ด้วยเป้าหมายที่แน่วแน่ว่าจะกลับมาเป็นครูให้ความรู้นักเรียนและพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดทำให้ น้องจ๊าบ-เจษฎากร พิมพารัตน์ มุ่งมั่นตั้งใจเรียนจนได้รับเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยการฬสินธุ์ โดยหลังจากเรียนจบแล้ว น้องจ๊าบ จะกลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านคำย่านาง ต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ
ในฐานะเด็กทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้งค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ “น้องจ๊าบ” ตระหนักถึงคุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ ที่เขาได้รับ และพยายามใช้เงินจำนวนนี้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด
ยิ่งก่อนหน้านี้ เขาต้องรับจ้างทำงานพิเศษหาเงินส่งตัวเองเรียน ตั้งแต่ป.4 ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้ว่าเงินแต่ละบาทที่กว่าจะได้มานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย จนกลายเป็นนิสัยติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักวางแผนการใช้เงิน หรือความมีวินัยในการออมเงินเพื่อไว้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในอนาคต
วางแผนการใช้เงิน ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย
เหลือเป็นเงินออมทุกเดือน
เริ่มตั้งแต่เรื่องอาหารการกินที่จะวางแผนด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารมื้อละ 40 บาท หรือวันละ 120 บาท ซึ่งหากกินเป็นอาหารตามสั่งก็จะตกวันละร้อย แต่หากใช้เงิน 100 บาทนั้นไปซื้อหมูมาทำอาหารกินที่หอพักเองก็จะกินได้เป็นสัปดาห์ ซึ่งในพื้นที่มีทั้งเห็ด หน่อไม้ ที่สามารถนำมาทำกับข้าวได้ช่วยประหยัดเงินไปได้อีก โดยตัวเขาทำกับข้าวกินเองมาตั้งแต่เด็กทำให้รู้ว่าจะบริหารเงินค่าใช้จ่ายเรื่องการทำอาหารได้อย่างไร
“เราแค่คิดว่าเก็บเงินส่วนนี้ไว้ทำอย่างอื่นดีกว่าไม่อยากใช้ฟุ่มเฟือยอะไร แต่ก็ไม่ได้อดอยาก เราก็กินทุกอย่างเหมือนคนอื่น แต่เรารู้ว่าเราจะใช้เงินไปซื้ออะไรบ้าง และจะมีเงินใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหนในแต่ละเดือนที่จะต้องมาเฉลี่ยวางแผนให้ใช้เงินไปจนถึงสิ้นเดือนและมีเงินเก็บทุกเดือนอย่างที่ตั้งใจ”
พิสูจน์ด้วยการกระทำ สร้างต้นแบบการใช้เงิน
เป็นตัวอย่างจริงสอนนักเรียน
น้องจ๊าบ เล่าให้ฟังว่า เขารู้จักคุณค่าของเงินเพราะเคยทำงานมาหลายอย่างแล้วแต่คนจะจ้าง ทั้งรับจ้างทำไร่ไถนา ช่วยงานร้านสังฆภัณฑ์ รู้ว่าเงินมันหายากแค่ไหน ที่สำคัญคือการวางแผนเก็บเงินเพราะมีเป้าหมายที่
จะซ่อมบ้านให้ยาย ที่ต้องเริ่มเก็บมาเรื่อยๆ ตั้งแต่มัธยม และอีกส่วนก็ต้องเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายเผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยตัวเองได้ ไม่ต้องไปยืมใครให้เป็นหนี้เป็นสิน
“ที่สำคัญคือเราจะเป็นครูต้องเป็นแบบอย่างของเด็กๆ ในทุกด้าน อย่างเรื่องวินัยการเงิน ก่อนที่เราจะไปสอนเด็กได้เราก็ต้องทำให้เขาเห็นมีหลักฐานว่าต้องใช้เงินอย่างไร เก็บเงินอย่างไร เด็กถึงจะ ซึ่งต่อให้ลำบากแค่ไหนหากรู้จักวางแผนการใช้เงินก็มีเงินเก็บได้ เพราะใช้เท่าที่จำเป็นอย่างมาเรียนที่นี่สองเทอมผมกินหมูกระทะไปสองสามครั้งเอง กินแต่ละครั้งก็ร้อยกว่าบาท เงินจำนวนนี้เอาไปซื้อเนื้อหมูทำกับข้าวกินเองได้ตั้งหลายวัน”
เลือกใช้เท่าที่จำเป็น คุ้มค่าภาษีของประเทศ
ช่วงเวลาว่างหลังเลิกเรียนและไม่มีกิจกรรมต้องทำ “จ๊าบ” จะไปเก็บ “กก” ที่ขึ้นอยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย มาทอเป็นเสื่อใช้เองเวลาไปจัดกิจกรรมหรือนั่งเล่นที่ไหนก็จะมีเสื่อใช้ ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหน ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวสามารถนำมาใช้งานได้หมดอยู่ที่เรามีทักษะความรู้ที่จะทำได้หรือไม่
“การที่ผมได้เรียนเป็นเพราะเงินภาษีของประเทศ ผมก็ต้องใช้เงินอย่างประหยัดเพื่ออนาคต เลือกใช้ในสิ่งที่จำเป็น อย่างบางคนได้เงินมาเขาก็อยากเอาไปผ่อนมอเตอร์ไซค์ แต่ผมองว่ายังไม่จำเป็น เพราะอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ไปไหน ซื้อจักรยานก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่มีค่าซ่อม ประหยัดไปได้เยอะ ถ้าอยากได้แล้วไปซื้อแต่ของฟุ่มเฟือยเราก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้เงินไม่พอใช้ไปถึงสิ้นเดือน หรือถ้าอยากได้จริงๆ ก็น่าจะเรียนให้จบมีงานทำมีเงินเดือนแล้วค่อยซื้อแบบไม่ต้องเป็นหนี้” น้องจ๊าบ กล่าว
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค