จากการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่เกาะเกี่ยวกับทฤษฎีในหนังสือ ‘ครูเพื่อศิษย์’ นำมาสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์ในชุมชนครูเพื่อศิษย์ จนเกิดเวที Online PLC Coaching ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยครูจากทั่วประเทศ
โดยในครั้งแรกนี้มีคณะครูจากโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจล (พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา) และเครือข่ายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมทั้งหมด 16 โรงเรียน ร่วมด้วยผู้อำนวยการและครูโรงเรียนต้นแบบอีก 6 โรงเรียน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ซึ่งมาร่วมกันรับฟังเรื่องเล่าจากบทเรียน ‘หน่วยบ้านนอก’ ของน้องๆ ชั้น ป.4 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบโครงการครูเพื่อศิษย์
ครูสิริมา โพธิ์จักร หรือ ‘ครูยิ้ม’ ครูประจำชั้น ป.4 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้เริ่มต้นเล่ากระบวนการเรียนการสอนที่จะนำมาแบ่งปันในฐานะต้นเรื่องครั้งนี้ ว่าทางโรงเรียนได้ออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นปัญหาเป็นฐาน ผ่านการบูรณาการ PBL (Problem-based Learning) เชื่อมโยงปัญหากับชีวิตจริง กำหนดวัตถุประสงค์ว่าผู้เรียนควรทำอะไร ได้อะไร แสดงออกอย่างไร ระบุความรู้ความสามารถและทักษะที่จะเกิดขึ้น และคุณลักษณะที่นักเรียนต้องได้
นอกจากนี้ยังได้สร้างทักษะศตวรรษที่ 21 เช่น ความคิดเชิงนวัตกรรม ชวนนักเรียนออกแบบเครื่องมือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งจะสร้างคุณลักษณะภายใน อีกทั้งการเรียนรู้แบบ PBL จะช่วยกระตุ้นความกระหายใคร่รู้ ด้วยกิจกรรมแบบ Active Learning ที่มีการกำหนดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้ฝึกรับผิดชอบตนเองและกลุ่มจนงานสำเร็จ
สำหรับการเรียนรู้ใน ‘หน่วยบ้านนอก’ เป็นหน่วยที่มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนเข้าใจและเห็นคุณค่าของชีวิตชนบท สามารถออกแบบจำลองชีวิต และถ่ายทอดคุณค่าของชนบทได้อย่างสร้างสรรค์
โดย หน่วยบ้านนอก ได้วางแผนออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเวลา 10 สัปดาห์ เริ่มจากสัปดาห์แรกให้นักเรียนเลือกหน่วยและออกแบบการเรียนรู้ ถึงสัปดาห์ที่สองลงมือปลูกผักแล้วดูแลให้รอดและงอกงาม หลังจากนั้นเป็นการลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ทำเตาเผาถ่าน ทอเสื่อจากเส้นใยธรรมชาติ ทำของเล่นพื้นบ้าน ออกแบบเครื่องมือดักสัตว์ ทดลองใช้ชีวิตตามวิถีชนบทในค่าย 2 วัน 1 คืน จากนั้นจึงไปสู่กระบวนการทำความเข้าใจและถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสู่ผู้อื่น และร่วมบอกเล่าแบ่งปันสิ่งที่ทำ รวมถึงนำเสนอความงอกงามและออกแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจในสิ่งที่ทำ
หลังจากผ่านกิจกรรมทั้ง 10 สัปดาห์ ผลที่ออกมาพบว่าเด็กๆ สามารถเกิดกระบวนการคิด ตกผลึกเกี่ยวกับวิธีเรียนของตนรวมถึงอภิปรายความคิด การตัดสินใจ และลงมือดำเนินการ โดยมีความคิดเกี่ยวกับความผิดพลาดและการแก้ปัญหาทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ คือเด็กๆ จัดการตนเองได้ มีการสื่อสารที่ดี เข้าใจการทำงานเป็นทีม ได้พัฒนาความคิดขั้นสูง เพื่อเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
หลังครูยิ้มอธิบายกระบวนการเรียนรู้หน่วยบ้านนอกเสร็จสิ้น ได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยน และเติมเต็มการเรียนรู้จากคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเวทีเสวนา โดยมีความเห็นที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ คณะครูจากโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่กล่าวว่าประทับใจที่ครูให้พื้นที่เด็กได้เลือกประเด็นด้วยตัวเอง ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ โดยครูเห็นตั้งแต่ต้นว่าจัดการเรียนแต่ละอย่าง เพื่อต้องการให้เด็กมีสมรรถนะอะไร แล้วการที่เด็กได้ตั้งเป้าหมายทำให้เขาสามารถลงมือทำ จนบรรลุผลได้ด้วยตนเอง ได้เห็นคุณค่าของการแก้ปัญหาและแบ่งปันความรู้ รวมถึงยังได้ทบทวนเป้าหมายของตัวเองที่ตั้งไว้ด้วย
ทางด้าน ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบ้านปลาดาว ได้เสนอแนะเพิ่มเติมให้มีการ check-in อารมณ์ของเด็กมากขึ้น เช่น โฟกัสเรื่องที่เด็กรู้สึกอย่างไร นอกจากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ส่วนในด้านการบันทึกการเรียนรู้ของเด็กลักษณะที่ครูยิ้มได้ทำ นับว่ามีประโยชน์มากในช่วงที่แต่ละโรงเรียนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเรียนฐานสมรรถนะ ว่าครูจะบันทึกการเรียนรู้อย่างไรที่จะไม่เพิ่มภาระให้เด็ก แต่ในขณะเดียวกันต้องบ่งบอกได้ว่าเด็กได้เรียนรู้อะไร ซึ่งเวที PLC นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการที่ครูจะได้มาแลกเปลี่ยนเครื่องมือระหว่างกัน
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กสศ. และในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวเสริมว่า ในกระบวนการเรียนรู้ สำคัญมากว่าครูจะตั้งคําถามอย่างไร เพื่อวัดการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละระดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรนําตัวอย่างมาแลกเปลี่ยนกันในวง PLC แล้วครูต้องคำนึงด้วยว่า ทำอย่างไรให้เด็กได้รับสิ่งที่ดีอย่างครบถ้วนทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่น่าสนุกสำหรับครู และครูควรจะมีการตอบสนองอย่างไรต่อเด็กแต่ละคน เช่น เด็กที่มีความมั่นใจมากกับเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ครูจะชวนคุยต่ออย่างไร รวมถึงสิ่งที่ครูควรจะชี้ให้เด็กเห็นว่า ผลงานที่ดีแล้วจะทำให้ดีขึ้นไปอีกได้อย่างไร ทั้งหมดนี้เพื่อให้เด็กมี growth mindset และเกิดการพัฒนาต่อ
รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เสนอว่า ชื่อ ‘หน่วยบ้านนอก’ เป็นการให้ความรู้สึกเชิงบวก สร้างคุณค่า (value) ของความเป็นธรรมชาติ และความเป็นท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักนอบน้อม ถ่อมตน และมองว่าตนเองเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของธรรมชาติ หรือสังคมที่กว้างใหญ่ อีกส่วนหนึ่งคือ การทำโครงงานที่ดีอยู่ประมาณ 8 สัปดาห์หรือ 2 เดือน ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง หมายถึง แบ่งเวลา 24 ชั่วโมงและระหว่างชั่วโมงไม่ควรห่างเกิน 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมงจะไม่ทำให้ความสนใจของเด็กหายไป
ในส่วนของการสรุปผลการประชุมออนไลน์ PLC ครั้งที่ 1 มีสิ่งที่ครูผู้ร่วมเวทีเห็นโอกาสในการนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตนว่า จะต้องสร้างหน่วยการเรียนรู้ให้เข้ากับบริบท ทรัพยากร และพื้นที่ของโรงเรียน รวมถึงสิ่งสำคัญรอบตัวเด็ก ต้องพาเด็กเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมาย ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับครู และสร้างกระบวนการให้เด็กได้คิดเอง แก้ปัญหาเอง หาคําตอบด้วยตัวเอง โดยที่ครูไม่ชี้นํา แล้วถ้าครูทราบพื้นฐานความรู้ บริบทของเด็ก จะยิ่งสามารถเชื่อมโยงการสอนและพาเด็กเรียนรู้ได้ลึกมากขึ้น
ท้ายสุดคือ การตั้งคําถามที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างมากจากครู ดังนั้นครูควรแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ต้องวิเคราะห์คําถามอย่างละเอียด เพื่อช่วยให้เด็กเห็นความเชื่อมโยง แล้วหากครูบอกเป้าหมายกับผู้เรียนด้วย การเรียนรู้ก็จะชัดยิ่งขึ้น