“เราพบว่าที่ผ่านมาการจัดการศึกษาส่วนใหญ่สำหรับกลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบ จะตั้งกรอบตามความต้องการของผู้ใหญ่ แล้วพยายามขีดเส้นทางให้เขาเรียนรู้ตามเป้าที่วางไว้ สุดท้ายปลายทางผลที่ได้รับกลับมาจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เราจึงพลิกโจทย์การจัดการเรียนรู้ โดยมุ่งค้นหาเข้าไปข้างในตัวของกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากสิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เขาถนัด แล้วค่อยเข้าไปเสริมหนุน กลายเป็นว่าวิธีการนี้ช่วยขับเคลื่อนพลังและศักยภาพภายในตัวผู้เรียนได้ดี เด็กๆ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เหมือนกับเราได้เติมเต็มช่องว่างในใจเขา เพราะเกือบทุกคนสะท้อนกลับมาว่า ‘เขาไม่เคยได้รับโอกาสแบบนี้มาก่อนเลย’ ”
“แม่นิ่ม” ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน กล่าวถึงการทำงานกับน้องๆ เยาวชนนอกระบบ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการจัดการศึกษาทางเลือกในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่เขต 1 จังหวัดระยอง เขต 2 จังหวัดราชบุรี และเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา บ้านอุเบกขา และ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี โดยมีเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายกว่า 800 คน
ด้วยพื้นฐานของการเป็นคุณแม่โฮมสกูลที่จัดการศึกษาให้ลูกด้วยตัวเองจนเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ประกอบกับประสบการณ์ที่คลุกคลีในกลุ่มเครือข่ายการศึกษาทางเลือกอย่างเข้มข้น จนได้เข้ามาทำงานวิจัยเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ แม่นิ่มพบว่า มีเด็กเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากการศึกษาในระบบมานาน โดยหลายคนผ่านประสบการณ์การทำงานหรือมีทักษะบางอย่างที่น่าสนใจ ขณะที่การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายกลับมีเพียงรูปแบบเดียว คือการเรียน กศน. ซึ่งไม่ตอบโจทย์สำหรับเยาวชนที่อายุเริ่มเยอะ และร้างลาจากระบบการศึกษามาแล้วหลายปี
“เราคิดว่าการศึกษาทางเลือกน่าจะช่วยดึงสิ่งที่เขามีอยู่ในตัวมาต่อยอดได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดถึงคือ น้องๆ ส่วนใหญ่มีเวลาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เพียงสั้นๆ การจะต่อยอดการศึกษาตามระดับชั้นหรือตามช่วงวัยจะมีอุปสรรคทั้งในเรื่องความต่อเนื่องและระยะเวลาที่ต้องใช้ การเข้ามาทำงานกับ กสศ. ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา เราจึงเสนอให้จัดการศึกษาทางเลือกที่เปิดกว้างให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจหรือมีพื้นฐานอยู่แล้ว”
เรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานและต่อยอดเป็นอาชีพได้ตามความสนใจ
แม่นิ่มกล่าวว่า การขับเคลื่อนการเรียนรู้ของน้องๆ ในศูนย์ฝึกฯ จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ มุ่งพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพตามความสนใจและความถนัด ส่วนกลุ่มที่สองคือจัดการศึกษาทางเลือกที่เริ่มต้นจากพื้นฐาน
“อย่างที่บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหน ถ้าเขามีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องที่สนใจ แววตาของเขาจะเปล่งประกายความอยากรู้อยากเรียน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เราพบส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น คือพอมีพื้นที่เปิดให้ น้องๆ กลุ่มนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเขาเรียนรู้ได้เร็วมาก”
การเรียนรู้จะใช้ “กิจกรรมเป็นฐาน” (Activity Base Learning) โดยเริ่มจากขั้นตอนสำรวจความสนใจและความต้องการของน้องๆ หมายถึง ค้นหาสิ่งที่เป็นแรงขับภายในให้พบ นำมาเป็นตัวตั้ง แล้วจัดระเบียบตกแต่งความคิดตั้งต้นจากความเห็นของบุคลากรในศูนย์ฝึก จนได้รูปแบบที่เหมาะสม
“สองเป้าหมายที่โครงการต้องไปให้ถึงคือ หนึ่ง เสริมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อศึกษาต่อและมีงานทำ กับสองคือ ทำงานร่วมกับศูนย์ฝึกฯ ในแต่ละพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมในระยะยาว เพื่อให้ครูในศูนย์ฝึกฯ ดำเนินงานต่อเนื่องไปได้
“เราพบว่าการเปิดกว้างทางความคิด ให้เด็กมีโอกาสแสดงความคิดเห็น นำเสนอสิ่งที่เขาอยากรู้อยากเรียนก่อน แล้วจึงวางแผนจัดกิจกรรมขึ้นมาส่งเสริมรองรับ ทำให้ได้ผลตอบรับที่ดีมาก มันเหมือนว่าพอเขาได้ทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ เราจะเห็นบรรยากาศการเรียนรู้ทำกิจกรรมอย่างมีความสุข มีสมาธิ มีวินัย หลายคนค่อยๆ เผยพื้นฐานทักษะที่เขามีอยู่ภายในออกมา
“สำหรับกิจกรรมส่วนใหญ่ที่น้องๆ ให้ความสนใจ แบ่งได้เป็นกลุ่มที่มีทักษะพื้นฐานงานช่างมาก่อน เขาก็อยากจะต่อยอดให้ไปสู่เส้นทางสายอาชีพ เช่นเดียวกับพวกที่สนใจเกี่ยวกับการทำอาหาร ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ชัดเจนในทีแรก แต่เมื่อได้รับการปรับพื้นฐานทัศนคติ ได้อบรมเกี่ยวเรื่องราวของอาชีพต่างๆ ในโลกยุคใหม่ พัฒนาการด้านความคิดของพวกเขาจะค่อยๆ เติบโตขึ้น บางคนสนใจการเป็นยูทูบเบอร์ หรือการทำงานกับแอปพลิเคชันส่งของออนไลน์เจ้าต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยม”
ถอดประสบการณ์เดิมมาเทียบการเรียนรู้วิชาในระบบ
ครูนิ่มกล่าวว่า มีน้องๆ กลุ่มหนึ่งที่เลือกลงทะเบียนในหลักสูตรการศึกษาทางเลือก เพื่อต้องการวุฒิการศึกษา จึงมีการออกแบบกระบวนการที่ใช้วิธีถอดประสบการณ์ของน้องๆ ที่พวกเขาเคยผ่านงานต่างๆ มาก่อน เช่น ขายเสื้อผ้าออนไลน์ หรือจับปลาขาย โดยชุดประสบการณ์เหล่านี้จะถูกถอดออกมาเทียบเคียงกับคุณภาพการเรียนรู้ตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนครอบคลุมคุณภาพการศึกษาที่เทียบเคียงกับระดับชั้นใดชั้นหนึ่งได้
“ตัวอย่างเช่น เรานำพื้นฐานประสบการณ์ที่เขามีมาถอดจนได้เท่ากับการเทียบเคียงวุฒิ ป.6 แล้วจึงค่อยเติมเต็มส่วนที่ขาดผ่านกิจกรรมเสริมทักษะซึ่งเทียบได้กับระดับ ม.ต้น นี่คือสิ่งที่เราเปลี่ยนวิธีคิด ให้เด็กเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลุดจากกรอบคิดที่ว่าการศึกษาคือเรื่องของการเข้าไปนั่งในชั้นเรียนเท่านั้น”
เมื่อเด็กให้โอกาสตัวเองแล้ว สังคมต้องให้โอกาสเขาด้วย
ด้วยวิธีจัดการเรียนรู้จากภายใน โครงการที่แม่นิ่มได้เข้าไปทำร่วมกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในหลายพื้นที่ จึงให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญคือ เด็กจะได้เตรียมความพร้อมก่อนกลับเข้าสู่สังคม ในพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัย ขณะที่ครูและวิทยากรสามารถเข้าถึงจิตใจของน้องๆ ได้จากการทำกิจกรรม
“เนื่องจากเขาขาดพื้นที่เรียนรู้มาก่อน ดังนั้นเมื่อมีกระบวนการที่จัดขึ้นตามความสนใจ เขาจึงแสดงความกระตือรือร้นออกมามาก แล้วจะถามเสมอว่าเมื่อไหร่เราจะเข้าไปทำกิจกรรมอีก คำถามนี้ก็จุดประกายให้เราเชื่อว่าเดินมาถูกทาง เราได้เห็นเด็กมีความสุขกับพื้นที่ตรงนี้ มีความภาคภูมิใจกับชิ้นงานที่เขาได้ทำ แล้วตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป นั่นทำให้เราย้อนมามองว่าจะต่อยอดจากตรงนี้ไปได้อย่างไร หมายถึงนอกจากการทำงานร่วมกับศูนย์ฝึกฯ แล้ว เรายังมีโจทย์ต่อเนื่องในการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้พวกเขาด้วย เป็นการทำทั้งภายนอกและภายในไปพร้อมกัน”
เพราะอย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาน้องๆ เยาวชนนอกระบบในด้านทัศนคติการเรียนและการทำงาน รวมถึงพัฒนาความสามารถเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพ จะไม่นับว่าได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากพื้นที่ข้างนอกยังไม่พร้อมรองรับ โดยแม่นิ่มทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อพ้นจากพื้นที่โครงการ เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีพื้นที่เติบโตทางสังคม เพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มีโอกาสทางการศึกษา มีงานทำ ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่สังคมจะต้องเปิดพื้นที่และโอกาส ให้เขามีกำลังใจที่จะปรับตัวปรับใจจากประสบการณ์ไม่ดีที่ผ่านพ้นไปแล้วได้สำเร็จ