ทันทีที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนงานการศึกษาของประเทศ โดยหนึ่งประเด็นเร่งด่วน คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ กล่าวยอมรับว่า เรายังมีความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่ต่างๆ อยู่ จะเห็นได้จากกรณีของ “ครูโอ้น” หรือครูสมไชย กระต่ายทอง คุณครูโรงเรียนวัดเขาวัง (แสง ช่วงสุวนิช) จ.ราชบุรี ซึ่งตนรู้ สึกชื่นชมคุณครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู มอบความรัก ความปรารถนาดี ซื้อคอมพิว เตอร์ให้นักเรียนที่ขาดแคลน เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนและหารายได้ระหว่างเรียน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังเร่งลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและด้านคุณภาพ
“ดิฉันไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ อีกทั้งเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ การส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบออนไลน์ ก็เป็น 1 ในนโยบายการจัดการศึกษา 12 ข้อที่ดิฉันได้แถลงไว้ ซึ่งในส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ดูแลจัดสรรให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี ดังนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาดู ทั้งเรื่องของคอมพิวเตอร์ ระบบไวไฟ (Wi-Fi) อินเทอร์เน็ต เน็ตเวิร์ก ซอฟต์แวร์ ตลอดจนความพร้อมของครู เพื่อเดินหน้านโยบายดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้” รมว.ศธ. กล่าว
พร้อมกันนั้น น.ส.ตรีนุช ได้โพสต์ข้อความลงในเพจ “ตรีนุช เทียนทอง” เพื่อถ่ายทอดมุมมองแนวคิดพัฒนาระบบการศึกษาไทยอีกครั้ง โดยนำเสนอในหัวข้อ “ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หนึ่งเป้าหมาย หลายมุมมอง “ มีเนื้อหาดังนี้
ก่อนอื่น ดิฉันต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ส่งความคิดเห็น ข้อติชม ผ่านช่องทางต่าง ๆ เข้ามาให้ดิฉันได้อ่าน และทำความเข้าใจต่อเรื่องราวของครูโอ้น ซึ่งดิฉันได้มีโอกาสแชร์เรื่องราวของท่านเมื่อวานก่อน มีอยู่หลายคอมเม้นต์ที่ดิฉันอ่านแล้วและรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ที่จะหยิบเอามาพูดคุย ต่อยอด เพื่อที่จะหาแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขระบบการศึกษาของบ้านเรา ในการลดช่องโหว่ของการพัฒนา ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
เดิมดิฉันมีเจตนาที่ต้องการแต่เพียงที่จะมอบกำลังใจ สำหรับคุณครูที่ทำความดี มีจิตสาธารณะ แม้จะต้องสละความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตไปบ้าง แต่ก็ทำเพื่อหวังให้ลูกศิษย์ของตนได้มีโอกาสทัดเทียมกับน้อง ๆ นักเรียนคนอื่น ๆ หากนั่น ก็ทำให้ดิฉันตกผลึกได้ว่า เหรียญอีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ‘คำถาม’ ที่มีกลับมายังนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ว่า เราปล่อยให้มีความขาดแคลนเช่นนี้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ และครูของเราได้อย่างไร?
และนั่นไม่รวมถึงว่า เมื่อมองในภาพใหญ่แล้ว เรายังมีโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่ยังคงประสบปัญหาอย่างเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ครูโอ้นและน้องนักเรียนคนดังกล่าวอีกเท่าไหร่ในประเทศไทยของเรา
ดิฉันต้องขออภัยหากสิ่งที่ดิฉันได้สื่อออกไปแล้ว ทำให้ผู้อ่านหลายท่านมองว่าเป็นการ ‘romanticize’ สิ่งที่ควรถูกมองว่าเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และจะทบทวนทั้งวิธีคิด วิธีการสื่อสาร ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ใหม่ เพื่อไม่ให้ภาพของน้ำใจและการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลายเป็นการปิดบังหรือกดทับ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ที่ซ่อนอยู่ในระบบการศึกษา
และจะขอใช้โอกาสนึ้ในการตระหนัก และเน้นย้ำถึงหนึ่งในนโยบายที่ดิฉันได้เคยแถลงไว้ นั่นคือ ‘การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ การส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบออนไลน์’ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีประเด็นความเหลื่อมล้ำให้ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะวันนี้ เรื่องของเทคโนโลยี เป็นได้ทั้งเครื่องลด และเพิ่มความเหลื่อมล้ำได้ในเวลาเดียวกัน
การพัฒนาแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ไปจนถึงการสร้างผู้เรียนให้มีความเชี่ยวชาญในทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีโครงข่ายสัญญาณ (Digital Infrastructure) อุปกรณ์การเรียน ที่มีความพร้อม และครอบคลุมให้กับคุณครู และเด็กไทยทุกคน
ชื่อว่าความเหลื่อมล้ำแล้ว คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร มีมุมมองต่อระบบการศึกษาไทยอย่างไร หากท่านเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์สำคัญที่ดิฉันและกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเอาจริง และให้ความสำคัญอย่างสูงสุดแล้ว