ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปราย เรื่องการบริหารจัดการงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กสศ.เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจจึงขอนำมาเสนอไว้ดังนี้
ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ อภิปรายว่า รายงานการบริหารจัดการงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนฯ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการบริหารจัดการอาหารตามหลักโภชนาการเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทุกคน
อย่างไรก็ตาม ตามที่มีการจัดทำรายงานมากว่า 60 ปี เหมือนเป็นการจัดทำกันเองอย่างไม่เป็นระบบ โดยมีช่วงหนึ่ง ระบุถึงการใช้เงินอุดหนุนจำนวน 5,000 บาท ครึ่งหนึ่งนำไปลงทุนด้านอุปกรณ์การศึกษา อีกส่วนหนึ่งไปจัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหาร แต่ก็ดีที่มีการดำเนินการมาตลอด และมีโครงการนมโรงเรียน ทำให้เด็กเติบโตสูงขึ้น 5-7 เซนติเมตร แต่เนื่องจากภาวะอื่นๆ ทำให้เด็กมีน้ำหนักเกินและอ้วนมากขึ้นเสี่ยงเป็นโรค NCDs ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเด็กเกิดขึ้นน้อยลง จากเดิมปีละล้านคน แต่ตอนนี้เหลือเจ็ดแสนคน ฉะนั้นการจัดระบบเงินอุดหนุนอาหารกลางวันน่าจะทำให้ดีขึ้น
ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ กล่าวถึงการให้ความสำคัญระดับช่วงชั้นวัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงเด็กแรกเกิด โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 2.5-3.5 กิโลกรัม ตรงนี้เราต้องดูแลให้ดี จากนั้นช่วง 3 ปีเข้าโรงรียนอนุบาลได้รับเงินอุดหนุนถึงประถมศึกษาปีที่หก ที่จะต้องปลูกฝังทุกมิติก่อให้เกิดการเรียนรู้
ที่ผ่านมาเราประเทศไทยมีโครงการระดับชาติ และระดับท้องถิ่น มุ่งให้คนไทยมีโภชนาการดีมีตัวชี้วัดเป้าหมายชัดเจน
ตั้งแต่แผนพัฒนาชนบทยากจน จัดให้มีบริการพื้นฐาน มีการทำงานร่วมกับชุมชน ครอบครัว ท้องถิ่น และมีอาสาสมัครหมู่บ้านหรือ อสม. ตั้งแต่ยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 กำหนดสัดส่วน 1 คนต่อ 10 ครัวเรือน ซึ่งเราควรจะต้องดึงมาร่วมมือช่วยเหลือในด้านโภชนาการของโรงเรียน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นี้ด้วย
“การออกแบบโภชนาการในโรงรียนที่ดี มีตัวอย่างจากการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงงาน ได้วางแผนอย่างบูรณาการเบ็ดเสร็จ ที่สำคัญ ได้มีการติดตามน้ำหนักและส่วนสูงการเจริญเติบโตคู่กับพัฒนาการเรียนรู้ นอกจากทำการตรวจวัดประเมินผลแล้ว ก็ไม่ใช่แค่จัดทำเป็นรายงานเก็บไว้ในสมุดบันทึกอย่างเดียว แต่สามารถนำไปประมวลวิเคราะห์แก้ไขให้มีภาวะโภชนาการดี นอกจากนี้ไม่ใช่แต่เพียงสามารถจัดหาอาหารกลางวันและนมมีคุณภาพถูกสุขอนามัย ยังต้องดูแลเรื่องสุขาภิบาลพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำจัดทำให้สะอาด มีการจัดการปลูกผักสวนครัวเลี้ยงสัตว์ ให้เกิดการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติอีกด้วย “
“เรามีต้นทุนสำคัญในชุมชน ทรัพยากร วัด อาสาสมัคร วัฒนธรรมที่ดี ฉะนั้นเราสามารถนำส่วนนี้มาสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในรูปแบบกรรมการในโรงเรียน” ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ กล่าวย้ำ
สว.ไกรสิทธิ์ เสนอแนะ 5 ข้อสำคัญ ได้แก่
1. ประเด็นของการจัดทำข้อมูล อยากให้เป็นระบบเดียวเพราะที่ผ่านมาวกไปวนมา ดังนั้นควรวางแผนจัดทำให้ดีๆ เก็บวิเคราะห์ ประมวลข้อมูลภายใต้คอนเซ็ปต์ BIG DATA ซึ่งส่วนนี้ทำไม่ยากโดยการวัดน้ำหนักส่วนสูง รู้วันเดือนปีเกิดก็สามารถนำมาคำนวณเด็กผอมหรือเตี้ย เท่าที่ทราบคุณภาพจัดเก็บข้อมูลไม่สมบูรณ์ ถ้าจัดทำไว้อย่างสมบูรณ์ ก็สามารถรวบรวมส่งให้อบต. อปท. ระดับจังหวัด ระดับประเทศได้
2.การสนับสนุนงบอุดหนุน ถ้า DATA พร้อม บริหารจัดการดี การรายงานข้อมูลจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เงินอุดหนุนจะเพิ่ม ลด สามารถทำได้
3.เกี่ยวกับบทบาทของอบต.เหมือนทางผ่าน ทำให้รัฐบาลรู้สึกว่ามีงบประมาณลงท้องถิ่น เป็นทางผ่านเท่านั้น อยากเห็นแนวคิดกระจายอำนาจไปสู่อบต.จริงๆ โดยอบต.อาจทำหน้าที่กำกับติดตามประเมิน ดูแลโรงเรียน ดูแลธรรมาภิบาลให้ได้เพื่อแก้ไขเงินรั่วไหลได้อีกทางหนึ่ง
4.ระดับโรงเรียน เสนอให้มี “ครูโภชนาการ” โดยมีต้นแบบจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ทำแล้วประสบความสำเร็จทำให้ภาวะโภชนาการนักเรียนดีขึ้นตลอด โดยดูแลเรื่องอาหารกลางวัน เรื่องนมโรงเรียน และผลิตอาหารกลางวัน และดึงชุมชนมาเป็นกรรมการมีส่วนร่วม และบูรณาการเรื่องอาหารกลางวันและนมเป็นเรื่องเดียวกัน
5.ชุมชนท้องถิ่น มีทรัพยากรมาก ทำอย่างไร ให้ทรัพยากรมนุษย์ร่วมเป็นกรรมการ มีเรื่องงบมาสนับสนุน ซึ่งสามารถยกระดับตั้งเป็นกองทุนช่วยเด็กได้ด้วย ถ้าชุมชนสอดส่อง การทุจริตจะเกิดขึ้นได้ยาก ตอนนี้ระบบมีสายป่านยาวดูแลจากส่วนกลางมีอะไรสั่งการส่งข้อมูลไม่ทันหรอก
ศ.เกียรติคุณ.ไกรสิทธิ์ ย้ำว่า “อยากฝากให้กรรมาธิการฯได้ไปศึกษางบอุดหนุนในส่วนนี้ เพราะเป็นงบก้อนใหญ่มาก งบอาหารกลางวัน นมโรงเรียน จัดสรรยุ่งยากมาก ควรมีนโยบายเกี่ยวกับการควบรวมระหว่างอาหารกลางวันและอาหารเสริม และใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาทำให้การจัดสรรง่ายขึ้น ตรวจสอบง่ายขึ้น
“ตามรายงาน เรื่องของกฎระเบียบการใช้เงินต่างๆ มีความซับซ้อนมาก ในการซื้อวัตถุดิบต่างๆ ถ้าเราแก้ไขให้เหมาะสมควบคู่การกระจายอำนาจและมอบหมายอำนาจดูแลเรื่องอาหารกลางวันและนมโรงเรียนน่าเป็นตัวอย่างของการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนชุมชนเป็นอย่างดี” ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ กล่าว