กสศ. สร้างระบบเสริมสร้างทักษะชีวิต ช่วยดูแลสุขภาพจิตใจนักศึกษาทุน

กสศ. สร้างระบบเสริมสร้างทักษะชีวิต ช่วยดูแลสุขภาพจิตใจนักศึกษาทุน

‘ปัญหาวัยรุ่น’ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ที่นำไปสู่ความถดถอยของประสิทธิภาพการเรียนรู้ และอาจส่งผลให้นักศึกษาบางคนต้องเลิกเรียนกลางคัน ไปได้ไม่ถึงปลายทางที่ฝันเอาไว้

จากปัญหาดังกล่าว กสศ. และ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนราชนครินทร์ จึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อให้นักศึกษาทุนฯ ได้รับการดูแลจิตใจที่ถูกวิธี มีการช่วยเหลือที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจากเรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยโครงการมุ่งหวังให้นักศึกษาเรียนรู้และพัฒนาสุขภาพใจ เพื่อให้พร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ ตามช่วงวัย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างมาตรฐานให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพ มีระบบดูแลสุขภาวะทางใจของนักศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ หรือ ‘หมอฝน’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ  ระบุว่า ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการซึ่งสำรวจโดยคณะครูผู้ดูแลนักเรียนอาชีวศึกษาชี้ว่า มีนักเรียนอาชีวศึกษาที่ต้องออกจากการศึกษากลางทางราว 20-30% โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านการปรับตัวและพฤติกรรมด้านอารมณ์ ทั้งนี้เนื่องจากช่วงวัยของนักศึกษาคือช่วงวัยรุ่น อันเป็นวัยที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนผ่านของหลายสิ่งในชีวิต รวมถึงความเปลี่ยนแปลงภายในด้านอารมณ์และสภาวะจิตใจ ที่จะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่าในช่วงวัยเด็ก นักศึกษาที่ไม่อาจเรียนรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง จึงขาดเครื่องมือในการรับมือกับปัญหา และนำไปสู่การเดินสู่เส้นทางที่ผิดพลาดได้

 

พัฒนาทักษะชีวิตไปพร้อมกับการสร้างเสริมทักษะอาชีพ

หมอฝนกล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาในสายอาชีพทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. จะมีระบบช่วยเหลือด้านการศึกษาและการจัดหางาน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะดูแลเรื่องการจ้างงานและสนับสนุนให้นักศึกษาสายอาชีพมีศักยภาพที่ตอบสนองตลาดแรงงานได้ดียิ่งขึ้น แต่หากพูดถึงระบบการเฝ้าระวังดูแลเรื่องพฤติกรรม อารมณ์ หรือสังคม ยังถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับนักศึกษาสายอาชีพ นั่นคือสิ่งที่ กสศ. และสถาบันฯ มองว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้การศึกษาด้านทักษะชีวิตกับนักศึกษากลุ่มนี้

เราพบว่าการที่นักเรียนอาชีวศึกษาไม่ได้รับการเสริมสร้างทักษะชีวิต ไม่มีการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจอารมณ์พฤติกรรม อีกทั้งเด็กๆ กลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงระบบการให้บริการด้านสุขภาพจิต หลายคนจึงมีปัญหาเครียดสะสมจนไม่สามารถเรียนจบการศึกษาตามกำหนดได้

โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา เริ่มต้นในปีการศึกษา 2562 ต่อเนื่องถึงปีการศึกษา 2563 ด้วยกลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรวม 2 รุ่น จำนวนทั้งหมดราว 5, 000 คน ครอบคลุมวิทยาลัยอาชีวศึกษา 66 แห่งทั่วประเทศ

 

เชื่อมโยงการทำงานระหว่างวิทยาลัยอาชีวศึกษากับสถานบริการด้านสุขภาพจิตในทุกภูมิภาค

แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ หรือ ‘หมอฝน’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

หมอฝนเผยว่า ทางสถาบันได้สร้างระบบการดูแลสุขภาวะทางใจของน้องๆ นักศึกษาทุนฯ ผ่านการทำงานเชื่อมโยงระหว่างวิทยาลัยอาชีวะกับสถานบริการด้านสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมแล้วในทุกจังหวัดที่มีวิทยาลัยอาชีวะเข้าร่วมโครงการ  

ในช่วงเริ่มโครงการครูจะต้องเข้ารับการอบรมเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของนักศึกษา 1 ครั้ง แล้วกลับไปเป็นต้นทางในการดูแลเด็กผ่านคำแนะนำของ ‘โค้ช’(ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต) ซึ่งสถาบันจะเป็นผู้ประสานงานให้เกิดการจับคู่เครือข่ายในพื้นที่ ที่ครูจะสามารถขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้อย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา

“ครู และ โค้ช จะพูดคุยกันถึงความคืบหน้าและปัญหากันตลอด เมื่อครูเห็นว่าเด็กคนไหนมีแววของความไม่ปกติเกิดขึ้น เช่นมีพฤติกรรมแปลกไป หรือมีการพาตัวเข้าไปใกล้ชิดกับเรื่องสุ่มเสี่ยง ครูจะปรึกษากับโค้ชทันที”

ในการกำหนดระดับของปัญหา จะใช้สีเป็นเครื่องหมายบ่งบอกระดับความรุนแรง โดยสีเขียวหมายถึงสุขภาพจิตปกติ สีเหลืองคือนักศึกษาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สีส้มคือสัญญาณเริ่มต้นของปัญหา และสีแดงคือนักศึกษาที่มีปัญหาระดับฉุกเฉินต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน

จากผลสำรวจพบว่านักศึกษาที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพภาพจิตใจ มีสัดส่วนเป็นสีเขียวมากที่สุด ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือสีส้มมีราว 2% และส่วนที่พบว่ามีปัญหาอยู่ที่ประมาณ 1% สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่นักศึกษาในกลุ่มเสี่ยงต้องเผชิญมีตั้งแต่ปัญหาเรื่องการปรับตัวกับพื้นที่หรือสังคมที่ไม่คุ้นเคย การอยู่หอ การเรียนรู้ระบบการเรียนใหม่ รวมถึงปัญหาด้านความสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่น

“ปัญหาในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้คือชนวนสำคัญที่จะทำให้เด็กเกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายการเรียน เด็กจะรู้สึกไม่อยากไปเรียน นำไปสู่ความบกพร่องทางอารมณ์ ความเครียด หรือซึมเศร้า ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ก็อาจพัฒนาไปสู่ระดับรุนแรงจนต้องพบแพทย์ ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เกิดจากปัจจัยหลายระดับตั้งแต่ทักษะส่วนบุคคล หมายถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหา หรือการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน นอกจากนี้สภาพแวดล้อมในครอบครัว โรงเรียน หรือชุมชนที่มีพื้นที่สุ่มเสี่ยง รวมถึงการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่ล่อแหลมหรือรุนแรง ก็ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่จะกระตุ้นให้ปัญหานั้นพัฒนาสู่ระดับที่รุนแรงได้ นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เราต้องช่วยเพิ่มศักยภาพทักษะชีวิตให้นักศึกษากลุ่มนี้” หมอฝนกล่าว

 

HERO-V เครื่องมือช่วยครูประเมินสุขภาพจิตนักศึกษาทุนฯ

หมอฝนกล่าวต่อไปว่า จากผลสำรวจด้านสุขภาวะของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่เข้าร่วมโครงการในปีแรก ด้วยเครื่องมือชื่อ WHO-5 ซึ่งเป็นแบบประเมินขององค์การอนามัยโลก โดยจัดให้มีการประเมิน 2 ครั้ง คือก่อนเข้าร่วมโครงการ และประเมินซ้ำหลังผ่านการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพจิต พบว่า นักศึกษามีสุขภาวะจิตใจดีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ทางโครงการ ฯ ยังคงเดินหน้าปรับปรุงพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือให้ดียิ่งขึ้นไป โดยได้นำแพลตฟอร์มชื่อ HERO-V เข้ามาช่วยครูในการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยแพลตฟอร์มนี้เป็นช่องทางที่ทำให้ครูเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว และเข้าถึงได้ตลอดเวลา

“ระบบการทำงานของ HERO-V คือครูจะเป็นผู้ส่งแบบสำรวจให้เด็กโดยตรง และเนื่องจากครูจะรู้ถึงรายชื่อ จำนวน และพื้นเพของนักศึกษาแต่ละคนที่ตนดูแล ครูจึงสามารถสำรวจแบบประเมินของเด็กในความดูแลจากผลตอบกลับได้ทันที วิธีนี้ทำให้ครูสังเกตความผิดปกติของนักศึกษาได้เร็วขึ้น เมื่อเด็กประเมินว่าตนเองมีอาการเครียด ไม่สดชื่น ไม่มีความสุข หรือมีปัญหาเรื่องการปรับตัว การจับตามองหรือเข้าไปพูดคุยให้คำปรึกษากับเด็กก็ทำได้เร็วขึ้น”

แพทย์หญิงศุทรา กล่าวสรุปว่า ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงและส่งเสริมทักษะของครูผู้ดูแลให้มีระดับสูงขึ้น เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญและรู้เท่าทันกับปัญหาวัยรุ่นที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีและยุคสมัย อย่างไรก็ตามการทำงานจะต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อประโยชน์ต่อตัวนักเรียนอาชีวศึกษา ให้มีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้นและได้รับความช่วยเหลือทันท่วงที 2.พัฒนาศักยภาพบุคลากรครูและบุคลากรในสถาบันอาชีวศึกษา ให้สามารถจัดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต และให้คำปรึกษานักเรียนได้ และ 3.ถอดบทเรียนและประเมินความคุ้มค่าของการจัดทำโครงการฯ ในระยะยาว

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค