เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Korea Herald ของเกาหลีใต้รายงานว่า นอกจากการจัดเตรียมชุดอุปกรณ์ตรวจการติดเชื้อด้วยตนเองให้กับทางโรงเรียนแล้ว ทางสำนักงานการศึกษาแห่งกรุงโซลยังจะจัดเตรียมบริการตรวจสอบการติดเชื้อให้อีกทางหนึ่งด้วย ตามข้อเสนอของ โอ เซ-ฮุน (Oh Se-hoon) ผู้ว่ากรุงโซลที่ต้องการจำกัดการระบาดด้วยมาตรการที่เชิงรุกที่เด็ดขาดมากขึ้น
ด้าน โช ฮี-ยอน (Cho Hee-Yeon) หัวหน้าสำนักงานด้านการศึกษาแห่งกรุงโซล เปิดเผยแผนดังกล่าวระหว่างการประชุมกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นในกรุงโซลมีเป้าหมายให้ทุกคนได้คลายความวิตกกังวลว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่แพร่เชื้อด้วยการให้ครูและนักเรียนได้รับการตรวจ PCR (ซึ่งเป็นการทดสอบการติดเชื้อโควิด-19) ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
สำหรับการแจกจ่ายชุดอุปกรณ์ทดสอบการติดเชื้อด้วยตนเองนี้ เบื้องต้นทางการจะแจกจ่ายให้กับโรงเรียนที่มีหอพักให้นักเรียนมากกว่า 100 คนขึ้นไป หรือเป็นโรงเรียนกีฬา เป็นหลักก่อน
ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานการศึกษาแห่งกรุงโซลจะยกระดับการตรวจสอบตามโรงเรียนกวดวิชาที่ซึ่งยังมีรายงานของกลุ่มผู้ติดเชื้อระบาดอยู่ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนมีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างน้อย 10 คน ที่โรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงโซล ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนกวดวิชาดังกล่าวกว่า 2,100 คนมีผลทดสอบเป็นลบ แต่ก็ทำให้ทางการต้องสั่งปิดโรงเรียนเป็นเวลา 3 วัน
ส่วนสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ รายงานว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกใหม่ โดยพบจำนวนการระบาดเกิดขึ้นที่โรงเรียนตั้งแต่มีการเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางกระแสเรียกร้องของหลายองค์กรที่ต้องการให้ทางรัฐบาลเสริมมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ครูและนักเรียนได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติอีกครั้ง หลังผลการสำรวจล่าสุดพบว่าการเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ช่องว่างความสำเร็จระหว่างนักเรียนเกาหลใต้ระดับหัวกะทิกับนักเรียนทั่วไปยิ่งกว้างห่างกันมากขึ้น
ทั้งนี้ สถาบัน Seoul Education Research and Information Institute ผู้จัดทำการสำรวจวิจัยชิ้นนี้ได้สำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 382 คนทั่วกรุงโซล จนพบกว่า ระยะห่างระหว่างนักเรียนในกลุ่ม B ที่ทำคะแนนสอบในวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี และคณิตศาสตร์มากกว่า 80% กับนักเรียนในกลุ่ม D ที่ทำคะแนนในวิชาดังกล่าวได้ระหว่าง 60 – 69% เพิ่มมากขึ้นและในอัตราที่รวดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนหน้าการระบาด ดังนั้นนอกจากเสนอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งยกระดับพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์และเพิ่มช่องทางให้ครูกับนักเรียนได้มีปฎิสัมพันธ์กันมากขึ้นแล้ว ก็เป็นการดีกว่าที่รัฐบาลจะดำเนินมาตรการให้เด็กนักเรียนเกิดความเชื่อมั่นที่จะกลับมาเรียนที่โรงเรียนให้เร็วที่สุด
ที่มา :