“เราทำงานทางด้านครีเอทีฟ เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้”
ประโยคหนึ่งจาก พอล คอลลาร์ด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้ง Creativity, Culture and Education (CCE) องค์กรที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน
หลังจากที่พอลได้ร่วมงานกับรัฐบาลอังกฤษภายใต้โครงการ Creative Partnerships โดยรัฐบาลอังกฤษขณะนั้นเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล เงินสนับสนุนโครงการจึงถูกยกเลิกไป แต่ถึงอย่างนั้นพอลก็ไม่ล้มเลิกความคิดที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กภายในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย
จากการทำงานและประสบการณ์ เขาพบว่าการจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น เด็กต้องมี 5 ลักษณะนิสัยพื้นฐานคือ อยากรู้อยากเห็น (inquisitive) มีความอดทน (persistent) มีจินตนาการ (imaginative) มีวินัย (disciplined) และการมีส่วนร่วม (collaborative) เมื่อรวมพฤติกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันจึงเกิดเป็นนิยามของคำว่า สร้างสรรค์ ที่ควรมีในโรงเรียน
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เขาสนใจร่วมงานด้วย เพราะมีองค์กรอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีแนวคิดเดียวกับ CCE ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่มีฐานะยากจนให้ดีขึ้น
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะพาไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ในการสร้าง 5 ลักษณะนิสัย เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และตอบคำถามสำคัญว่า ทำไม CCE จึงหยิบประเด็นความคิดสร้างสรรค์มาแก้โจทย์ในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก รวมไปถึงเปลี่ยนวิกฤติ COVID-19 เป็นโอกาสทางการศึกษา
เด็กจำเป็นต้องมี 5 ทักษะ เพื่อสร้างความคิดสร้างสรรค์ CCE ทำงานอย่างไรเพื่อให้เด็กๆ มีทักษะเหล่านั้น
วิธีการที่เราทำคือ คุยกับครูในโรงเรียนนั้นๆ ถามพวกเขาว่าอะไรคือประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดในชีวิต ครูโรงเรียนหนึ่งได้เล่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี (great learning) ที่เขาเจอมาว่า มันคือการที่ครูไม่ให้คำตอบโดยตรง แต่กระตุ้นให้เด็กอยากค้นหาคำตอบนั้นด้วยตัวเอง
การเรียนรู้ที่ดี คือการมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่บนฐานของความจริง ไม่ใช่หลักการที่จับต้องไม่ได้ (abstract concept) การเรียนรู้ที่ดียังเกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วย คือต้องมีอารมณ์ร่วมอยู่ในนั้น และการเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อถูกขับเคลื่อนโดยการตั้งคำถามและการสร้างประสบการณ์ชีวิต
แต่ครูก็บอกอีกว่า พวกเขาไม่ได้ทำแบบนั้นในห้องเรียนนะ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องสอนตามหลักสูตร ผมเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นครูควรหยุดสอนตามหลักสูตร ให้สอนใหม่ตามการเรียนรู้ที่ดีอย่างที่พวกเขากล่าวมา
เมื่อพวกเขากลับไปสอนและนำลักษณะการเรียนรู้ที่ดีนี้ไปปรับใช้กับหลักสูตร เด็กก็เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
อันดับแรก เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น เด็กสนใจในการเรียนมากขึ้น อันดับสอง เด็กเข้าเรียนมากขึ้น ขาดเรียนน้อยลง ยิ่งเมื่อเด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในห้องเรียน ยิ่งทำให้พวกเขาสนุกกับการเรียนมากขึ้น และแน่นอนเด็กที่เข้าโรงเรียนก็จะได้รับความรู้มากกว่าการที่เขาไม่ได้เข้าเรียน อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเด็กนักเรียนกับครูก็ดีขึ้น
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนาการเรียนรู้ได้เช่นกัน
ดังนั้นครูจึงต้องเอาคุณลักษณะการเรียนรู้ที่ดีเข้ามาทำให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น และเมื่อเด็กมีความอยากรู้อยากเห็น มีความอดทน มีจินตนาการ มีวินัย และมีส่วนร่วม ความคิดสร้างสรรค์ก็จะพัฒนาตามไปด้วย
มีนักเรียนมากมายยังเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดี จะพัฒนา 5 ทักษะให้เด็กเหล่านั้นได้อย่างไร?
สิ่งหนึ่งที่เราได้จากงานวิจัยคือ เด็กจากครอบครัวที่ฐานะร่ำรวยจะพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้เมื่อพวกเขาอยู่ที่โรงเรียน ดังนั้นถ้าเด็กยากจนขาดการศึกษา คุณภาพความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขาจึงสำคัญ นั่นก็คือ การมีบทสนทนาที่มีคุณภาพกับเด็กจะช่วยพัฒนาคุณลักษณะทั้ง 5 และพฤติกรรมเหล่านี้ให้กับพวกเขาได้
ยกตัวอย่างได้ไหมว่า บทสนทนาที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร?
การวิจัยชี้ว่า ภาษาที่ผู้ใหญ่ใช้สื่อสารกับเด็ก แบ่งออกเป็น ภาษาทางตรง (administrative language) กับภาษาทางอ้อม (discursive language) ภาษาทางอ้อมจะมีความซับซ้อนและคลุมเครือมากกว่า เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดการค้นหา เช่น ผู้ปกครองคุยกับเด็กเรื่องแสงแดดที่ตกกระทบผ่านใบไม้ลงบนพื้นดินทำให้เด็กรู้สึกอย่างไร
นักวิชาการกล่าวว่า เด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจนจะมีการสื่อสารแบบนี้กับผู้ปกครองน้อยมาก ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองเลย รวมถึงถ้าคุณมีลูกหลายคนและคุณเป็นผู้ปกครองคนเดียว คุณก็มักไม่มีเวลาที่จะพูดเรื่องแสงแดดผ่านใบไม้อะไรแบบนี้หรอก คุณจะมีเวลาเพียงแค่บอกให้พวกเขาไปกินข้าว ไปนอน และนั่นคือการลดคุณภาพปฏิสัมพันธ์ทางภาษา
มีครั้งหนึ่งผมนั่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มีผู้ปกครองกับเด็กเดินดูภาพแล้วคุยกัน บทสนทนานั้นเต็มไปด้วยนัยสำคัญของการพัฒนาเด็ก ผู้ปกครองไม่ได้พูดหรือบอกเด็กไปตรงๆ ว่านี่คือดอกไม้นะ แต่เป็นบทสนทนาที่ถามเด็กว่า คิดว่ายังไง คิดว่ามันใช้ทำอะไร สีแบบนี้เรียกว่าสีอะไร ซึ่งบทสนทนาแบบนี้จะทำให้สมองเด็กเกิดกระบวนการคิด ยิ่งไปกว่านั้นมันคือการสร้างความทรงจำร่วมกันของคนในครอบครัว
ความท้าทายของโรงเรียนคือ ถ้าคุณทำงานกับเด็กที่ไม่มีประสบการณ์แบบนี้ คุณต้องสร้างมันขึ้นมาให้พวกเขา เพื่อก่อให้เกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ โดยการกระตุ้นความคิดในเชิงการสืบค้นและสอนในทางอ้อม ไม่ใช่การบอกความจริงกับเด็กไปทั้งหมดเพื่อให้เขาจำเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นไม่ได้ช่วยพัฒนาความคิดของเด็กอย่างแท้จริง
จากประสบการณ์การเดินทางไปประเทศต่างๆ คุณเห็นการศึกษามาแล้วกี่รูปแบบ?
ระบบการศึกษามีหลายล้านรูปแบบมาก แต่ส่วนใหญ่จะมีแนวคิดที่แคบ (narrow concept) คือให้ความรู้เยอะๆ แก่เด็ก ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาชอบ จากนั้นก็ออกข้อสอบแบบมีหลายๆ คำตอบ (multiple answer) ให้เลือก เพื่อดูว่าเด็กจำสิ่งที่ครูสอนได้หรือไม่ นั่นคือแก่นสารที่ทั่วโลกเรียนกันแบบนี้ ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่แย่มาก
จริงๆ แล้วเด็กควรได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย และนั่นเป็นสิ่งที่ CCE กำลังทำ โดยสนับสนุนให้ห้องเรียนมีความหลากหลายมากขึ้น และถือคติที่ว่า ในวันพรุ่งนี้เด็กจะต้องทำในสิ่งที่ต่างออกไปจากเมื่อวาน เพื่อให้พวกเขารู้สึกท้าทายตลอดเวลา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาคือคนมักมองไปถึงระบบการศึกษาอื่นๆ และพยายามใช้ระบบการศึกษาใหม่ๆ โดยคิดว่าเด็กจะมีความสุขกับระบบใหม่นั้น แต่ในความจริงเราต้องรู้ก่อนว่ายังมีรูปแบบการศึกษาอีกเป็นร้อยๆ ยิ่งครูใช้รูปแบบการสอนได้หลากหลายเท่าไร การสอนก็จะดีขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนที่ดีมีหลายรูปแบบมาก แต่ครูส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้รูปแบบเหล่านั้นอย่างเพียงพอ งานของเราจึงต้องพยายามทำให้ครูได้รับโอกาสเหล่านี้มากขึ้น
ท่ามกลางความหลากหลายในการเรียนการสอน เราควรมีหลักการร่วมในความหลากหลายนั้นอย่างไร?
แน่นอน หลักการร่วมก็คือ การมีวินัยในตัวเอง หลายโรงเรียนให้ความสำคัญแค่การสอนระเบียบวินัยของเด็ก ซึ่งเป็นการสอนเพื่อให้เด็กทำตามสิ่งที่ครูบอก แต่นั่นไม่ใช่วินัยในความหมายของเรา
สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำคือ การพัฒนาระเบียบวินัยในตัวเองให้เด็ก
เด็กแต่ละคนต้องการเรียนในสิ่งที่อยากเรียน และเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน บางคนเก่ง บางคนอาจจะไม่ค่อยเก่ง บางคนมีพ่อแม่ให้คุยเรื่องคณิตศาสตร์ตลอดเวลา อีกคนอาจไม่เคยได้คุยเรื่องพวกนี้เลย ดังนั้นถ้าผมกำลังสอนคณิตศาสตร์ พวกเขาอาจได้รับความรู้ที่แตกต่างกันไป พวกเขาจึงต้องมีวินัยในตัวเองเพื่อที่จะซึมซับและเข้าใจถึงเนื้อหาในห้องเรียนที่พวกเขาต้องการ ซึ่งนั่นถือเป็นทักษะที่เด็กจำเป็นต้องพัฒนา
การมีวินัยในตัวเองจะทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างหลากหลายได้ และครูต้องเป็นคนมอบสิ่งเหล่านั้นให้กับพวกเขา
ความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำส่งผลกระทบอย่างไรกับระบบการศึกษา?
จากสถิติของเด็กในประเทศยากจนจะมีผลการเรียนไม่ค่อยดี ซึ่งเรารู้อยู่แล้ว และจากงานวิจัยของ CCE พบว่าพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กที่อยู่ในประเทศยากจนนั้นมีพัฒนาการที่ไม่ดีด้วย ซึ่งมีความเชื่อมกันอยู่ระหว่างสองสิ่งคือ พฤติกรรมการเรียนรู้ที่ด้อยของเด็ก ทำให้การศึกษาของเด็กด้อยไปด้วย
ผมกังวลมากว่าเด็กที่อยู่ในประเทศยากจน การศึกษามักถูกออกแบบหรือลอกระบบการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่สนใจความต้องการของเด็กในประเทศตัวเอง อย่างเช่นประเทศอังกฤษ คนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษ ดังนั้นเด็กก็ต้องเรียนภาษาตัวเองก่อน แล้วจึงไปเรียนภาษาอื่น ซึ่งถ้าคุณไม่เรียนภาษาตัวเองก่อนแล้วไปเรียนภาษาที่สองก็จะเรียนได้ไม่ดีนัก
การจัดลำดับความสำคัญจึงสำคัญ และนั่นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก พวกเขามักสอนเด็กนักเรียนไม่ถูกทาง พวกเขามักคิดว่าควรนำระบบการศึกษาของยุโรปมาปรับใช้ เพราะเป็นระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จที่สุด จริงอยู่ว่ามันไม่ได้แย่ แต่มันประสบความสำเร็จเฉพาะกับชาวยุโรปเท่านั้น และไม่ได้หมายความว่าจะดีสำหรับทุกประเทศ
ถามว่ากุญแจสำคัญของการศึกษาไทยคืออะไร ก็คือระบบการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเด็กไทย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ควรเรียนรู้จากประเทศอื่น แต่ก็ไม่ควรนำระบบอื่นเข้ามาใช้กับเด็กไทยด้วยเช่นกัน
ในความคิดของคุณ อะไรคือจุดอ่อนและจุดแข็งของการศึกษาไทย แล้วต้องแก้ไขหรือพัฒนาอย่างไร?
เป็นคำถามที่กว้างมาก (หัวเราะ) ผมไปมาไม่กี่โรงเรียนในประเทศไทย เคยไปเยี่ยมชมโรงเรียนมาบ้าง แต่ไม่มากนัก จึงไม่สามารถที่จะพูดครอบคลุมได้ทั้งหมด แต่มีอยู่กิจกรรมหนึ่งที่ได้ทำร่วมกับครูในไทย ผมถามพวกเขาว่าจุดประสงค์ของโรงเรียนคืออะไร แล้วพวกเขาก็ตอบมา 9 ข้อ มีหลายจุดประสงค์มาก แต่อันดับหนึ่งคือ ทำให้เด็กมีความสุข
ผมสังเกตและพบว่าเด็กไทยหลายๆ คนดูผ่อนคลายกันมากที่โรงเรียน เมื่อเทียบกับเด็กออสเตรเลียที่เมืองเพิร์ท เด็กๆ ที่นั่นดูเครียดกันมาก มากจนคุณสามารถสังเกตได้เลย
ผมจึงเกิดคำถามหนึ่งขึ้นมาในหัวคือ เด็กไทยมีความสุขมากไปหรือเปล่า เราควรทำให้พวกเขาเศร้าลงหน่อยไหม หรือต้องให้พวกเขาเรียนมากขึ้นกว่านี้หน่อย (หัวเราะ)
ทักษะทางสังคมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ สำหรับการเรียนรู้ การเรียนรู้เป็นกลุ่ม คือการที่คุณได้ต่อรองกับความเป็นจริง เช่น เมื่อเด็กได้แบบทดสอบหรือโจทย์ให้แก้ปัญหา เด็กในกลุ่มต้องร่วมมือกัน พูดคุยหาทางออกว่าวิธีไหนคือวิธีที่ดีที่สุด และนั่นคือวิธีการเรียนรู้ที่ดี
ผมคิดว่าเด็กไทยค่อนข้างมีทักษะทางสังคม แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ดังนั้นต้องดึงมันออกมา เพื่อให้พวกเขาเกิดการถกเถียงกัน ยิ่งหาข้อตกลงร่วมกันได้ยากเท่าไร ยิ่งจะทำให้พวกเขาได้ใช้ทักษะด้านสังคมมากขึ้น และนั่นจะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาความคิดของพวกเขา
ถ้าเปรียบการศึกษาไทยเป็นสัตว์ สิ่งของ คุณจะเปรียบเป็นอะไร?
ผมคิดว่ามันยากมาก เพราะผมยังไม่เห็นการศึกษาของไทยมากพอ การศึกษาไทยเป็นการผสมผสานของสิ่งที่ซับซ้อนและแตกต่างกัน อย่างการศึกษาไทยของชาวเขาก็แตกต่างจากการศึกษาในกรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง
เราได้มีการฝึกอบรมโรงเรียนชนบทเล็กๆ ของชาวเขา ครูทุกคนเป็นตำรวจที่อาสามาสอน เพราะอาศัยอยู่ที่นั่น ไม่สามารถหาครูที่อยากไปอยู่หรืออยากไปเป็นครูที่นั่นได้ ดังนั้นความท้าทายคือ ตำรวจสี่นายที่ถูกขอให้เป็นครู ซึ่งแตกต่างกับความท้าทายในการเป็นครูที่กรุงเทพฯ
การศึกษาไทยจึงเป็นไปตามสภาพแวดล้อมของไทย นั่นคือ มีความหลากหลาย เหมือนกับสัตว์และสิ่งมีชีวิตหลายล้านชนิดที่อยู่ร่วมกัน แต่คุณต้องระบุชัดเจนให้ได้ว่า ตัวไหนที่คุณกำลังรับมืออยู่ ตัวไหนมีพิษ และตัวไหนอร่อย
จากการระบาดของ COVID-19 คุณใช้ CCE รับมือสถานการณ์นี้อย่างไร?
การระบาดของโรคในครั้งนี้ ทำให้หลายๆ โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนเป็นเวลานาน ครูส่วนใหญ่ต้องสอนออนไลน์ ซึ่งการสอนแบบนี้มันเลวร้ายมาก ครูเพียงแค่โพสต์ชีทเนื้อหาและให้เด็กๆ ดาวน์โหลดมาอ่าน แล้วทำใบงานเท่านั้น
สิ่งที่เราทำส่วนหนึ่งคือ การทำงานร่วมกับครู แนะนำวิธีการสอนออนไลน์แก่พวกเขาด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเน้นความสัมพันธ์ของเด็กกับครู เพราะนี่คือกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการเรียนรู้ แต่คำถามคือ การเรียนออนไลน์คุณจะรักษาความสัมพันธ์นี้ได้อย่างไร หากคุณยังโพสต์ชีทแบบเดิมๆ ก็จะไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ เกิดขึ้นเลย
ตัวอย่างคือ ประเทศนอร์เวย์มีการสอนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมาก ครูใหญ่กล่าวว่า ครูทุกคนต้องมีโทรศัพท์สำหรับสอนออนไลน์แบบตัวต่อตัวเป็นเวลา 10 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในการสอนแต่ละครั้งครูควรถามเด็กๆ ว่า คุณทำอะไรอยู่ ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
การสอนแบบนี้จะทำให้เด็กๆ รู้ว่าความสัมพันธ์กับครู กับโรงเรียนยังคงเหมือนเดิม และยังรู้สึกใกล้ชิดกับโรงเรียนอยู่ เด็กนักเรียนทุกคนทำงานทุกชิ้นตามที่ครูสั่งไป เพราะความสัมพันธ์ยังเหนียวแน่น
พื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์จึงต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบ เพื่อรวมองค์ประกอบทั้งหมดที่จะทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จเข้าไว้ด้วยกัน
การระบาดครั้งใหญ่นี้ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของนักเรียน เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดปกติ เด็กๆ กลับไปเรียน แต่บางคนอาจไม่ได้มีสภาพจิตใจที่ดี พวกเขาไม่ใช่เด็กคนเดิมที่ผ่านการล็อคดาวน์มา แต่พวกเขาเป็นเด็กที่แตกต่างออกไปเพราะมีความสุขน้อยลงและทำลายพลังขีดความสามารถของเด็ก
ดังนั้นครูต้องสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ มีพลังมากขึ้น อนุญาตให้พวกเขาออกแบบการเรียนด้วยตัวเอง กลไกเหล่านี้มีไว้เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตตัวเองและจัดการกับความเป็นอยู่ของตัวเองได้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้อีกครั้ง
การศึกษาที่ดีจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวได้หรือไม่?
เป็นได้หลายวิธี หรืออาจมีบางสถานการณ์ที่ทำให้เด็กยากจนสามารถพัฒนาทักษะเพื่อให้ได้งานที่มีรายได้สูงก็ได้ เพราะโลกเราเป็นโลกที่น่าอัศจรรย์อยู่ตลอด
ทุกวันนี้โลกพัฒนามากขึ้น การใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรก็มีมากขึ้น งานที่ไม่ค่อยจำเป็นหรืองานที่น่าเบื่อก็ถูกเครื่องจักรทดแทนไป คนที่เคยทำงานเหล่านั้นอาจไม่มีงานทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะต้องมุ่งแค่หางานที่มีรายได้สูงหรืองานที่ทำแล้วมีความสุขมากขึ้น
ในโลกสมัยใหม่ งานดีๆ แบบนั้นมีให้สำหรับคนที่มีความคิดที่โดดเด่นที่สุดเท่านั้น เพราะงานที่ดีแบบนั้นมักต้องใช้ความคิดเจ๋งๆ ไอเดียดีๆ ในการสร้างผลงาน
ผมขอยกตัวอย่างจากประเทศไทยก็แล้วกัน ผมเห็นวิดีโอเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงอายุราวๆ 11-12 ขวบ เธอชื่นชอบศิลปะและภาพวาดแบบนามธรรมมากๆ แล้วเธอก็มีความคิดว่าจะสามารถพิมพ์งานศิลปะของตัวเองสำหรับสร้างชุดเดรสได้ ซึ่งก็มีคนสนใจพิมพ์และทำการตลาดให้กับงานศิลปะของเธอ ทำให้เธอประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ตอนนี้เด็กหญิงคนนั้นโตเป็นวัยรุ่นที่มีรายได้ 1,000,000 บาทต่อเดือน จากค่าลิขสิทธิ์การออกแบบของเธอ
สิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนความสามารถเชิงสร้างสรรค์ให้เป็นรายได้ที่แท้จริง คุณไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญาจากมหาวิทยาลัย คุณไม่จำเป็นต้องเป็นทนายความ คุณไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้
ถ้าอย่างนั้นโรงเรียนยังสำคัญอยู่ไหมในยุค Digital Disruption แบบนี้?
ผมคิดว่ามีหลายอย่างหรือหลายวิชามากที่เรายังต้องเรียนในโรงเรียน ทั้งที่จำเป็นต้องรู้และไม่จำเป็นต้องรู้ เช่น คุณได้เรียนสมการกำลังสองไหม คุณอาจได้เรียนและคุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับมันไหม และได้ใช้มันในชีวิตจริงหรือเปล่า บอกได้เลยว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของวิชาคณิตศาสตร์ เปล่าประโยชน์อย่างมากสำหรับคนหลายๆ คน
ในความคิดผมคือ ใช่ คุณต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีในการเรียนรู้ และโรงเรียนควรจะตอบโจทย์เรื่องนี้ แต่ดูสิ่งที่เรากำลังเรียนในโรงเรียนสิ มันมีประโยชน์มาก แต่ประโยชน์สำหรับอะไร
จริงอยู่ว่า การศึกษาสามารถช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าคุณไม่สอนให้เด็กประสบความสำเร็จทางการเงิน ก็เหมือนว่าคุณกำลังหักหลังเขา เพราะพวกเขาอาจมีชีวิตที่จนอย่างนั้นตลอดชีวิต
คุณรู้ว่าเงินไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขได้ทั้งหมด แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณไม่มีความสุขแน่นอน เพราะมันคือองค์ประกอบหนึ่งของการใช้ชีวิต
การสอบ PISA ถือเป็นคำตอบสุดท้ายในฐานะตัวชี้วัดความสำเร็จทางการศึกษาหรือไม่?
เป็นคำถามที่ดีมาก ปัญหาของ PISA สำหรับผมคือมันไม่มีตรรกะในการวัด เราต้องการวัดว่าคนกลุ่มนั้นดีกว่าคนกลุ่มนี้เหรอ และ PISA ก็ไม่ได้ให้คำตอบว่าระบบการศึกษาแบบนั้นหรือแบบนี้ประสบความสำเร็จ
การศึกษาไม่เหมือนกับการรักษาคนป่วย ถ้าคุณป่วย ผมให้ยาคุณ ผมสามารถติดตามอาการคุณได้ ถ้าเทียบกับระบบการศึกษาที่ให้กับเด็ก แล้วดูว่าเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงไปไหมในระบบการศึกษาแบบนี้ๆ แต่อย่าลืมว่าเด็กไม่ได้อยู่ในคลินิก พวกเขาอยู่ในโรงเรียน พวกเขาเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรเยอะมาก ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน ดังนั้นพวกเขาจึงต่างกัน การวัดผลคะแนนอะไรแบบนี้จึงมีปัญหาในรูปแบบระเบียบวิธี ซึ่งผมคิดว่าเราควรให้น้ำหนักกับเรื่องการพัฒนาความสามารถทางการเรียนรู้ของเด็กมากกว่า แล้วค่อยมาถกเถียงกันว่าจะวัดมันด้วยวิธีการอย่างไร