UNICEF เผยแพร่ บทเรียนและแนวทางการเปิดโรงเรียน ในยุควิกฤต COVID-19

UNICEF เผยแพร่ บทเรียนและแนวทางการเปิดโรงเรียน ในยุควิกฤต COVID-19

องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) พร้อมด้วย ธนาคารโลก (World Bank), องค์การอาหารโลก (WFP) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เผยแพร่รายงานบทเรียนและแนวทางการทำงานของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลกในการบริหารจัดการกระบวนการการเปิดโรงเรียน (reopen) ในยุควิกฤตไวรัสโควิด -19 ระบาด

รายงานระบุว่าจนถึงขณะนี้ ระบบการศึกษาทั่วโลกยังคงต้องต่อสู้รับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดโรงเรียนให้เด็กนักเรียนได้กลับมาเรียนอีกครั้ง ว่าควรจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร 

แน่นอนว่า การปิดโรงเรียนเป็นทางเลือกภาคบังคับที่แทบทุกประเทศทั่วโลกนำมาใช้เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ระยะเวลาของการปิดโรงเรียนที่กินเวลายาวนานจากหลายสัปดาห์ เป็นหลายเดือน และเกือบร่วมปี ได้แสดงให้เห็นผลกระทบทางลบอย่างชัดเจนต่อเด็กนักเรียน ทั้งในแง่ของสุขภาพ การศึกษา การพัฒนา รายได้ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ โดยรวม

รายงานของ UNICEF ระบุชัดว่า จากประสบการณ์ของบรรดาประเทศรายได้สูงแสดงให้เห็นว่ามาตรการการเปิดโรงเรียน ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการติดเชื้อภายในพื้นที่ หรือหากกล่าวให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นก็คือ ไม่พบอัตราการติดเชื้อระหว่างเด็กด้วยกันเองและเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ในโรงเรียนประถมที่เปิดโรงเรียนในขณะที่พื้นที่นั้นยังมีรายงานการแพร่ระบาด 

กระนั้น เพื่อเป็นการไม่ประมาท เงื่อนไขในการเปิดโรงเรียนให้กลับมาให้บริการอีกครั้งนั้น มีหลักการร่วมกันอยู่ 2 ประการก็คือ 1) พื้นที่นั้นต้องมีอัตราการระบาดที่อยู่ในระดับต่ำ หรือเบาบางลงแล้ว และ 2) ต้องมีการบังคับใช้มาตรการด้านสุขอนามัย (ล้างมือ, สวมหน้ากากอนามัย, เว้นระยะห่าง) อย่างเคร่งครัด

ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานพิสูจน์จากทั่วโลกยังระบุว่า การติดเชื้อในเด็กอยู่ในระดับต่ำ และแนวโน้มความเสี่ยงของการติดเชื้อจะเพิ่มสูงมากขึ้นตามอายุ ดังนั้น เด็กจึงไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายอย่างที่ใครหลายคนหวาดหวั่น

และที่สำคัญที่สุด ความเสี่ยงของเชื้อที่จะแพร่กระจายเพราะการเปิดโรงเรียน สืบเนื่องมาจากกระบวนการบริหารจัดการของสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การกระจายความแออัดภายในห้องเรียน การขาดอุปกรณ์ทำความสะอาดมือ บริการรับ-ส่งนักเรียนที่หนาแน่น และการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา ตลอดจนภูมิหลังครอบครัวของเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ยากจนที่ครอบครัวมักจะเป็นครอบครัวใหญ่

แนวทางการทำงานเพื่อการเปิดโรงเรียน ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ UNICEF, UNESCO, the World Bank, the World Food Programme, และ the UN Refugee Agency (UNHCR) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นหลักการปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม และเป็นคู่มือสำคัญให้หลายๆ ประเทศสามารถเปิดเรียนได้อย่างมั่นใจ พร้อมหยิบยกประเทศที่นำแนวทางมาตรการแต่ละข้อไปปฎิบัติใช้จนเห็นได้อย่างชัดเจน

สำหรับแนวทางการทำงานเพื่อการเปิดสถานศึกษาจะประกอบด้วย 4 ด้านหลักๆ คือ 1) การปฎิบัติการเพื่อความปลอดภัย 2) การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ 3) การป้องกันสุขภาพ และ 4) การเข้าถึงเด็กชายขอบของสังคมอย่างทั่วถึง

โดย UNICEF เชื่อว่า การแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลบทเรียนการเปิดโรงเรียนของแต่ละประเทศในครั้งนี้จะช่วยให้บรรดานานาประเทศสามารถวางแผนเปิดโรงเรียนได้อย่างดี เพิ่มโอกาสที่จะยกระดับแนวทางปฎิบัติที่จะทำให้ประสบความสำเร็จและทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนที่จะกลับมาเรียนได้ทุกคน

ในส่วนของประเทศไทย ภายใต้การทุ่มเททำงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ผลักดันให้มีการเปิดโรงเรียนทั่วประเทศอีกครั้ง ทางยูนิเซฟระบุว่า การจัดสรรทุนการศึกษาเพิ่มเติม โดยกำหนดเจาะจงกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนและชุมชนที่จะได้รับการศึกษานั้น ถือเป็นตัวอย่างดีที่ช่วยให้การเปิดโรงรียนในยุคโควิด-19 ดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น และควรที่ประเทศอื่นๆ จะศึกษานำมาเป็นแบบอย่าง 

โดยรายงานสรุปของยูนิเซฟระบุว่า กสศ.ของไทย ได้เพิ่มจำนวนโรงเรียนเพื่อให้สามารถจัดสรรทุนให้กับเด็กนักเรียนประถมยากจนพิเศษ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาต่อการเข้าถึงการศึกษา หรือเข้าร่วมเรียน จนเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นการถาวร เกือบ 1 ล้านคนทั่วประเทศ

ขณะที่ มาตรการที่หลายประเทศส่วนใหญ่นำมาใช้ก็คือการปรับตารางการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์กับการเดินทางมาเรียนที่ห้องเรียน การเพิ่มบริการด้านโภชนาการและสุขอนามัยให้แก่เด็กเรียน จัดสรรโครงการพิเศษสำหรับเด็กที่ต้องเตรียมสอบ ติดตามและให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น เด็กหญิง และเด็กยากจน ยกเลิกการสอบที่ไม่สำคัญ หรือเลื่อนออกไป รวมถึงหาช่องทางในการสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน สนับสนุนการทำงานของครู ตลอดจนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป

 

ที่มา : Supplement to Framework for reopening schools: Emerging lessons from country experiences in managing the process of reopening schools