“โครงงานฐานวิจัย” สร้างความเสมอภาคในห้องเรียน ไม่ทิ้งใครไว้หลังห้อง

“โครงงานฐานวิจัย” สร้างความเสมอภาคในห้องเรียน ไม่ทิ้งใครไว้หลังห้อง

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่เมืองหรือพื้นที่ชนบทห่างไกล แต่เกิดขึ้นได้แม้ในโรงเรียนเดียวกันหรือแม้กระทั่งภายในห้องเรียนเดียวกัน หากคุณครูปล่อยปละไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม

ที่ผ่านมาครูจำนวนไม่น้อยเลือกที่เอาใจใส่นักเรียนที่ตั้งใจเรียน แต่ละเลยไม่สนใจที่จะเด็กดื้อ เด็กเกเรไว้ ปล่อยให้กลายเป็น “เด็กหลังห้อง” ทั้งที่หลายคนมีศักยภาพที่จะถูกหล่อหลอมให้กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคม

การสร้างความเสมอภาคในห้องเรียน คุณครูจะต้องสอดส่องเอาใจใส่และรู้ว่าการเรียนการสอนแบบใดที่เหมาะกับนักเรียนคนไหน เพราะนักเรียนแต่ละคนไม่สามารถใช้วิธีสอนแบบเดียวกันได้ทั้งหมด

ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนการสอนแบบเน้น “ท่องจำ​” ที่นอกจากจะน่าเบื่อจนเป็นไม้เบื้อไม้เมากับนักเรียนแล้ว ยังบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงวิเคราะห์ และตีกรอบจินตนาการ ไปจนถึงการทำลายความสามารถในการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยใคร่รู้

 

จากเด็กที่ไม่มีใครอยากได้
จนปัจจุบันเพื่อนต้องแย่งตัวเอาเข้ากลุ่ม

หนี่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในห้องเรียน “โครงงานฐานวิจัย” ของโรงเรียนบ้านปากบาง จ.สตูล ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กหลังห้องคนหนี่งในก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำชั้นเรียนที่เพื่อนๆ ให้การยอมรับ

​จากเดิมที่น้องมูฮัมหมัด นักเรียนชั้น ป.5 เคยถูกมองว่า เป็นเด็กเกเร ชอบแกล้งเพื่อน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ส่งการบ้าน ไม่ส่งงานตามที่ได้รับมอบหมาย จนทำให้เพื่อนๆ ไม่ยอมรับ หลายครั้งก็ไม่มีใครอยากให้เข้ามาร่วมทำงานกลุ่มด้วยกัน  แต่ทุกวันนี้น้องมูฮัมหมัดกลายเป็นผู้นำที่พาเพื่อนๆ ทำงาน ​และหลายคนพยายามชวนเขาเข้ากลุ่ม

ด้วยการเรียนการสอนแบบ “โครงงานฐานวิจัย” ที่เน้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สนับสนุนให้เด็กได้รู้จักคิดตั้งคำถาม และหาคำตอบ ทำให้น้องมูฮัมหมัด กลับมาสนใจการเรียนอีกครั้งและทำได้ดี ทั้งการทดลอง การลงมือปฏิบัติเพื่อหาคำตอบ ไปจนถึงการกล้าคิด กล้าตอบคำถาม

 

คำถาม สู่ การทดลอง
และ คำตอบที่ไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว

โครงงานฐานวิจัยของนักเรียนชั้นป.5 โรงเรียนบ้านปากบาง เน้นให้นักเรียน “ตั้งคำถาม” และ มีการ “ทดลอง” เพื่อให้ได้ “คำตอบ” ซึ่งคำตอบที่ได้อาจออกมาเป็นคำตอบหลายชุด และไม่มีคำตอบใด เป็นคำตอบที่ผิด 

ในการเรียนโครงงานฐานแต่ละครั้ง จะเริ่มจาก “จินตปัญญา” ผนวกกับ เรื่องของคุณธรรม ผ่านเรื่องเล่า ละคร และบทเพลง ให้นักเรียนได้ถอดบทเรียนว่าสิ่งที่ได้ฟัง และได้ดู สอดคล้องกับคุณธรรมในเรื่องใด และในบางครั้งยังให้นักเรียนได้ฝึกการนั่งสมาธิ 

นอกจากนี้ยังมีทำ “Brain gym” หรือทำกิจกรรมบริหารสมอง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการของหลักคิด โดยอยู่ในรูปแบบของ สะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM Education)  เพื่อให้เด็กสามารถบูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆ เข้าด้วยกันได้ ผ่านการทดลองโครงงานต่างๆ 

 

กระบวนการตั้งคำถามช่วยดึงศักยภาพเด็ก

ครู “วรรณิศา สามารถ” ครูประจำชั้นของน้องมูฮัมหมัดในชั้นป.5  เล่าให้ฟังว่า เทคนิคเริ่มแรกของครู คือการตั้งคำถามให้เด็กได้ลองตอบก่อน จากนั้นฝึกให้ตั้งคำถามในสิ่งที่อยากถาม 

“ในการออกสำรวจพื้นที่เราต้องไปหาภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ตอนพาไปดูการทำผ้าบาติกสีย้อมธรรมชาติ ถามนักเรียนว่าส่วนใหญ่แล้วที่นักเรียนเคยเห็นการทำผ้าบาติกเขาใช้อะไรบ้างในการทำ เด็กๆ ก็จะตอบว่าใช้ผ้า ใช้สี พอเด็กเห็นว่าสีที่ใช้เป็นสีสังเคราะห์เขาก็จะถามว่า ใช้สีจากธรรมชาติได้ไหม เช่น อัญชัน ขมิ้น ที่บ้านมาย้อมได้หรือไม่ ต่อมาเราก็พาไปดูกรรมวิธีการผลิตสีจากธรรมชาติ เช่น สีจากดิน จากเปลือกไม้ เด็กก็เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมต้องนำไปต้มก่อน  ต้องต้มนานไหม เขาสงสัยอะไรเขาก็ถามออกมา” ครูวรรณิศา เล่าถึงประสบการณ์ที่นำเด็กออกไปดูการทำผ้าบาติกของชุมชนในพื้นที่

เห็นได้ว่ากระบวนการตั้งคำถามของเด็กจะช่วยดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้ เพราะอย่างน้อย ถ้าเด็กมีคำถาม แสดงว่าเด็กอยากรู้ และมีความสนใจด้านไหน มีศักยภาพด้านใด

 

ไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง
ต้องค้นหาศักยภาพของเด็กแต่ละคน ​

จากนั้นจะเป็นการให้นักเรียนได้ถอดบทเรียนหลังการทดลอง (After Action Review: AAR) โดยให้นักเรียนได้แสดงความคิดกันว่านักเรียนได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ให้เด็กได้ฝึกเล่าให้เพื่อนฟังถึงกระบวนการตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

กระบวนการคิดของเด็กนี้ เกิดประโยชน์กับการเรียนวิชาอื่นๆ ด้วย ถ้าหากนักเรียนคนใดไม่เข้าใจในเนื้อหาการสอนของครู เด็กก็จะกล้าตั้งคำถาม จนเข้าใจถึงบทเรียนนั้น จากเดิมที่ถ้าไม่เข้าใจก็จะปล่อยให้ผ่านเลยไป ไม่กล้าถาม 

ครูประจำชั้นของด.ช.มูฮัมหมัด มองว่า สูตรนี้ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะครูได้เห็นศักยภาพของเด็ก ดึงเด็กทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม ทำกิจกรรม เช่นเดียวกับกรณีของมูฮัมหมัด ที่ในอดีตเป็นเด็กอยู่หลังห้อง เป็นเด็กที่ถูกเพื่อนลืม แต่วันนี้พอทำงานกลุ่ม ทุกคนกลับเรียกร้องให้มูฮัมหมัดมาร่วมกลุ่มด้วย เพราะมูฮัมหมัดมีบทบาทในการเป็นผู้นำแสดงความเห็น และมีศักยภาพในการลงมือปฏิบัติโครงงานทดลองต่างๆ

 

เด็กแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน

“หลักสูตรนี้ยังได้สะท้อนว่าเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน เด็กบางคนเก่งวิชาการ แต่เด็กที่ไม่เก่งวิชาการบางคนก็จะมีศักยภาพมีประสบการณ์ในสิ่งที่เด็กเก่งวิชาการไม่ถนัด อย่างมูฮัมหมัดในวันนี้ ครูเห็นแววตาของเขา เขาเรียนอย่างมีความสุขกับการที่ได้คิดริเริ่มด้วยตัวของเขาเอง เขาอยู่กับเพื่อนๆ ได้ เป็นที่ยอมรับของเพื่อน”

อีกส่วนสำคัญที่คุณครูจะต้องทำ คือการลงสังเกตใกล้ชิดกับลูกศิษย์ ซึ่งเดิมครูวรรณิศา เชื่อว่า  ส่วนหนึ่งที่มูฮัมหมัด ชอบแกล้งเพื่อน และไม่สนใจการเรียนมาจากเรื่องความอบอุ่นในครอบครัวที่ต้องอยู่กับตาเพียงสองคน บางครั้งเมื่อคุณตาต้องออกไปทำงานมูฮัมหมัดก็ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง

 

เปลี่ยนบทลงโทษเป็นการทำความเข้าใจ
เพิ่มความรักเติมความอบอุ่น

เมื่อทราบที่มาที่ไปก็ ทำให้ครูประจำชั้นได้เปลี่ยนวิธีการ จากการลงโทษ เป็นพูดคุย ทำความเข้าใจ ให้ความรักความอบอุ่นกับมูฮัมหมัด ขณะเดียวกันได้พูดคุยกับเพื่อนในชั้นเรียนให้ “เปิดใจ” รับมูฮัมหมัดร่วมในกลุ่มทำงาน 

แม้วันนี้มูฮัมหมัดจะจบชั้นป.5 และเรียนอยู่ในชั้นป.6 ซึ่งถือว่าพ้นจากอ้อมอกครูวรรณิศาไปแล้ว แต่ครูคนนี้ยังคงเฝ้ามองผลผลิตของเธออย่างใกล้ชิด ซึ่งมูฮัมหมัดก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังกับพัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัมพันธภาพกับเพื่อน รวมไปถึงการเล่าเรียนในวิชาหลัก ที่มีสมาธิ การมีความรับผิดชอบมากขึ้น อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าหลักคิดและกระบวนการคิดที่ถูกปลูกฝังจากโครงงานฐานวิจัยได้ติดตัว “มูฮัมหมัด” ไปแล้ว

นั่นหมายความว่าไม่ว่าในอนาคตต่อไปมูฮำหมัดจะเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา หรือเลือกที่จะไปประกอบอาชีพ เด็กชายคนนี้ก็ยังจะสามารถดูแลตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้คือความภาคภูมิใจและความสุขของคนเป็นครู

ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนี่งตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)  ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดกลาง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 733 โรงเรียนใน 42 จังหวัด