สำรวจโมเดล “มื้ออาหารฟรี” จากโรงเรียน 3 ประเทศชั้นนำ

สำรวจโมเดล “มื้ออาหารฟรี” จากโรงเรียน 3 ประเทศชั้นนำ

หลายโรงเรียนทั่วโลกมีรูปแบบการให้อาหารฟรีสำหรับผู้เรียนแตกต่างกันออกไป ส่วนมากแล้วมักจะเป็นมื้อเที่ยง แต่หลายประเทศก็เริ่มปรับมาครอบคลุมถึงมื้อเช้าด้วยเช่นกัน เพราะการเริ่มต้นวันด้วยอาหารที่ดีนั้น จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ของสุขภาพร่างกายและส่งเสริมความพร้อมต่อการเรียนรู้ในระยะยาว

โปรแกรมอาหารฟรีที่โรงเรียนนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ยากจน หรือเด็กที่ครอบครัวมีรายได้น้อย มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการที่โรงเรียนมีมื้ออาหารฟรีนั้นเป็นการลดความไม่มั่นคงทางอาหาร ลดอัตราการเกิดภาวะทุพโภชนาการ เเละโรคต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย

กสศ. พาไปสำรวจโมเดลมื้ออาหารฟรีในโรงเรียนต่างๆ จาก 3 ประเทศชั้นนำ

 

ฟินเเลนด์

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 ในช่วงปี 1948 ฟินเเลนด์ได้พัฒนานวัตกรรมทางสังคมที่เรียกว่า “มื้ออาหารฟรีที่โรงเรียน (free school meals)” สำหรับโรงเรียนประถมและมัธยมจะต้องมีมื้ออาหารฟรีให้กับผู้เรียนทุกคน อายุตั้งแต่ 6-16 ปี  ฟินเเลนด์ยังถือเป็นประเทศแรกที่มีอาหารฟรีให้กับนักเรียน ยาวนานกว่า 70 ปีที่ระบบอาหารฟรีนี้ประสบความสำเร็จในการใช้มื้ออาหารเข้ามาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการศึกษาและช่วยเรื่องการเรียนรู้ จนฟินแลนด์เองกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอาหารระดับโลก

ที่มาภาพ : Opetushallitus Utbildningsstyrelsen

ท่ามกลางความท้าทายระดับโลกในด้านการผลิตอาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในมิติสิ่งแวดล้อมและประเด็นทางจริยธรรม ความรู้เรื่องอาหารในฟินแลนด์นั้นบูรณาการไปยังแผนการเรียนรู้ที่เริ่มตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก เด็กในโรงเรียนจะได้เรียนรู้หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารของประเทศและการศึกษาด้านอาหาร มื้ออาหารในโรงเรียนจะถูกนำมาเป็นวิชาการสอนในหลักสูตร ทุกโรงเรียนจะมีแผนปฏิบัติการสำหรับการให้ความรู้เกี่ยวกับอาหาร สุขภาพ โภชนาการ และพฤติกรรมการกิน

รัฐบาลฟินแลนด์ทราบดีว่าการมีอาหารมื้ออิ่มที่ประโยชน์ครบถ้วนนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ในแต่ละวัน ดังนั้นแล้ว มื้ออาหารที่โรงเรียนจึงเป็นมากกว่าข้าวแต่ละจาน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดี ความเท่าเทียม  เรื่องของสุขภาพและโภชนาการ การป้องกันทางสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านเกษตรกรรม 

 

ญี่ปุ่น

สำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมในญี่ปุ่น โรงเรียนจะไม่อนุญาตให้นักเรียนนำอาหารเที่ยงมาจากที่บ้าน เพราะว่านักเรียนทุกคนจะต้องรับประทานอาหารมื้อเที่ยงร่วมกันที่โรงเรียน ซึ่งเป็นมื้ออาหารที่กำหนดแต่ละเมนูโดยนักโภชนาการ ประโยชน์จากแต่ละมื้อนั้นไม่ได้เป็นเพียงเพื่อความอิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารและคุณประโยชน์ มื้ออาหารเที่ยงในลักษณะนี้ มีคำภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า shokuiku ให้ความหมายว่า “ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ”

เป้าหมายของมื้ออาหารเที่ยงนี้เป็นไปเพื่อการสอนให้เด็กๆ ได้เข้าใจถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพตั้งแต่ยังเล็ก ช่วยให้เข้าใจถึงความสำคัญของอาหารที่มีประโยชน์ และช่วยกำหนดพลังงานแคลเลอรี่ที่ควรได้รับต่อวันให้เด็กๆ ได้กินอย่างเหมาะสม 

คำว่า shokuiku นี้จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่กิน และคุณค่าประโยชน์ทางอาหารแบบไหนที่ดีต่อสุขภาพ บางโรงเรียนจึงมีการประกาศรายละเอียดของมื้ออาหารเที่ยง ทั้งวัตถุดิบและคุณค่าของแต่ละเมนู เด็กชั้นประถมบางชั้นเรียนจะมีการเล่นเกมจับคู่ภาพเข้ากับหมวดหมู่ของสารอาหาร อย่างเช่น ข้าวกับคาร์โบไฮเดรต เนื้อสัตว์กับโปรตีน เป็นต้น

 

สหราชอาณาจักร

รู้หรือไม่ว่าในสหราชอาณาจักร มีเด็กกว่า 1.8 ล้านคนที่มีความเสี่ยงว่าต้องอดมื้อเช้าก่อนไปโรงเรียน การที่ท้องไม่อิ่มนั้นทำให้ไม่อาจมีสมาธิตั้งใจเรียนในห้องและไม่อาจมีพลังงานเพียงพอต่อการเรียนรู้ตลอดวัน ขอยกตัวอย่างโครงการอาหารเช้าอย่าง Magic Breakfast โครงการที่มุ่งมั่นมอบอาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพนักเรียนโดยการทำงานร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ออกแบบเมนูอาหารในแต่ละวันที่แน่ใจได้ว่าสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน เเละเเร่ธาตุต่างๆ คัดสรรวัตถุดิบเน้นที่น้ำตาล-เกลือ-ไขมันน้อย โดยโรงเรียนที่สนใจสามารถส่งใบสมัครมายังโปรแกรมเพื่อเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนอาหารเช้าให้กับเด็กๆ ได้

โดยมื้ออาหารเช้านั้นมีตั้งแต่โจ๊ก ซีเรียล เบเกิลสูตรพิเศษจากแบรนด์ Bagel Nash ที่ใช้ธัญพืชเป็นส่วนประกอบสำคัญ ไม่มีสารกันบูด การตกแต่งกลิ่นหรือสี ไขมันต่ำ เต็มไปด้วยใยอาหารและวิตามินดี รวมถึงน้ำส้มแท้จากแบรนด์ Tropicana สำหรับโรงเรียนบางแห่งที่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับนมและขนมปังอยู่เเล้ว ทางโปรแกรมนี้จะมอบคู่มือแนะนำจำนวนการบริโภคที่เหมาะสมตามช่วงอายุของเด็กแต่ละชั้นวัย 

 

ที่มา :