คำถามสำคัญที่คนในแวดวงการศึกษากำลังช่วยกันขบคิดเวลานี้คือ เราจะเตรียมความพร้อมให้เด็กของเราอย่างไรสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยความผันผวน เมื่อความรู้ และ ทักษะในอดีตหลายเรื่องกำลังกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไม่ตอบโจทย์อนาคต การจะวางรากฐานสำคัญให้กับเด็กๆ ให้เข้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุขจะต้องมีกระบวนการอย่างไร
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ Bookscape ชวนบุคลากรทางการศึกษามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง ถอดบทเรียนผ่านหนังสือ Prepared What Kid Need for a Fulfilled Life โดย Diane Tavenner ผู้ก่อตั้งโรงเรียนในเครือซัมมิท ซึ่งมีแนวทางการเตรียมความพร้อมเด็กทั้งการเข้าสู่มหาวิทยาลัยและทักษะ พร้อมรับมือในโลกการทำงานในอนาคต
นิสา แก้วแกมทอง รักษาการ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. กล่าวว่า ส่วนที่ประทับใจในหนังสือเล่มนี้มีหลายเรื่องโดยเฉพาะการทำโครงงานที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ซึ่งอยากให้น้องๆ ในปัจจุบันได้รับความรู้ในลักษณะนี้บ้าง ซึ่งอาจจะมาออกแบบรายละเอียด การทำงานโครงงานที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเด็กๆ ที่เขามีศูนย์เรียนรู้ชุมชน มีดิจิตอลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะต้องมีโค้ชมาช่วยออกแบบให้เขา มีระบบพี่เลี้ยง ที่เข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้ง และมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้
“สิ่งที่สำคัญคือการทำให้เด็กได้ลองคิด ลองทำ แต่ที่ผ่านมาสำหรับเด็กบางคนเขายังไม่กล้าที่จะฝันในสิ่งที่เขาอยากเป็น หลายคนคิดไม่ออกว่าจะเป็นอะไร ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ดังนั้น การให้โอกาสเขาได้ฝัน ได้คิดลองทำ มีทางเลือกที่หลากหลาย มีหนทางทำให้เขามีความพร้อม เห็นทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้ชัดเจนโรงเรียนต้องมีสิ่งเหล่านี้ ไม่ต้องขวนขวายออกไปหาข้านอก เราน่าจะมีระบบนิเวศน์เอื้อกับสิ่งเหล่านี้มีแซนด์บอกซ์ให้เขาได้ลองผิดลองถูกว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร”
นิสา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่าสัดส่วนเด็กที่ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นจะลดน้อยลง และมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูง กับรายได้น้อย ซึ่งการที่เด็กไม่เรียนต่อส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กไม่โอเคในระบบและออกจากระบบการศึกษาไป เราจะทำอย่างไรที่จะนำการศึกษาไปสู่เด็กกลุ่มนี้ เพราะบางคนออกไปอยู่ในชุมชน ไปทำงาน บางคนหวุดหวิดจะไปอยู่ในวงจรไม่ดี ดังนั้นเราน่าจะสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนแต่อาจจะรวมไปถึงการเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การประกอบอาชีพ โดยยึดโยงกับชุมชน ให้เขาเห็นประโยชน์และกลับมาพัฒนาชุมชน อีกทั้งเรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของครู โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นเรื่องของภาคี ภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กทั้งครอบครัวชุมชน ภาคเอกชนที่จะต้องร่วมกันพัฒนาให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า โลกในอนาคตเป็นโลกของความร่วมมือไม่ใช่โลกของการแข่งขันหรือทำลายกันเพื่อให้เป็นที่หนึ่ง โดยในหนังสือจะมีการอธิบายถึงการทำงาน 16 ขั้นตอน และนักวิชาการ นักการศึกษาจะสามารถนำมาปฏิบัติเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาตัวเองเพื่อไปสู่จุดหมาย ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือครูไดแอนได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียน รู้ความเป็นอยู่ รู้ว่าทางครอบครัวมีเศรษฐานะอย่างไร เมื่อเด็กกำลังจะหลุดจากระบบการศึกษา ครูจะต้องลงไปขับเคลื่อนอย่างไร หน้าที่ครูไม่ใช่แค่สอนแต่ต้องสร้างพลังเชื่อมกับครอบครัว รวมทั้งการสร้างทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญสมรรถนะที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนครูต้องรู้ว่าเด็กเก่งอะไร จะแค่สอนไม่ได้อีกต่อไป ต้องเป็นโค้ชให้เด็ก ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ผ่านมามีเด็กนอกระบบ 4.3 แสนคน หลังจากเหตุการณ์โควิดมีเด็กเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบอีก 3 แสนคนปัจจัยที่ผลักเด็กหลุดจากระบบการศึกษาคือความไม่เท่าเทียม บางส่วนมาจากสุขภาพกายใจ ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ ปากท้อง ที่ทำให้เด็กเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ใจวงจรชีวิตที่ไม่เหมาะสม กุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาอยู่ที่การกระจายอำนาจ ผ่องถ่ายอำนาจไปยังพื้นที่ที่ทำได้ดีกว่าส่วนกลาง
ครูสอญอ-สัญญา มัครินทร์ ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เด็กในจ.ขอนแก่นเข้าถึงโอกาสแตกต่างจากเด็กในกทม. แม้แต่ในตัวเมืองขอนแก่นเอง ก็มีทั้งโรงเรียนขยายโอกาส และ โรงเรียนใหญ่ในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำ บางโรงเรียนแค่นักเรียนมาเรียนครบก็เป็นเรื่องอัศจรรย์เพราะหลายคนมีปัญหาเรื่องรายได้ หลายรายเป็นคนจนเมือง เข้าถึงโทรศัพท์มือถือแต่ไม่มีเงินเติมอินเตอร์เน็ต ขณะที่เน็ตประชารัฐก็ไม่พร้อม นอกจากความเหลื่อมล้ำก็ยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับครู เบื่อการเรียนการสอน ทำให้เด็กไม่อยากมาเรียน
บทบาทของครูในระบบการศึกษาควรรู้ว่านักเรียน “พร้อม” ตรงไหน “พร่อง” ตรงไหน ครูก็จะได้เติมเสริมในสิ่งที่พร้อมและพร่องอย่างถูกต้องเหมาะสม ในหนังสือจะมีการใช้ระบบ SMART ที่มีการประเมิผลได้จริง มีกรอบเวลาชัดเจน ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมาย วิธีการเรียนรู้ และสิ่งที่เรายังขาดมากคือระบบพี่เลี้ยง และ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก โดยครูจะต้องเริ่มจากการสร้างสัมพันธ์ที่ดี เป็นฐานนำไปสู่การรับฟัง ไว้ใจ และเห็นว่าครูเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะเข้ามาหาได้ สิ่งสำคัญคือการให้อำนาจครูได้ออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอนด้วย
บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา แรปเปอร์จาก Klongtoey Crew กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาของการศึกษาไทยคือไม่เอื้อให้เด็กได้ทำตามความฝัน เขาไม่สามารถมีตัวเลือกได้ว่าโตขึ้นไปจะเป็นอะไรได้บ้าง การศึกษาล็อกเด็กให้อยู่ในเส้นทางเดียว เลือกไม่ได้ว่าจะเป็นอะไร อีกทั้งการที่ทำให้ตัวเองมีค่าไม่ต้องอยู่ที่โรงเรียนก็ได้ สามารถศึกษาได้จากสิ่งรอบตัว ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน นอกจากนี้การออกแบบการศึกษายังมาจากกระทรวงไม่ได้ให้นักเรียนช่วยออกแบบเพื่อที่จะทำให้เขาสามารถคิดเองได้ว่าควรจะเรียนไปในทิศทางไหน จนหลายคนเรียนแบบไม่มีจุดหมาย ไม่เห็นอนาคตตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จากรูปแบบของโรงเรียนในเครือซัมมิท ที่อยากให้นำมาปรับใช้ในประเทศไทยคือการให้นักเรียนออกแบบการเรียนการสอน เช่น สามารถเลือกได้ว่าวันหนึ่ง 7 ชม. เขาอยากเรียนอะไรก็เลือกได้เช่นอยากเรียนคณิตศาสตร์ 7 ชม. ก็เลือกได้เลย เพื่อพัฒนาสิ่งที่เขาต้องการรู้ และควรมีพื้นที่ให้เด็ก เพราะตอนนี้เวทีส่วนใหญ่เป็นเวทีวิชาการ ไม่ใช่เวทีกิจกรรม ซึ่งคงไม่มีใครคิดเลขเก่งอย่างเดียว ต้องมีนักร้อง นักฟุตบอล ทำให้เขามีค่าในตัวเอง ไม่เช่นนั้นเขาก็อาจจะอยากออกมาเรียนที่บ้านดีกว่า ซึ่งมีอะไรอีกมากให้ศึกษาจากออนไลน์
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค