แปลและเรียบเรียง: นงลักษณ์ อัจนปัญญา
องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มอบรางวัลสุดยอดประเทศที่ส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กหญิงและสตรีดีเด่นประจำปี 2020 ให้แก่ศรีลังกาและเคนยา ซึ่งคิดค้นโปรเจ็กต์ส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีและเพิ่มอัตราการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในหมู่เด็กพื้นที่ห่างไกล
เว็บไซต์ของ UNESCO ระบุว่า รางวัล Girl’s and Women’s Education ในปีนี้จะมอบให้แก่ทั้งสองประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของเด็กหญิงและสตรีในประเทศจากโครงการที่ช่วยให้ผู้หญิงทั้งหลายได้เข้าถึงและมีส่วนร่วมในระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น
โดยในศรีลังกา รางวัลที่ได้รับเป็นผลมาจาการโครงการ NextGen Girls in Technology ซึ่งเป็นโครงการหลักสูตรเสริมพิเศษที่มุ่งช่วยเหลือให้เด็กหญิงในโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยได้ยกระดับขีดความสามารถของคนในการคิดวิเคราะห์ ประเมินประมวลเหตุผล และทักษะความคิดสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการข้างต้นภายใต้การริเริ่มและบริหารจัดการของมูลนิธิ Shilpa Sayura Foundation ในศรีลังกา ได้เข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรมทางออนไลน์และคอร์สเรียนต่างๆ เพื่อฝึกฝนทักษะทางเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนหญิงจำนวน 1,051 คน และครูโรงเรียนอีก 506 คน ซึ่งทักษะทางเทคโนโลยีครอบคลุมตั้งแต่ การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรกล เครื่องยนต์กลไก ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และการออกแบบต่างๆ
บทเรียนและประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่เด็กหญิงเหล่านี้ได้รับถือเป็นก้าวแรกในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาเพื่อสร้างฐานอาชีพของตนเองต่อไปในอนาคต
ในส่วนของ เคนยา โครงการที่ได้รับรางวัลก็คือโครงการ Our Right to Learn – Reaching the Unreached โดย Girl Child Network (เครือข่ายเด็กหญิง) แห่ง เคนยา ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะเด็กหญิง ได้เข้าเรียนหนังสือระดับประถมศึกษาที่มีคุณภาพ โดยก่อนหน้านี้ เด็กหญิงส่วนใหญ๋ในพื้นที่ยากจนห่างไกลของเคนยา มักเป็นกลุ่มที่ถูกห้ามหรือกีดกันไม่ให้เรียนหนังสือ
สำหรับ โครงการ Our Right to Learn – Reaching the Unreached จะรับผิดชอบทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่เด็กๆ ในการเข้าถึงการศึกษาของตนเอง ทั้งในแง่ของอุปกรณ์การศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียน และในแง่เชิงสังคม เช่น การพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนในการส่งเสริมให้เด็กเรียนหนังสือ หรือการเป็นธุระจัดการเรื่องการเคลื่อนย้ายเดินทางภายใต้การร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2012 ที่เริ่มจัดทำโครงการดังกล่าว โครงการได้เข้าถึงเด็กๆ ในเคนยาแล้ว 51,936 คน ในโรงเรียนประถม 240 แห่งท่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นเด็กหญิง 25,937 คน
UNESCO เปิดเผยว่า ประเทศที่ได้รางวัลจะได้รับเงินรางวัลรายละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,565,500) เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนโครงการเพื่อการศึกษาแก่เด็กหญิงและสตรีต่อไป
สำหรับรางวัล Girls’ and Womens’ Education Award ก่อตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารของ UNESCO ในปี 2015 ภายใต้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นานาประเทศตระหนักและเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาของเด็กหญิงและสตรีทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 ของ องค์การสหประชาชาติ (UN)
ปัจจุบัน มีประเทศที่ได้รับรางวัลดังกล่าวแล้ว 8 โครงการจากทุกภูมิภาคของโลก ประกอบด้วย
- 2016
– Directorate of Early Childhood Education Development : อินโดนีเซีย
– Female Students Network Trust : ซิมบับเว - 2017
– The Development and Education Programme for Daughters and Communities Center in the Greater Mekong Sub-Region (DEPDC/GMS) : ไทย
– The Mini Academy of Science and Technology (MaCTec) – เปรู - 2018
– Misr El Kheir Foundation : อียิปต์
– Women’s Centre of Jamaica Foundation : จาไมกา - 2019
– Sulá Batsú : คอสตาริกา
– Department of Education, Government of Navarre : สเปน
ที่มา : Sri Lanka and Kenya laureates to receive 2020 UNESCO Prize for Girls’ and Women’s Education