แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา
นักเศรษฐศาสตร์ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ปรับระบบสวัสดิการสังคมที่คำนึงถึงเด็กยากจนในประเทศให้มากขึ้น โดยมองว่า ระบบสวัสดิการสังคมจากรัฐจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ปัญหาเด็กยากจนในระยะยาว
Melissa S. Kearney ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับสภาวะเด็กยากจนในสหรัฐฯ ว่า เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานของสหรัฐฯ และที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคท้องถิ่น ต่างไม่เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเด็กยากจน และการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้เห็นแล้วรัฐบาลและหลายหน่วยงานเพิกเฉยต่อความยากจนในเด็กอย่างมาก
ทั้งนี้ Kearney กล่าวว่า แม้ปัญหาเด็กยากจนจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าอับอายขายหน้ามากที่สุดของรัฐบาลสหรัฐฯ แถมยังจะกลายเป็นภาระหนักหนาที่สุดในอีกหลายปีข้างหน้าของประเทศ แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่มีหน่วยงานใดออกมาผลันดันนโยบายสวัสดิการสังคมที่เอื้อประโยชน์ต่อเด็ก ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าสหรัฐฯ มุ่งมั่นบรรเทาความยากจนในเด็กเหมือนที่จัดการกับความยากจนในวัยผู้ใหญ่ หรือมอบสวัสดิการสังคมเหมือนที่มอบให้กับผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์รายนี้ กล่าวอย่างชัดเจนว่า สวัดิการสังคมดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการขจัดปัญหาเด็กยากจนในสหรัฐฯ
จากตัวเลขข้อมูลเมื่อปีที่แล้วพบว่ามีเด็กยากจนอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งหมด 10.46 ล้านคน โดยแบ่งตามเกณฑ์ความยากจน ซึ่งวัดจากรายได้ของพ่อแม่กับจำนวนลูกๆ เช่น คุณแม่ลูกสองมีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 20,598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (เกือบ 6.3 แสนบาท) หรือพ่อแม่และลูกอีก 3 คนมีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 30,520 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.2 แสนบาท)
สัดส่วนของเด็กยากจนในสหรัฐคิดเป็นอัตราส่วนที่ 14.4% ของเด็กทั้งหมดในประเทศซึ่งมากกว่าสัดส่วนผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 18-64 ปีของประเทศที่อยู่ในฐานะยากจน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 9.4% และยังมากกว่าผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในสหรัฐฯ ที่ยากจนซึ่งอยู่ที่ 8.9%
นับเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ที่สัดส่วนผู้สูงวัยยากจนอยู่ในระดับสูง โดยในปี 1959 มีผู้สูงวัยยากจน 35% ผู้ใหญ่ยากจน 17% และเด็กยากจนที่ 27%
หากมองในแง่ดีจะเห็นได้ว่า สัดส่วนคนยากจนในคนทุกช่วงวัยของสหรัฐฯ ต่างลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ใหญ่ที่ลดลงจนเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากระบบประกันสังคมที่มีประสิทธิภาพของสหรัฐฯ จนกลายมาเป็นต้นแบบ หรือ role model ให้กับอีกหลายประเทศทั่วโลก
Kearney กล่าวว่า ถ้านำประกันสังคมที่มอบให้ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ 17,112 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 5.17 แสนบาท) มามอบให้กับเด็กยากจนในสหรัฐฯ สัดส่วนเงินดังกล่าวจะทำให้เด็กยากจนของประเทศลดต่ำลงน้อยกว่า 1% ซึ่งหมายความว่าจำนวนเด็กสหรัฐที่อาศัยอยู่ในภาวะยากจนจะลดจากที่มีอยู่กว่า 10 ล้านขณะนี้ มาอยู่ที่ราว 413,000 บาท
ขณะเดียวกัน หากมอบเงินให้เด็กยากจนด้วยเงินครึ่งหนึ่งของประกันสังคมที่ราว 8,556 ดอลอาร์สหรัฐต่อปี (ราว 2.58 แสนบาท) สัดส่วนของเด็กยากจนในสหรัฐฯ ก็จะลดลงมาอยู่ที่ 3.03% หรือราว 2.2 ล้านคน
ในกรณีที่คิดเป็นงบประมาณประจำปี เงินประกันสังคมแบบเต็มจำนวนจะอยู่ที่ 179,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ครึ่งจำนวนจะอยู่ที่ 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในปี 2019 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไว้ทั้งหมด 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่า งบประกันสังคม 2% จะช่วยลดจำนวนเด็กยากจนให้อยู่ต่ำกว่า 4% หรือยกสถานะเด็ก 8.3 ล้านคนให้พ้นจากความยากจน ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตได้รับการยกระดับพัฒนาในระยะยาว
Kearney กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้ถือเป็นการ ลงทุนทางสังคม เพราะเด็กที่ได้รับการปลดปล่อยจากความยากจน จะกลายเป็นแรงงานคุณภาพของประเทศในอนาคต และมีกำลังที่จะจ่ายภาษีให้กับรัฐได้มากกว่า
ขณะเดียวกัน เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและโอกาสของเด็ก รัฐบาลจำเป็นจต้องมีระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมถึงเด็ก ยกระดับสถาบันการศึกษา และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ครอบครัว
“ดิฉันยังคงเชื่อมั่นว่า ปัจจัยทั้งสามที่กล่าวมาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ที่เราในฐานะประเทศๆ หนึ่งต้องทำงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และการใช้เงินกับเด็กให้มากขึ้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำเพื่อให้เกิดผลได้ทันทีได้” Kearney กล่าว
ก่อนเสริมว่า แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลกกลับมองข้ามสวัสดิการสังคมของเด็ก เพียงเพราะเด็กไม่อาจมีปากมีเสียงที่จะเป็นฐานสนับสนุนทางการเมือง
นอกจากนี้ อาจมีส่วนหนึ่งออกมาโต้แย้งกว่า การให้เงินเด็กยากจนก็ไม่ต่างอะไรกับการให้เดเงินพ่อแม่ที่ยากจน ซึ่งพ่อแม่อาจใช้งานในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือฉวยโอกาสให้เงินในนามลูกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยKearneyยอมรับว่า ข้อโต้แย้งดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการวางระบบและนโยบายต่างๆ ให้รัดกุม
ยิ่งไปกว่านั้น โครงการประกันสังคมอย่าง Earned Income Tax Credit และ the Supplemental Security Income ที่ส่งเงินช่วยเหลือไปยังครอบครัวที่มีลูก พบว่าเด็กเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์คาดหวังว่า นับต่อจากนี้อย่างน้อยที่สุดรัฐบายสหรัฐฯ จะคำนึงถึงสวัสดิการสังคมของเด็กยากจนให้มากขึ้น ในห้วงเวลาที่กำลังวางแผนออกจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้
ที่มา : We could abolish child poverty in the U.S. with Social Security benefits for poor kids