ถ้าไม่เรียนออนไลน์ แล้วใช้วิธีไหนได้บ้าง ในสถานการณ์โควิด-19

ถ้าไม่เรียนออนไลน์ แล้วใช้วิธีไหนได้บ้าง ในสถานการณ์โควิด-19

ด้วยสถานการณ์โควิดหลังปีใหม่ที่ผ่านมา ทำให้ 7,000 กว่าโรงเรียนใน 28 จังหวัด ต้องงดการเรียนการสอน และเปลี่ยนมาจัดการสอนด้วยรูปแบบออนไลน์แทน แต่ยังมีโรงเรียนอีกมากในพื้นที่ห่างไกลที่ สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง รวมถึงนักเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่มีอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่พร้อมในการเรียนแบบออนไลน์ กสศ. จึงขอนำเสนอบทความที่ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เคยเขียนเพื่อเป็นแนวทางการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น “ถ้าไม่เรียนออนไลน์แล้ว ใช้วิธีไหนได้บ้างในสถานกาณ์ Covid-19”

จากการเก็บข้อมูลในปี 2018 ของ OECD พบว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ เช่น สถานที่ในบ้านสำหรับเรียนหนังสือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น เครื่องโน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะดีมีความพร้อม กับครัวเรือนที่ยากลำบาก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจหรือการสังเกตอื่นๆ ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)

การหาแนวทางการเรียนการสอนแบบอื่นๆ มารองรับกับข้อจำกัดด้านนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

การใช้วิทยุและหนังสือพิมพ์

เป็นวิธีการแบบดั้งเดิมที่สุด ในสหรัฐอเมริกาเคยมีการปิดโรงเรียน เพราะการระบาดของโปลิโอในช่วงปี 1937 ทำให้นักเรียนประถมศึกษา 325,000 คน ต้องออกจากโรงเรียน

ในยุคนั้นมีการใช้การออกอากาศบทเรียนทางวิทยุ โดยมีตารางออกอากาศ คำถาม การบ้าน ส่งไปในหนังสือพิมพ์ทุกเช้า มีครู ผู้ทรงคุณวุฒิคอยตรวจสอบเนื้อหาบทเรียน มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือแขกรับเชิญมาออกอากาศ และใช้ระบบ hotline ให้พ่อแม่สามารถโทรไปปรึกษาได้ มีครูคอยรับสายประมาณ 20 คน โดยมีพ่อแม่สนใจโทรมาแสดงความเห็นตลอด มีการสนับสนุนให้พ่อแม่นั่งทำการบ้าน ทำบทเรียนร่วมไปกับลูก

แต่ในยุคนั้นก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น บางบ้านไม่มีวิทยุ สัญญาณไม่ดี หรือต้องย้ายออกไปอยู่นอกเขตเมืองที่สัญญาณวิทยุส่งไปถึง และปัญหาที่ว่าอาจจะมีความเร็วในการเรียนรู้ รับรู้ ไม่เท่ากัน

ซึ่งไม่ต่างจากยุคที่ใช้อินเทอร์เน็ตนี้เท่าไรนัก ที่แม้จะมีความสะดวกสบายมากกว่า แต่ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่สะดวกในเรื่องการเข้าถึงคล้ายๆ กัน

ในประเทศที่นักเรียนมีการเข้าถึงอุปกรณ์การสื่อสารยาก เช่น ในวิกฤตโรคอีโบล่า ปี 2014 ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก มีการปิดโรงเรียนต้องใช้การเรียนผ่านทางระบบวิทยุ ใช้การส่งข้อความ ข่าวสารข้อมูลด้านการศึกษาผ่านทางโทรศัพท์มือถือแบบ SMS หรือใช้การส่งวิดีโอสั้นๆ ซึ่งใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตน้อยกว่า

ที่มา : In Chicago, schools closed during a 1937 polio epidemic and kids learned from home — over the radio

การใช้โทรทัศน์

ในช่วงปิดโรงเรียน ประเทศจีนมีการจัดทำรายการโทรทัศน์เพื่อให้นักเรียนในระดับต่างๆ ได้เรียนผ่านหน้าจอ โดยแบ่งตาราง ช่องสถานี วัน เวลา ตามระดับชั้นและวิชาต่างๆ ถือเป็นวิธีการที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด สำหรับนักเรียนที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว

และมีหลายประเทศที่ใช้โทรทัศน์เป็นหนึ่งในช่องทางของการให้การศึกษา เช่น กรีซ นิวซีแลนด์ โทรทัศน์ช่องการศึกษาในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ สถานีโทรทัศน์ Discovery ที่เน้นเรื่องการศึกษา ในประเทศไทยก็มีการใช้ระบบการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม (DLTV) มานานแล้ว และมีฐานข้อมูลและระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างพร้อมพอสมควร

การใช้ระบบเอกสาร (Learning Box set)

การใช้ระบบเอกสารการเรียนรู้ เป็นชุดวิชาหรือบทเรียนที่เป็นหนังสือ แบบฝึกหัดต่างๆ เป็นวิธีดั้งเดิม เน้นให้นักเรียนเรียนด้วยตนเองหรือสามารถใช้ร่วมกับระบบอื่นๆ แบบผสมผสานกัน เช่น ให้การบ้าน ทำงาน แล้วหาเวลามาถามปัญหา หรืออภิปรายทางระบบออนไลน์

ในประเทศโปรตุเกส มีการดำเนินการส่งเอกสารให้กับนักเรียนโดยใช้ไปรษณีย์ รวมถึงการส่งการบ้านต่างๆ ร่วมกับระบบอื่นๆ

หรือแม้แต่ในประเทศจีน ผู้ปกครองที่กลัวว่าลูกจะใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไปก็จะใช้วิธีการเรียนโดยพิมพ์เอกสารมาอ่านหรือทำงาน

หรือประเทศนิวซีแลนด์ ที่ดำเนินการเพิ่มการพิมพ์เพื่อผลิตและแจกจ่ายเอกสารประกอบการเรียนเพื่อส่งไปตามบ้านนักเรียนในช่วงที่โรงเรียนถูกปิดเพิ่มขึ้น

บริบทของความเหลื่อมล้ำและเด็กผู้ด้อยโอกาสในสังคม

ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบใดก็ตามในการเรียนการสอนช่วงวิกฤต COVID-19 สิ่งที่สำคัญ คือ การเลือกให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุด

และที่สำคัญคือนอกจากวิชาการแล้ว ควรจะต้องคอยเฝ้าระวังและให้การช่วยเหลือสนับสนุนด้านอาหารของเด็กนักเรียนที่อาจจะขาดไปเนื่องจากการปิดโรงเรียนเป็นเวลายาวนาน

ด้านสุขภาวะในช่วงวิกฤต ให้ความสำคัญกับสภาวะด้านจิตใจอารมณ์และสังคมของนักเรียนเป็นสำคัญด้วย ครูและโรงเรียนควรจะทำให้นักเรียนมีความรู้สึกมั่นคง รู้สึกว่าตนเองยังไม่ได้ถูกครูทอดทิ้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนในช่วงแห่งวิกฤต เช่นนี้

และควรจะช่วยกันคิดต่อไปว่าสำหรับนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มการศึกษาพิเศษ ผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องในการเรียนรู้ นักเรียนในกลุ่มเด็กเล็กที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงได้ เนื่องจากต้องออกไปทำงานหาเงิน นักเรียนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ไม่เกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ มีความรุนแรงในครอบครัว ทางโรงเรียน หรือทางภาครัฐ หรือองค์กรที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนต่างๆ ในสังคมควรจะทำอย่างไร เนื่องจากเด็กในกลุ่มเหล่านี้คงต้องการการสนับสนุนแบบพิเศษและมิอาจรอคอยสภาวะวิกฤต เช่นนี้ได้นาน

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม