“ทุนนวัตกรรมอาชีพชั้นสูง รุ่น 2 ไม่ใช่เงินเรียนฟรี แต่คือโอกาสพลิกชีวิตตัวเอง ให้ดีขึ้น เปลี่ยนภาระเป็นพลัง จากคนที่เคยต้องพึ่งพาคนรอบข้างมาเป็นคนที่มีพลังชีวิตก้าวข้ามความด้อยโอกาสทางการศึกษาจนสามารถพึ่งตัวเองได้” เป็นคำกล่าวของ “มงคล จินาวรณ์” หรือ “อาจารย์กี้” ซี่งกล่าวปลุกพลังเยาวชนนักศึกษาทุนนวัตกรรมอาชีพชั้นสูง รุ่น 2 ระหว่างเป็นวิทยากรดำเนินกิจกรรมในโครงการ “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2563” เมื่อวันที่ 7 – 8 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรมเซนทรา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท จ.ชลบุรี
“อาจารย์กี้” เป็นคุณครูขวัญใจน้องๆ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี ด้วยความเคารพนับถือและชื่นชมในฐานะครูผู้สอนวิชาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ต้องนั่งรถเข็นเป็นยานพาหนะแทนขาสองข้าง แต่ใจสู้ไม่อาย กล้านำความรู้ความสามารถสมัครเข้ามาเป็นครูสอนหนังสือให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมากว่า 12 ปี ในรั้วสถาบันการศึกษาแห่งนี้
สถานศึกษาแห่งนี้เป็นเพียงสถานศึกษาระดับอาชีวะศึกษาไม่กี่แห่งที่สอนวิชาชีพให้กับเด็กอาชีวะ ที่เป็นผู้มีความต้องการพิเศษเต็มรูปแบบ ซึ่ง 0t มีจุดแตกต่างจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสายอาชีพทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะมีหลักสูตรที่ใช้กำลังกายและสมองควบคู่กันไป เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ฯลฯ แต่ที่นี่จะเสริมเป็นวิชาชีพที่เหมาะสมกับสรีระของผู้ที่มีความต้องการพิเศษโดยตรง นั่นคือ วิชาคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปประกอบอาชีพประเภททำงานนั่งโต๊ะ
ฉุดดึง คนที่ยังตกอยู่ในเขาวงกตทางความคิด
เลิกคิดว่าตัวเองมีปมด้อย ออกไปเผชิญโลก
กว่าสิบปีที่ อาจารย์กี้ สอนอยู่ในรั้ววิทยาลัยแห่งนี้ได้เห็นพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ที่ได้รับการศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า ทั้งหมดล้วนได้ดิบได้ดี มีงานทำและพึ่งตนเองได้ ไม่กลายเป็นภาระแก่สังคมหรือครอบครัว ในฐานะครู อาจารย์กี้ ยังเป็นผู้นำในการสร้างแรงบันดาลใจ พยายามฉุดดึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งบางคนที่ยังตกอยู่ในเขาวงกตทางความคิด เพียงเพราะคิดไปเองว่า ตัวเองมีปมด้อย
ผู้พิการบางคนนอนป่วยติดเตียงอย่างสิ้นหวังโดยไม่ยอมลุกขึ้นสู้ทำกายภาพบำบัดดูแลตัวเอง บางคนรู้สึกอับอายกับความพิกลพิการของตัวเองจนไม่กล้าออกนอกบ้านนาน 4 – 5 ปีกว่าจะพยุงตัวขึ้นรถเข็นออกจากบ้านสู่โลกภายนอกได้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะอายุมากจึงเข้าไม่ถึงทุนการศึกษา แต่ยังมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษอีกไม่น้อยเช่นกันที่ใจสู้กล้าเผชิญโลกและท้าทายโชคชะตา เดินเข้าหาโอกาสทางการศึกษาและแสวงหาความรู้จากรั้ววิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่
“เด็กนักเรียนพระมหาไถ่ ไม่คิดว่าความพิการของตัวเองเป็นปมด้อย เรียนจบมีงานทำทุกคน สร้างเนื้อสร้างตัว มีครอบครัวใหม่ ซื้อบ้านซื้อรถมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เป็นภาระแก่คนรอบข้าง ตอนนี้น้องๆ หลายคน ได้รับการศึกษาจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้เข้ามาเปลี่ยนภาระเป็นพลัง ปลุกพลังในตัวเองให้กลับมาลุกโชน เชื่อหรือไม่ว่าเด็กที่จบไป แม้จะพิการแต่กล้าไปสมัครงานบริษัทใหญ่ๆ แบบไม่อาย บางคนได้ทำงานในโรงงานใหญ่หรือ โรงแรมหรู” อาจารย์กี้ กล่าว
พัฒนาทักษะอาชีพตามสรีระ และ ศักยภาพของตัวเอง
2 ใน 8 นักศึกษาทุนที่ได้โอกาสรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 2 จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. คนแรก “อลิสา อุ้มสิน” หรือ น้องออม นักเรียนทุน ปวส. สาขาเทคโนโลยีดิจิทัล เล่าถึงความใฝ่ฝันในชีวิตจากทุนที่ได้รับ ด้วยสีหน้าและแววตาเปล่งประกายว่า “หนูอยากทำงานเป็นคอมพิวเตอร์กราฟิกค่ะ”
น้องออม แม้เธอเก่ง ฉลาดและเรียนดีเกรดเฉลี่ยสูง แต่เธอไม่ได้หวังสูงเรียนให้จบปริญญาตรี เธอขอเรียนต่อแค่ในระดับ ปวส. เพื่อมีงานประจำทำและได้พบเจอกับนายจ้างน่ารักใจดีก็พอแล้ว เพราะความฝันสูงสุดของเธอจริงๆ จะว่าไปเล็กมาก คือ เธออยากมีงานทำประจำเพื่อเก็บออมให้ได้เงินสักก้อนไปเปิดร้านเบเกอรี่ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่บ้านเกิดตัวเองที่จังหวัดจันทบุรี แรงบันดาลใจนี้เกิดขึ้นจากทุกช่วงเวลาที่เธอว่าง เธอไม่เคยปล่อยเวลาให้ผ่านไปแบบเปล่าประโยชน์ หรือ คิดมากกับอุปสรรคทางกายที่เธอประสบจนต้องนั่งรถเข็น ทุกนาทีเธอใช้เวลาไปกับงานอดิเรกที่รักและชอบ คือ ทำขนมเค้ก จนกลายเป็นแรงบันดาลสำคัญที่ทำให้เธอคิดอยากทำธุรกิจมากกว่าเป็นลูกจ้าง
ขณะที่ “แสงดาว อรรถโยโค” หรือ น้องดาว นักเรียนทุน ปวส. สาขาเทคโนโลยีดิจิทัล เด็กสาวผู้มีสายตามุ่งมั่นพูดจาฉะฉานแบบไม่เขินอายและมีความมั่นใจสูงไม่แพ้เด็กปกติทั่วไป เธอกล่าวอย่างมั่นใจ เมื่อมีใครถามว่า หนูเรียนจบ ปวส.แล้วจะไปทำอะไรต่อ เธอตอบทันทีว่า หนูจะเรียนให้เก่งเพื่อให้ได้ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เธออยากเป็น 1 ในช้างเผือกที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เรียนต่อไปจนถึงระดับปริญญาเอก นี่คือหมุดหมายในชีวิตของน้องดาว เด็กต่างจังหวัดตัวเล็ก ๆ ที่เดินทางไกลต้องอ้อมกอดพ่อแม่อันเป็นที่รักจากจังหวัดนครปฐม มาศึกษาเล่าเรียนที่รั้ววิทยาลัยแห่งนี้
ทั้งน้องดาว และ น้องออม นับว่าโชคดีกว่าเพื่อนๆ อีกหลายคนที่พลาดโอกาสทางการศึกษาเพียงเพราะความยากจน ผสมกับยังไม่ก้าวข้ามปมด้อยในตัวเองไปได้ยังคงหมกตัวเองอยู่กับบ้านไม่ออกมาสู้ชีวิตจนอายุเกินเกณฑ์ ในสายตา “อาจารย์กี้” มองว่ายังมีผู้พิการที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอีกมาก ส่วนใหญ่อายุมากเกินเกณฑ์ซึ่งควรได้รับโอกาสทางการศึกษาเช่นกัน ทาง กสศ.น่าจะขยายโอกาสทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง แก่ผู้พิการที่เป็นผู้ใหญ่ อายุ 30 – 40 ปี เพราะอาจารย์กี้ มั่นใจว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทรงพลังสามารถช่วยฉุดดึงผู้พิการที่ยังตกอยู่ในวังวนและความด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับโอกาสดีมีทักษะอาชีพตามสรีระและศักยภาพของตัวเองที่เอื้ออำนวยจากคนที่เคยเป็นภาระสู่คนมีพลัง
ทุกคนมีศักยภาพ อย่าจำนนต่อโชคชะตา
ยิ่งมีทุน กสศ.เข้ามาหนุนเสริมยิ่งจะทำให้คนพิการ 1 ในกลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคมให้ได้รับการดูแลหลุดพ้นความเหลื่อมล้ำและความยากจน จนสามารถพึ่งตนเองได้กลายเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชลบุรี หนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังมีตำแหน่งงานอีกมากรอคอยอยู่เบื้องหน้า
ทั้งยังมีผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ใจกว้างใจดีพร้อมอ้าแขนต้อนรับเข้าทำงาน ดังเช่นสโลแกนของ อาจารย์กี้ ที่พร่ำสอนลูกศิษย์ทุกรุ่นที่จบออกไป “เปลี่ยนภาระเป็นพลัง” จงภาคภูมิใจในตัวเอง อย่าท้อแท้ต่อปมด้อย ทุกคนล้วนมีศักยภาพขอเพียงมี พรแสวง คว้าทุกโอกาสที่เข้ามา อย่าจำนนต่อโชคชะตา ทุกคนทำได้เพียงเท่านี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยย่อมเบาบางลงและจางหายไปในที่สุด
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค