มองศักยภาพการศึกษาไทยผ่านรายงานเวิลด์แบงก์

มองศักยภาพการศึกษาไทยผ่านรายงานเวิลด์แบงก์

ปัญหาสำคัญ คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมทางทรัพยากร บุคลากร การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ บรรยากาศของการเรียนที่ทำให้นักเรียนไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belong) ของโรงเรียน ปัญหาการกลั่นแกล้ง (bullying) สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน บ้าน  ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

วันก่อนธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสองฉบับ คือรายงานดัชนีทุนมนุษย์ 2020 (Human Capital Index – HCI) โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทย และได้นำเสนอรายงานเรื่อง Strengthening the Foundation for Education Success in Thailand – PISA 2018 ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล PISA ของประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดสรรทรัพยากร การกระจายตัวของครู ในกรณีของประเทศไทย โดยมีวิทยากรผู้นำเสนอจากธนาคารโลก คือ Dr.Ronald Mutasa (ประเด็น HCI) และ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ (PISA 2018)  และได้เชิญ ตัวผมและผู้แทนจาก UNICEF และจาก จุฬาลงกรณ์ฯ มาร่วมพูดคุย เห็นว่ามีบางประเด็นน่าสนใจ เลยจะขอเล่าให้ฟังกันครับ

 

*** Human Capital Index 2020 ***

ในส่วนของรายงาน Human Capital Index 2020 นับเป็นปีที่ 2 ที่ทางธนาคารโลกได้จัดทำรายงานนี้ขึ้นมา (ครั้งแรกในปี 2018) เพราะทำการวิเคราะห์ว่า ประเทศต่างๆ ในโลก มีระดับของดัชนีทุนมนุษย์เท่าไร โดยมีดัชนีง่ายๆ แค่สามด้าน คือ 1.ด้านการรอดชีวิต (อัตราการรอดชีวิตของเด็กอายุ 5 ขวบ, อัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่อายุ 15-60 ปี)  2.สุขภาพ (สัดส่วนเด็กอายุ 5 ขวบที่ไม่แคระเกร็น) และ 3.การศึกษา (จำนวนปีที่ได้เรียนในโรงเรียน คะแนนสอบมาตรฐานระดับนานาชาติ) ซึ่งกรณีของประเทศไทยมี HCI เพิ่มขึ้นมานิดหน่อย คือจาก 0.58 เป็น 0.6 ซึ่งเขาให้ความหมายว่า 0.6 หมายถึง เด็กที่เกิดในประเทศไทยนั้นเมื่อมีอายุ 18 ปี จะสามารถบรรลุระดับของทุนมนุษย์ได้สูงสุดประมาณ 60% ของศักยภาพที่เขาสามารถเป็นได้ พิจารณาจากสภาพแวดล้อมทางสุขภาพ และทางการศึกษาของประเทศ

ในขณะที่สิงคโปร์มี HCI 0.88 หมายถึง เด็กที่เกิดในสิงคโปร์ในวันนี้ จะสามารถมีโอกาสบรรลุศักยภาพของตนเองได้ถึง 88% เมื่อเขามีอายุ 18 ปี โดยในภาพรวมประเทศสิงคโปร์มีค่าดัชนีทุนมนุษย์สูงสุดในโลก ส่วนในภูมิภาคเรา เวียดนาม บรูไน ก็มีคะแนนสูงกว่าไทย กลุ่มประเทศ CLM จะอยู่กลุ่มท้ายสุด

สัมภาษณ์เรื่องดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) (เคยเขียนไว้เมื่อสองปีที่แล้ว ปีนี้ก็ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนมากนัก)

ที่น่าสนใจคือในกรณีของประเทศไทยที่แม้จะมี HCI สูงขึ้น แต่ปัจจัยด้านการศึกษา กลับเป็นปัจจัยที่มีระดับลดลง ทั้งในเรื่องของจำนวนปีการศึกษาในระดับปฐมวัย (Pre-primary)และมัธยมต้น (Lower-Secondary)  มีประเด็นน่าสนใจนิดหน่อยที่ทาง World Bank พยายามคำนวณเปรียบเทียบค่าคะแนนมาตรฐานการสอบของหลายประเทศมาไว้ด้วยกันให้เทียบกันได้ เรียกว่า Harmonized Test Score (เช่น ประเทศที่ไม่เคยเข้าสอบ PISA เขาก็จะแปลงคะแนนอื่นๆ ให้อยู่ใน scale ที่พอจะเอามาเทียบได้) ทำให้เราได้เห็นคะแนนของประเทศที่เราไม่ค่อยได้เห็น เช่น พม่า เขมร ลาว มาเปรียบเทียบด้วย ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเขาบอกว่าเขมรทำคะแนนได้ดีทีเดียว ทำคะแนนได้ดีกว่าไทย พม่ากับไทยสูสีกัน แต่ ลาว ยังห่างอยู่ แต่ก็อยู่ในระดับแถวๆ ฟิลิปปินส์  ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจดี (แต่จะจริงหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด คงอยู่ที่หลักการทางเทคนิคที่เขาเอาคะแนนมาแปลงเพื่อเปรียบเทียบกัน)

[ระดับคะแนนสอบมาตรฐานของประเทศอาเซียน มีดังนี้ สิงคโปร์ (575) เวียดนาม (519) กัมพูชา (452) มาเลเซีย (446)  บรูไน (438) ไทย (427) พม่า (425) อินโดนีเซีย (395) ลาว (368) ฟิลิปปินส์ (362)]

 

***PISA 2018 Report***

ในส่วนของรายงาน PISA 2018 ได้มีการเอาสถิติจาก PISA ของนักเรียนไทย มาวิเคราะห์ในหลาย ๆ ประเด็น พบว่าปัญหาสำคัญ คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมทางทรัพยากร บุคลากร การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ บรรยากาศของการเรียนที่ทำให้นักเรียนไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belong) ของโรงเรียน ปัญหาการกลั่นแกล้ง (bullying) สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน บ้าน  ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน รวมไปถึงเรื่องของความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอุปกรณ์ ICT, Digital Device ต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องมีการเรียนทางไกล

ซึ่งทางธนาคารโลกได้สรุปข้อเสนอออกมาเป็นสามประเด็นสำคัญๆ คือ 1. สนับสนุนให้โรงเรียนมีบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในโรงเรียนด้อยโอกาส 2. พัฒนาวิธีการสอน และการจัดการในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. สร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา

อ่านรายงานได้ที่ PISA 2018 Programme for International Student Assessment

ระยะเวลาที่ผ่านมา กสศ. ก็ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับธนาคารโลกและ สพฐ.ในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้เพียงพอทั่วถึง ภายใต้ชื่อโครงการ Fundamental School Quality Level (FSQL) ซึ่งจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จัดทำแผนที่ เก็บข้อมูลด้านทรัพยากรของโรงเรียน เพื่อที่จะให้เห็นความขาดแคลน การเข้าถึงทรัพยากรของแต่ละโรงเรียนและทำให้ทาง สพฐ. ได้มีมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสมลงไปได้ต่อไป  ซึ่งธนาคารโลกได้เคยทำการสำรวจในโครงการนี้กับประเทศเวียดนาม และสามารถผลักดันให้รัฐบาลเวียดนามปรับระบบการจัดสรรทรัพยากรให้สามารถไปสนับสนุนโรงเรียนได้อย่างมีมาตรฐานอย่างน้อยในระดับขั้นต่ำ มากขึ้น  (อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยพัฒนาการศึกษาของเวียดนาม)

 

** PISA 2018 Global Competence **

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา PISA เพิ่งเปิดเผยรายงานผลการวิเคราะห์เรื่อง Global Competence ของนักเรียนจากทั่วโลก และผมได้ลองเอามานั่งวิเคราะห์ดู เห็นว่าน่าสนใจ จึงนำไปแชร์ในวงธนาคารโลกด้วย ปัญหาที่นักวิจัยจากธนาคารโลกมองเห็นคือนักเรียนไทยมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belonging) กับโรงเรียนน้อย อาจจะเกือบต่ำที่สุดในโลก เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง… แต่เป็นเพราะอะไร ถ้าหากติดตามปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าพวกเขาก็พยายามจะสะท้อนเรื่องพวกนี้ออกมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงโทษแบบเกินขอบเขต การกลั่นแกล้งในโรงเรียน และปัญหาอื่นๆ  ซึ่งหลายๆ ประเด็นก็ได้สะท้อนออกมาในรายงานของ PISA Global Competence เช่นกัน

จากการเก็บข้อมูลพบว่าถึงแม้ว่าเด็กไทยอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่มีความรู้สูง หรือทำคะแนนสอบได้ดีนัก (ทำการทดสอบ PISA Global Competency ได้อันดับ 20 จาก 26 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ) แต่ก็เป็นกลุ่มที่ใส่ใจในเรื่องปัญหาสังคมสูงกว่านักเรียนจากหลายๆ ประเทศ ที่น่าสนใจคือเป็นกลุ่มที่นิยมใช้ Facebook/Twitter สูงที่สุดในโลก (อันดับ 1 จาก 66 ประเทศ) มองตนเองว่าเป็นพลเมืองโลก (สูงเป็นอันดับ 13 จาก 66 ประเทศ) ใส่ใจต่อประเด็นเช่นความเหลื่อมล้ำทางเพศ (อันดับ 6 จาก 66 ประเทศ)  ร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (อันดับ 10 จาก 66 ประเทศ) คิดว่าตนสามารถแก้ปัญหาแก่โลกได้ (อันดับ 14 จาก 66 ประเทศ)

ส่วนจุดด้อยของเยาวชนไทยคือความเข้าใจเห็นใจต่อคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากตนในระดับที่ต่ำมากในเกือบทุกดัชนี  (อันดับ 65 จาก 66 ประเทศ) ไม่ให้คุณค่าในวัฒนธรรมความเชื่อของคนที่มีความเชื่อหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป (อันดับ 66 อันดับสุดท้าย) ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ น่าจะเอาจุดแข็งหรือจุดอ่อนตรงนี้ของเยาวชนไทย มาใช้ในการพัฒนาการศึกษาได้เหมือนกัน (เช่นถ้าเด็กนักเรียนสนใจเรื่องประเด็นทางสังคม ก็นำพาให้เขาได้ลงไปศึกษาเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ที่สามารถทำได้ จะได้มีความสุขในการเรียนมากขึ้น ส่งเสริมในเรื่อง empathy ทำให้เข้าใจเห็นใจคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมความเชื่อมากขึ้น ซึ่งหลายโรงเรียนที่ค่อนข้างก้าวหน้าก็ได้ลงมือทำบ้างแล้ว)

จริงๆ การสำรวจนี้ทำขึ้นในช่วงสองปีที่แล้ว แต่ผลก็ดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่เหมือนกัน

ดัชนีความแตกต่างของความขาดแคลนทรัพยากรในโรงเรียนและการขาดแคลนบุคลากร (ความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่มีฐานะดีและยากจน)
นักเรียนไทยมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน (Belong) ที่ต่ำในระดับท้ายๆ ของโลก
ผลของ PISA 2018 ด้าน Global Competence ของไทย มีประเทศเข้าร่วม 66 ประเทศ
นักเรียนไทยมีการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ (แกน Y) และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (แกน X) สูง เทียบกับหลายๆ ประเทศ
นักเรียนไทยคิดว่าตนเองเป็นพลเมืองโลก อยู่ในระดับต้น ๆ (แกน Y) และเชื่อว่าตนเองสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาให้แก่โลกได้ (แกน X)
นักเรียนไทยมีการใช้ Facebook/Twitter สูงที่สุดในโลก และติดตามประเด็นทางสังคมอื่นๆ ของโลกในระดับที่สูงพอสมควร
อย่างไรก็ตาม นักเรียนไทยมีคะแนนสอบวัดผลในเรื่องเกี่ยวกับความรู้เรื่องต่างๆ ในโลกน้อย และมีความตระหนักเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างวัฒธรรมต่ำ
คะแนนสอบมาตรฐานระดับนานาชาติ (ที่ WB พยายามเอาคะแนนหลายๆ กลุ่มมาทำให้เป็นมาตรฐานที่เทียบกันได้) พบว่าในอาเซียน นอกจากสิงค์โปร์ กับ เวียดนาม ที่รู้กันว่ามีคะแนนสูงแล้ว กัมพูชา กับ พม่า ก็ยังทำคะแนนได้ดีทีเดียว โดยสูงพอๆ กับกลุ่ม ไทย มาเลเซีย บรูไน ส่วน ลาว ฟิลิปปินส์ ยังอยู่ท้ายสุดในอาเซียน
ความสัมพันธ์ระหว่าง ดัชนีทุนมนุษย์ กับ ค่า GDP ต่อหัวของประเทศ สิงคโปร์สูงที่สุดในโลก เวียดนามมีดัชนีที่สูงกว่าไทย ไทยอยู่พอๆ กับมาเลเซีย บรูไน
นักเรียนไทยมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าโรงเรียนตามฐานะสูงมากในโลก