ความร่วมมือเรื่องข้อมูลถือเป็นประโยชน์ทั้งการให้รู้ข้อมูลสถานะนักเรียน และจากการให้ครูได้ไปติดตามเยี่ยมบ้านนักเรียน จะทำให้เห็นสภาพปัญหาของเด็กว่าจะช่วยเหลือตรงไหนได้บ้าง กสศ. ก็จะสนับสนุนเรื่องเงินทุน ส่วนอปท. ก็จะดูเรื่องสังคม การช่วยเหลือทางกายภาพเป็นการประสานงานเรื่องข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปช่วยเหลือสวัสดิการต่างๆ
เริ่มต้นเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 นับเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญสำหรับสถานศึกษาแต่ละแห่งซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลประกอบกระบวนการคัดรองนักเรียนยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดสรรงบประมาณเป็นรายบุคคลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสกัดไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากฐานะความยากจน
ที่ผ่านมากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำงานร่วมกับสถานศึกษาในหลายสังกัด ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอีกหนึ่งสังกัดที่ได้ร่วมกันทำงานคัดกรองและให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน โดยภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ได้ช่วยนักเรียนในสังกัด อปท. ไปแล้ว 9,214 คน ครอบคลุม 475 โรงเรียน
แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องเดินหน้าทำต่อไป เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการกรอกข้อมูลเข้าระบบเพื่อคัดกรองให้ความช่วยเหลือ จนอาจเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาเหล่านั้นพลาดโอกาสการได้รับการศึกษาได้
เร่งสำรวจกรอกข้อมูลนักเรียนสังกัด อปท.เพื่อให้ความช่วยเหลือ
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า สถ. ได้ประสานไปยัง ผู้แทนของ สถ. ในท้องถิ่นให้ประสานกับ กับโรงเรียนในสังกัด อปท. รวมทั้งประสานงานผ่านการประชุมประจำเดือน ไปยังอปท. ที่รับผิดชอบให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ไปยังสถานศึกษาให้ได้มากที่สุด เพราะปัจจุบันจำนวนนักเรียนที่มีข้อมูลเข้ารับการคัดกรองยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าเกณฑ์
“เราให้ อปท. ร่วมกับสถานศึกษาในสังกัดได้สำรวจข้อมูลไว้แล้ว ที่สำคัญนอกจากสำรวจข้อมูล อปท. เอง ก็จะให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยกระทรวงมหาดไทย มีระเบียบการช่วยเหลือนักเรียนนอกจากด้านการศึกษา ยังมีการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น โดยเฉพาะเด็กยากจนพิเศษที่เราต้องเร่งรัดไปยังทางโรงเรียน หรือครูที่ดูแลเด็กให้ความสำคัญกับการกรอกข้อมูลเข้ามาในระบบเพื่อให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา”
ความร่วมมือด้านข้อมูล สามารถต่อยอดความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ในปี 2563 ทาง สถ. และ กสศ. ได้จัดประชุมชี้แจงผ่าน VDO Conference และ เฟซบุ้กไลฟ์ ทำความเข้าใจกับท้องถิ่น จังหวัด บุคลการทางการศึกษา สถานศึกษา ให้ข้าใจการคัดกรองเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ซี่งควรจะได้รับการดูแลก่อน โดยให้ถือเป็นนโยบายสำคัญ ให้สำรวจและรายงานผลให้ทราบ
“ความร่วมมือเรื่องข้อมูลถือเป็นประโยชน์ทั้งการให้รู้ข้อมูลสถานะนักเรียน เพราะนักเรียนที่จะได้รับทุนการศึกษาต้องอยู่ในเกณฑ์ยากจนครัวเรือนมีรายได้ไม่เกิน 3.6 หมื่นบาทต่อปี และจากการให้ครูได้ไปติดตามเยี่ยมบ้านนักเรียนจะทำให้เห็นสภาพปัญหาของเด็กว่าจะช่วยเหลือตรงไหนได้บ้าง กสศ. ก็จะสนับสนุนเรื่องเงินทุน ส่วนอปท. ก็จะดูเรื่องสังคม การช่วยเหลือทางกายภาพเป็นการประสานงานเรื่องข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปช่วยเหลือสวัสดิการต่างๆ”
กำชับลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็ก เพื่อเห็นสภาพแวดล้อม
รองอธิบดี สถ. ย้ำว่า การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ทุกครั้งที่มีการประชุมร่วมกันกับทางจังหวัด ที่เชิญบุคลากรในท้องถิ่น หรือผู้บริหารสถานศึกษามาพบปะ ก็จะเน้นย้ำทุกครั้งว่าเราให้ความสำคัญกับการเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมของเด็ก เราต้องการให้เด็กได้เรียนจบ อย่างน้อยก็การศึกษาภาคบังคับ โดย กสศ. ให้ทุนจนจบการศึกษาภาคบังคับ และมีแผนต่อเนื่องที่จะขยายไปยัง ม.ปลาย ดังนั้นจึงต้องช่วยเหลือดูแลทั้งกลุ่มเดิม และกลุ่มที่กำลังสมัครใหม่ ที่หากมีปัญหาในการบันทึกข้อมูล ก็จะต้องมีการอำนวยความสะดวกทำให้การคัดกรองทำได้โดยง่ายมีการแก้ปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง สถ.ได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมสนับสนุน อปท. ให้มีการจ้างงานคนท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้ในพื้นที่มีรายได้เสริม รวมทั้งให้ประชาชนได้ฝึกอาชีพ เพื่อที่มีทักษะสามารถออกไปประกอบอาชีพอิสระ หารายได้เสริม ขณะที่รัฐบาลเองก็มีหลายโครงการช่วยเหลือประชาชนทั้งเงินสวัสดิการ 5,000 บาท โครงการคนละครึ่งลดค่าใช้จ่ายประชาชน
จุดเริ่มต้นให้การศึกษาเข้าถึงเด็กยากจน ไม่ต้องออกกลางคัน
“ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ การจับมือร่วมกันระหว่าง สถ. และกสศ. อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นให้การศึกษาเข้าถึงเด็กยากจนจริงๆ เด็กด้อยโอกาสที่ได้รับทุนที่เขาอาจเข้าไม่ถึง เพราะบางทุนกำหนดเกรดแต่เด็กบางคนเรียนไม่เก่งต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่กสศ. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ เรียนเก่ง ให้มาเรียนครบร้อยละ 80 จุดประสงค์สำคัญคือไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการ ฉะนั้นสิ่งที่เราวางเป้าหมายไว้เบื้องต้นคือให้เด็กเข้าถึงการศึกษาไม่ต้องออกกลางคัน”
ส่วนถามว่าความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ไหม ก็ยังคงมีอยู่เพราะฐานะครอบครัวของแต่ละคนแตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นทั้งเรื่อง สถานศึกษา มาตรฐานการเรียนการสอนที่แตกต่างกันย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพของ อปท. แต่ละแห่งจะมีมีแผนดูแลจัดการสถานศึกษา ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นก็อยู่ที่ทำอย่างไรให้มาตรฐานการศึกษาใกล้เคียงกัน ซี่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ต้องมาจับมือร่วมกัน