“ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ใครๆ ก็สามารถสร้างห้องเรียนอัจฉริยะได้ ขอเพียงมีอุปกรณ์พร้อมไอเดียดีๆ ในการนำเครื่องมือแห่งศตวรรษที่ 21 มาปรับใช้ให้เหมาะสม” คือสิ่งที่ อาจารย์ธิติ ธีระเธียร นักพัฒนาครูและผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการออกแบบและการสร้างสื่อเทคโนโลยีสำหรับห้องเรียนอัจฉริยะ ที่ กสศ. ร่วมกับมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ได้ชักชวนครูจากทั่วประเทศเข้าร่วมเรียนรู้การจัดการห้องเรียนโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็น ‘ผู้ช่วยสอน’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาๆ ได้อย่างไร
เพราะบทบาทหน้าที่ของครูในวันนี้ ไม่ใช่เป็นผู้ถือครองความรู้แล้วส่งต่อให้ผู้เรียนอีกต่อไป แต่ความหมายของครูคือผู้สร้างกระบวนการจัดการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เด็กๆ เข้าถึงการเรียนรู้ที่ข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ด้วยสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำได้ตั้งแต่การออกแบบการสอน ควบคุมห้องเรียน สร้างการโต้ตอบ รวมถึงมอบหมายงาน ตรวจงาน และวัดผลการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์
บทบาทของ ‘ครู’ ในยุคที่ใครๆ ก็เข้าถึงข้อมูลความรู้ได้
ด้วยอุปกรณ์พื้นฐานแค่คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ชั้นเรียนที่เคยเป็นห้องสี่เหลี่ยมธรรมดาก็สามารถกลายเป็นเหมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงจากเมื่อก่อนที่หากเราจะสอนให้เด็กๆ ทำขนมก็ต้องหาคนมาสอน หรือตัวครูเองจะต้องศึกษาหาข้อมูลและทดลองทำจนสำเร็จ แล้วจึงนำมาถ่ายทอดสู่ผู้เรียน แต่ปัจจุบันแค่เปิด Google ค้นหาวัตถุดิบและขั้นตอนการทำ จากนั้นเข้า Youtube หาเชฟสักคนมาเป็นผู้สอน ชั่วโมงเรียนทำขนมก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เนื้อหาความรู้ถูกส่งขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์ซึ่งทุกคนเข้าถึงได้
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในบทบาทหน้าทีใหม่ของครูคือ การช่วยวิเคราะห์จัดการข้อมูลมหาศาลให้เด็กๆ กลั่นกรองและสอนเด็กๆ ว่าข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ขณะที่เทคโนโลยีจะเป็นผู้ช่วยครูในฐานะผู้ออกแบบการเรียนรู้ ช่วยปรับความยากง่ายของกิจกรรม วิเคราะห์ความถนัดชำนาญและข้อบกพร่องในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน รวมถึงช่วยบันทึกและประมวลผลข้อมูลแล้วส่งกับไปที่ครู อันเป็นสิ่งที่นวัตกรรมได้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
แอปพลิเคชันพื้นฐานสำหรับห้องเรียนในศตวรรษที่ 21
เมื่อเทคโนโลยีพร้อม สิ่งที่ครูต้องทำคือเตรียมเนื้อหาและออกแบบวิธีการสอน ในหลักสูตรสร้างห้องเรียนอัจฉริยะ จะมี TPCK Model คือกรอบการคิด การวางแผนกิจกรรมการจัดการสอนที่นำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการ เช่นเดิมทีครูต้องตีโจทย์ว่าจะสอนเนื้อหาวิชาแบบไหน ก็เปลี่ยนเป็นว่าจะออกแบบกิจกรรมอย่างไรให้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพการสอนยิ่งขึ้น ครูจะต้องพิจารณาเนื้อหาที่จะสื่อถึงผู้เรียนว่าจะนำเสนอเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ หรือเป็นวิดีโอคลิป ถึงจะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ดีที่สุด แล้วจึงหยิบเครื่องมือมาใช้
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการออกแบบกิจกรรม ครูต้องรู้ก่อนว่าในจำนวนเครื่องมือหรือแอปพลิเคชันมากมายที่มีอยู่นั้น แต่ละแอปฯ มีความสามารถอะไรบ้าง แล้วจะใช้เครื่องมือไหนในเวลาใด ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมยังเป็นการสร้างความสนุกสนานและกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ ได้ด้วย
เช่น หากต้องการให้เด็กแสดงความคิดเห็น ก็จะมีแอปฯ ‘Poll’ สำหรับการโหวต ที่เด็กๆ สามารถใช้สมาร์ทโฟนบอกความเห็นของเขา จากนั้นแอปฯ จะทำการสรุปผลเป็นกราฟแสดงที่หน้าจอของครู หรือแอปฯ ‘Kahoot’ ที่ช่วยให้ครูสามารถสร้างโจทย์การบ้านพร้อมชอยส์ตัวเลือกในรูปแบบเหมือนการเล่นเกม หรือใช้วัดผลระหว่างการสอนได้ว่าเด็กๆ เข้าใจบทเรียนมากแค่ไหน ซึ่งจะทำให้เด็กๆ สนุกสนานไปกับการตอบคำถามที่ครูสร้างขึ้น
สร้างกิจกรรมที่ก้าวผ่านข้อจำกัดของห้องเรียนในแบบเดิมๆ
ในห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ Smart Classroom มีกิจกรรมหลากหลายอย่างที่ครูสามารถนำพาเด็กๆ เรียนรู้ได้โดยหลุดพ้นจากข้อจำกัดเดิมๆ เช่น ในอดีต หากจะเข้าถึงบทเรียนเกี่ยวกับดาราศาสตร์ เด็กๆ อาจต้องเรียนจากท้องฟ้าตอนกลางคืน ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ตอนนี้มีแอปฯ ที่ช่วยจำลองตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าและจับตำแหน่งของผู้เรียน ซึ่งทำให้สามารถเรียนรู้พิกัดของดวงดาวได้แม้ในตอนกลางวัน หรือแม้แต่ในวิชาวิทยาศาสตร์ เด็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องการทำงานของหัวใจมนุษย์หรือโครงสร้างภายในของกบได้ในรูปแบบ 3 มิติ โดยไม่ต้องเดินทางออกจากห้องเรียนหรือนำอวัยวะจริงมาประกอบการสอน
สิ่งสำคัญไม่ใช่ความล้ำสมัยของอุปกรณ์ หากขึ้นอยู่กับครูว่าจะทำให้ห้องเรียนอัจฉริยะแสดงคุณสมบัติอะไรได้บ้าง
ใน Smart Classroom คุณสมบัติที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเป็นสำคัญ แต่ขึ้นอยู่ที่ครูผู้ออกแบบการสอนและกิจกรรม ว่าจะนำเครื่องมือมาเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร วิธีการหนึ่งที่น่าสนใจคือการเรียนแบบ Project Based Learning หรือ Problem Based Learning ที่ครูจะเป็นผู้กำหนดปัญหา อธิบายจุดประสงค์ แล้วให้เด็กไปถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการค้นหาข้อมูล ลงมือทำ ปรึกษากันในกลุ่ม หรืออาจใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ให้เด็กๆ ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่าน Video Conference ด้วยแอปฯ สำหรับการประชุมทางไกล
ด้วยวิธีการดังกล่าว เด็กๆ จะสร้างความรู้ขึ้นได้ผ่านการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต การทดลองด้วยตัวเอง และการปรึกษาผู้รู้(ซึ่งไม่ได้อยู่ในห้องเรียน) ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนกันในหมู่ผู้เรียนที่จะช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ขณะที่ครูจะทำหน้าที่สอดส่องและตรวจสอบ(Monitor) การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน หากพบว่าคนไหนที่ติดปัญหาก็สามารถเข้าไปช่วยเป็นรายคนได้
จะเห็นว่าคุณสมบัติของห้องเรียนอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องของอุปกรณ์ แต่หัวใจสำคัญคือครูต้องเป็นผู้จัดการสอนในห้องเรียนได้อย่างเป็นระบบ รู้ว่าใครกำลังเรียนอะไร ที่ไหน และผู้เรียนแต่ละคนมีความก้าวหน้าหรือมีปัญหาติดขัดอย่างไร ครูจะต้องทำให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ หรือดึงข้อมูลมาใช้ในการเรียนรู้หรือสร้างองค์ความรู้ได้ ทั้งต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อมูลจริง อัพเดทแบบเรียลไทม์ และเอื้อต่อการที่เด็กๆ จะมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลหรือเนื้อหาเหล่านั้น รวมถึงสามารถวัดผลว่าผู้เรียนแต่ละคนมีการเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนมากน้อยแค่ไหน
ท้ายที่สุดแล้ว การเรียนรู้ในปัจจุบันที่ครูแต่ละท่านมีหน้าที่นำพาเด็กๆ ให้เข้าถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 นั้น จึงเปรียบได้กับงานของเชฟ ที่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจเครื่องมือต่างๆ อันเปรียบได้กับวัตถุดิบ ซึ่งแยกมาเป็นชิ้นๆ เพื่อนำมาออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ประหนึ่งปรุงอาหารให้กลมกล่อม ซึ่งไม่จำเป็นว่าครูแต่ละท่านจะต้องใช้เครื่องมือชนิดเดียวกัน