ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งชาวบ้านควนมีด ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ต้องลำบากขึ้นกว่าเดิมจากสถานการณ์ยางพาราตกต่ำจนรายได้ลดลงไปอย่างมาก และเมื่อต้องล็อกดาวน์ต่างคนต่างอยู่กับบ้านยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่
เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา สุพล บทจร ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด ได้มีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ซื้อขายออนไลน์ของชุมชนให้เป็นที่รวมตัวของคนซื้อ คนขาย เพราะหากให้รวมตัวกันเองก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก จากนั้นจึงได้ลองนำ “ผลิตภัณฑ์” ของนักเรียนที่มาจากโครงงานฐานวิจัย มาลองวางตลาดออนไลน์เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่มีแต่รายจ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว
ทำให้ “ตลาดควนมีด Online” เป็นทั้งพื้นที่ซื้อขายของชาวบ้านควนมีด และยังเป็นสนามฝึกปฏิบัติงานให้เด็ก ๆ ได้ลงมือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านธุรกิจออนไลน์ได้โดยตรง ตั้งแต่การทำบัญชี ต้นทุน รายรับรายจ่าย ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้า
ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน
เน้น ตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ทดลอง
ก่อนหน้านี้โรงเรียนชุมชนวัดควนมีดได้นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ “โครงงานฐานวิจัย” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาประยุกต์ใช้สอนนักเรียนร่วมกับหลักสูตรปกติ โดยหลักสำคัญของโครงงานฐานวิจัยคือการสอนให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถาม ทดลอง ประดิษฐ์ และหาคำตอบด้วยตัวเอง
นอกจากจะเป็นการสอนแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่งที่ช่วยทำให้เด็กได้พัฒนาความคิดวิเคราะห์ แทนการท่องจำแบบเดิมๆ แล้ว ผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่คิดและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองจากวัสดุในท้องถิ่น
สำรวจชุมชน คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์
เด็กๆ จะลงไปสำรวจชุมชน สำรวจสภาพแวดล้อมทั่วไปเพื่อให้เกิดความคิดที่หลากหลายขึ้น แล้วนำมาคิดค้นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งของกิน ของใช้ ต่อยอดจากของที่มีอยู่ในชุมชน เช่น บางคนสนใจเรื่องใบบัวบกที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นก็ไปลองค้นใน “กูเกิ้ล” ดูว่านอกจากน้ำใบบัวบกแล้วยังทำอะไรได้อีกบ้าง
เมื่อเห็นว่าใบบัวบกสามารถนำมาทำสบู่ได้เด็กๆ ก็จะนำมาพูดคุยวางแผนการทำงาน ว่าใช้วัสดุอะไร ขั้นตอนทำเป็นอย่างไร โดยมีครูประจำชั้นมีส่วนช่วยผลักดัน ให้ได้เด็กทดลองทำด้วยตัวเอง ครั้งแรกอาจยังไม่สำเร็จ ก็ต้องมาคุยว่ามีปัญหาตรงไหนบ้างและปรับแก้ อย่างครั้งแรกยังเหลวไปเป็นก้อนก็ต้องมาปรับส่วนผสมจนสุดท้ายออกมาสำเร็จมีคนซื้อไปใช้แล้วบอกว่าดี
ปัจจุบันมีสินค้าของนักเรียนที่พัฒนามาจากโครงงานฐานวิจัยและนำมาวางจำหน่ายที่ตลาดออนไลน์แห่งนี้เช่น ยาหม่องอันชัน ยาดมสมุนไพร สบู่อัญชัน สบู่ใบบัวบก น้ำยาเอนกประสงค์ (ทำมาจากน้ำหมักเศษผักผลไม้) ไว้ล้างห้องน้ำ ล้างจาน สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุดคือยาหม่องอัญชันซึ่งขายไปแล้วเกือบ 300 ขวด
เปิดชมรมต่อยอด สร้างเสริมทักษะธุรกิจ
เพื่อเป็นการต่อยอดการดำเนินการ ทางโรงเรียนได้เปิดชุมนุมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ตลาดออนไลน์ โดยนำผลิตภัณฑ์จากชั้นต่างๆ มารวมกันและคิดค้นต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อนำไปจำหน่าย
น้องออโต้ – วรวิทย์ ทองไชย นักเรียนชั้น ป.5 ในฐานะประธานชมรม เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีนักเรียนในชมรมกว่า 20 คน ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเรียนชั้นต่างๆ ที่ชอบการเรียนในโครงงานฐานวิจัยที่นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่ของที่มีอยุ่ในชุมชน เช่น สบู่ใบบัวบก สบู่อัญชัน ยาหม่องอัญชัน ซึ่งทุกอย่างอยู่รอบตัว สามารถสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต โดมีคุณครูคอยให้คำปรึกษา
“ถามว่าทำยากไหม ก็ไม่ยาก เราได้ค้นหาด้วยตัวเอง ได้ทำงานเป็นกลุ่ม อย่างยาหม่องอัญชัน เราเห็นว่าอัญชันมีสรรพคุณทำให้แก้เมื่อย ใช้ดมได้ เลยลองคิดนำมาทำเป็นยาหม่อง พอทำแล้ววางขายคนสนใจคนสั่งซื้อจำนวนมาก รายได้ที่ได้มาก็นำเอาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม” น้องออโต้ กล่าว
ทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจากการปรับวิธีการเรียนรู้ของเด็กที่ทำพาพวกเขาออกมาสร้างความรู้ด้วยตัวเอง นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ ซึ่งจะทำให้เขามีทักษะคิดวิเคราะห์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค