยกย่องจากองค์การยูนิเซฟว่า การทำงานตลอดสองปีมีผลงานปรากฎชัดเจน และกระตุ้นสังคมให้เกิดความไว้วางใจ”
รศ.ดร.ดารณี ขยายความ “การให้ความไว้วางใจกสศ.” ว่า ถ้าใครต้องการสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ การบริจาคมาที่กสศ. กสศ.ได้สร้างความมั่นใจได้ว่าเงินไปถึงเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราคัดกรองด้วยระบบ iSEE ที่ชัดเจน โดยครูไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียน พร้อมกับถ่ายรูป และมีชุมชนให้ความร่วมมือ
“เราทำงานกับทุกภาคส่วน สร้างการตระหนักรู้ให้กับสังคมว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือกันให้โอกาสกับเด็กด้อยโอกาส เพราะกลุ่มนี้ ถ้าเราช่วยกัน คือความมั่นคงของประเทศ” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม ยกตัวอย่างเมื่อครั้ง กสศ. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ของเด็กในพื้นที่จังหวัดภาคใต้
“ครอบครัวหนึ่งมีบุตรสองคน ลูกคนโตพิการ เขาเคยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันแห่งหนึ่งแต่ไม่ได้ทุกปี ซึ่งปีที่ไม่ได้ แม่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน ปล่อยให้น้องชายที่เรียนหนังสือมาดูแลพี่สาวเพราะไม่มีคนดูแล พอเราลงไปสอบถามคุณแม่เขาเย็บจักร แต่จักรเย็บผ้าหายไปในช่วงน้ำท่วมใหญ่”
“เราจึงถามว่า ถ้าเราซื้อจักรให้ มีผู้บริจาคจักรเย็บผ้าไปให้ แม่ไม่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน แม่ก็ได้อยู่บ้านดูแลลูกที่พิการ ขณะที่ลูกชายอีกคนก็ได้ไปเรียน ฉะนั้นระบบความยากจนไม่ใช่เงินตัวเดียว แต่เราอยากสร้างเครือข่าย จิตสำนึกให้สังคม เหมือนที่นายกฯ พูดว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือถ้าคนรวยเดินหน้าไปเรื่อยไม่หันกลับมาสนใจคนข้างหลัง สังคมก็อยู่ไม่ได้” รศ.ดร.ดารณี กล่าว
กสศ. ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการระดมทุน แต่สิ่งสำคัญคือสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมว่าทุกคนจะต้องต้องช่วยเหลือกันเข้าไปดูแลเด็กด้อยโอกาส ได้รับโอกาสทางการศึกษา ที่เป็นโอกาสดีที่สุดในชีวิตของคนคนหนึ่งจะเติบโต สร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ประเทศชาติ