ปิดโรงเรียนแต่ไม่ปิดกั้นความรู้

ปิดโรงเรียนแต่ไม่ปิดกั้นความรู้

วันที่ 18 ม.ค. ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการจัดงานแถลงข่าว COVID Slide ผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทย กับแนวทางการจัดการ ‘ปิดโรงเรียน แต่ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้’
จากสถานการณ์ระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานจึงเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนานทำให้สภาวะการเรียนรู้ถดถอย COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปิดลง ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 คิดเป็นระยะเวลาเรียนรวมกันประมาณ 40% ของปีการศึกษาที่นักเรียนต้องเรียนจากบ้าน หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบอาจเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
กสศ. ได้นำประสบการณ์การจัดการศึกษาจากภาคีวิชาการนานาชาติเพื่อป้องกันปรากฎการณ์ COVID Slide และใช้วิกฤตนี้พลิกเป็นโอกาสปฏิรูประบบการศึกษา จากเดิมที่เด็กต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปหาการศึกษา เปลี่ยนเป็นการศึกษาไปหาเด็กทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและยั่งยืน โดยการสำรวจสถานการณ์เด็กเยาวชนในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด พบว่า มีเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 143,507 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กยากจนในเขตเมืองส่วนหนึ่งต้องออกไปทำงานเพื่อหารายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว เด็กยากจนในพื้นที่การระบาดสีแดงบางแห่งมีข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงปัญหาปากท้องของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กสศ.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการตชด. อปท. ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค เพื่อป้องกันนักเรียนยากจนพิเศษ 900,000 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา
ติดตามรับชมย้อนงานแถลงข่าวย้อนหลัง คลิก

เพราะสถานการณ์โควิดที่กลับมาระบาดอีกครั้งทำให้โรงเรียนใน 28 จังหวัดในพื้นที่สีแดง ต้องประกาศหยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 ด้วยเหตุพิเศษ ซึ่งการหยุดเรียนนี้อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้และสุขภาวะเด็กไทยในระยะยาว โดยการสำรวจสถานการณ์เด็กเยาวชนในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด พบว่า จำนวนโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบถึง 7,053 โรงเรียน และมีเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 143,507 ราย โดย 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงประกอบด้วย

5 พื้นที่สีแดงเข้ม
1. สมุทรสาคร
2. ชลบุรี
3. ระยอง
4. จันทบุรี
5. ตราด

23 พื้นที่สีแดง (ประกาศ ณ วันที่ 8 ม.ค.)
1. กรุงเทพมหานคร
2. กาญจนบุรี
3. ฉะเชิงเทรา
4. ชุมพร
5. ตาก
6. นครนายก
7. นครปฐม
8. นนทบุรี
9. ปทุมธานี
10. ประจวบคีรีขันธ์
11. ปราจีนบุรี
12. พระนครศรีอยุธยา
13. เพชรบุรี
14. ราชบุรี
15. ระนอง
16. ลพบุรี
17. สิงห์บุรี
18. สมุทรปราการ
19. สมุทรสงคราม
20. สุพรรณบุรี
21. สระแก้ว
22. สระบุรี
23. อ่างทอง

ในวิกฤตครั้งนี้ กสศ. ทำการสำรวจสถานการณ์เด็กเยาวชนในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด พบว่า มีเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 143,507 ราย ทั้งนี้ผลกระทบของเด็กมีความแตกต่างกันตามพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1.เด็กยากจนในเมือง – เกือบครึ่งที่ต้องออกมาทำงานหาเงิน เช่น ชุมชนรถไฟ เด็กออกมาเก็บขยะขาย ผู้ปกครองตกงาน ลดภาระทางบ้าน “เรื่องเรียนไว้ก่อน เรื่องกินต้องมาก่อน” สิ่งจำเป็นในขณะนี้คือความอยู่รอด และขาดอุปกรณ์ป้องกัน

2.เด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกล – ส่วนใหญ่ขาดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง อาหารและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ บางพื้นที่ห้ามคนภายนอกเข้าชุมชน ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าชุมชนของครู กรณีพื้นที่ buffer zone โรงเรียนที่ติดตามแนวชายแดนที่มีการแพร่ระบาด พบว่า เด็กเยาวชนไม่สามารถข้ามมาเรียนได้ตามปกติ

3.เด็กเยาวชนแรงงานต่างด้าว – จากการประเมินของ ม.มหิดล เครือข่ายแผนงานประชากรกลุ่มเฉพาะ ประเมินว่า ในจ.สมุทรสาคร มีลูกแรงงานต่างด้าวไม่น้อยกว่า 10,000 คน ในกลุ่มเด็กปฐมวัย แม้จะออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูก ในช่วงสถานการณ์โควิดทำให้ต้องกักตัวทั้งครอบครัวทำให้ขาดรายได้ และสิ่งของที่จำเป็น เช่น นมผง ผ้าอนามัย อุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัยเด็ก ในกลุ่มวัยเรียน ประถมปลาย ขาดสื่อการเรียนรู้

แนวทางการดำเนินงานของกสศ. ในระยะเร่งด่วนนี้เพื่อเร่งลดผลกระทบจาก COVID Slide โดยเน้นการทำงานในพื้นที่สีแดง โดยมีการออกแบบการสนับสนุนให้ตรงตามความต้องการของเด็กแต่ละกลุ่ม โดยใช้เครื่องมือสำคัญ 3 อย่างเพื่อลดผลกระทบในระยะเร่งด่วน

1. ถุงยังชีพและอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและอุปกรณ์ป้องกันในสถานการณ์โควิดในระยะเวลา 15 วัน เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระป๋อง แอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า สำหรับเด็กเยาวชนขาดโอกาสที่อยู่นอกระบบการศึกษา ในพื้นที่สีแดงและแดงเข้ม

2. Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดำเนินต่อไปได้ในช่วงเวลาที่โรงเรียนบางแห่งต้องปิดลงชั่วคราว จุดเด่นของกล่องดำจึงอยู่ที่บทเรียนที่เด็กสามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ เลือกเรียนตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ โดยชุดบทเรียนได้บูรณาการจากหมวดวิชาต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิต เชื่อมโยงความสนใจจากเรื่องราวรอบตัว ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงพื้นที่ชุมชนที่อาศัย ภายใต้ 4 หมวดวิชาที่ครอบคลุมพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สังคมและมนุษยชน วิทยาการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา

3. สนับสนุนกลไก “อสม.การศึกษา”
– นักจัดการเรียนรู้ที่ทำงานร่วมกับครูเพื่อนำสื่อการเรียนรู้เข้าถึงเด็กเยาวชนในชุมชน
– บริหารจัดการร่วมกับรร.กระจายถุงยังชีพและอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น เช่น ข้าวสารอาหารแห้ง หน้ากากผ้า สบู่ เจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์การเรียน ให้กับนักเรียนยากจนที่ได้รับผลกระทบ
– สำรวจสถานการณ์เด็กเยาวชนในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบ

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม