รายการพ็อดคาสต์ (podcast) ชื่อ TeachLab ทางสถานีวิทยุของบีบีซีอังกฤษได้เชิญ Justin Reich ผู้อำนวยการห้องปฎิบัติการด้านระบบการสอนแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมตซาชูเชตส์ของสหรัฐฯ (MIT) มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในรายการเกี่ยวกับผลกระทบทางเทคโนโลยีที่มีต่อระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา
โดยแม้ว่าเทคโนโลยีนวัตกรรมจะมีผลต่อการปฎิวัติถึงโครงสร้างของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่สำหรับการศึกษา เทคโนโลยีนวัตกรรมที่นำมาปรับใช้อย่างเร่งด่วนในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากพอที่จะเป็นโมเดลต้นแบบทางด้านการเรียนการสอนทางไกลที่น่าสนใจมากนัก แม้ว่าตัวเทคโนโลยีนั้นๆ จะล้ำหน้าและมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนก็ตาม
Reich กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสอนหนังสือในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา อาจไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาโดยรวม ในแง่ของพัฒนาการทางการศึกษาของเด็กเหมือนที่หลายฝ่ายคาดหวังกันไว้มากนัก
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในช่วงเวลาที่เด็กไม่สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้นี้ ช่วยให้เด็กได้เรียนหนังสือในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถแทนที่การเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ Reich แสดงความเห็นว่า ในมุมหนึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนขณะนี้จะทำให้เทรนด์การศึกษาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ผู้เรียนจะมีความคุ้นเคยและมีทักษะในการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงวิธีการทางการศึกษาที่พึ่งพาตนเอง ขวนขวายด้วยตนเอง และทำให้เกิดวินัยในการเรียนมากขึ้น
ถือเป็นการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่น่ายินดี กระนั้น ในอีกมุมหนึ่ง การเรียนในด้านวิชาการอย่าง วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือการอ่าน กลับไม่มีความคืบหน้าสักเท่าไรนัก ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อพัฒนาการทางการศึกษาของเด็กๆ ทุกคนได้ ทั้งหมด
แน่นอนว่า เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกจะเร่งหามาตรการเพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้ง แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะเดินหน้าพัฒนาพลิกแพลงระบบการเรียนการสอนทางไกลให้ก้าวหน้ามากขึ้นด้วย เพราะอย่างน้อย การนำการเรียนการสอนทางไกลมาใช้ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดในช่วงที่ผ่านมาอย่างพอเหมาะ พอดี และสอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของชุมชน หรือวิถีชีวิตของผู้เรียน ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ได้ช่วยให้เด็กกลุ่มหนึ่งไม่ตกเป็นพวก learning loss หรือเรียนตามไม่ทันเพื่อน ไปจนถึงการเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ตลอดจนเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบการเข้าสังคม และมองว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบบีบบังคับหยุมหยิมมากเกินไป และถนัดที่จะเรียนด้วยตนเองมากกว่า
ทั้งนี้ Reich ยังได้ใช้โอกาสนี้คาดการณ์ทิศทางการศึกษาของสหรัฐอเมริกา หลังยุคโควิด-19 ว่าการเรียนการสอนทางไกล หรือการเรียนการสอนออนไลน์ จะยังเป็นปัจจัยที่อยู่คู่กับระบบการศึกษาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกมีแนวโน้มจะทำให้เกิดภัยพิบัติหรือโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงระบาดบ่อยครั้งขึ้น จนส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเรียนหนังสือได้อย่างต่อเนื่อง
ทว่า ตามที่เจ้าตัวได้ยืนกรานมาตลอดว่า เทคโนโลยีนวัตกรรมแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะพลิกโฉมการศึกษาเพื่อตอบโจทย์สังคมโลกในอนาคตได้ เพราะสิ่งที่เด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ มีมากกว่าความรู้ในเชิงวิชาการต่างๆ ในตำรา หรือในทฤษฎี
ขณะเดียวกัน งานวิจัยหลายชิ้นของห้องปฎิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT ก็ยืนยันในเบื้องต้นได้ว่า การเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการที่นักเรียนไม่สามารถเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ โดยเฉพาะ ความรู้ที่ขาดหายไป ทักษะและประสบการณ์ในการเข้าสังคม โภชนาการอาหารที่เหมาะสมตามวัย และการบริการทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ที่การเรียนการสอนทางไกลไม่เหมาะกับพฤติกรรมการเรียนรู้ในช่วงวัย
นอกจากนี้ การเรียนการสอนออนไลน์ยังไม่อาจครอบคลุมทั่วถึงและตอบโจทย์การเรียนรู้ในบางสาขาของผู้เรียน เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา ที่ยังจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้กระบวนการการเรียนการสอนที่มากกว่า การนั่งรับฟังข้อมูลความรู้และทำแบบฝึกหัดทางหน้าจอ ยังไม่นับรวมถึงความไม่พร้อมของผู้เรียน ทั้งในแง่ของทักษะการใช้คอมพิวเตอร์เทคโนโลยี และความพร้อมของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนออนไลน์
Riech สรุปว่า ประเด็นที่ต้องการจะพูดถึงก็คือ เทคโนโลยีทางการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพียงแต่ไม่อาจนำมาทดแทนการเรียนการสอนที่โรงเรียนทั้งหมดได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมถึงตัวผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดหาแนวทางประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็กนักเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อันเป็นพื้นฐานของทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ที่มา :