หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของกิจกรรม ปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่จบการศึกษาเป็นรุ่นแรก จำนวน 1,106 คน คือ กิจกรรมนำเสนอผลงานที่น้องๆ แต่ละคนร่วมกันออกแบบ และประดิษฐ์ ตามความถนัดและสนใจ ซึ่งสอดรับตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่
สำหรับผลงานของน้องๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พื้นที่ภาคใต้ มีสองวิทยาลัยที่เข้ามานำเสนอผลงาน คือ วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก จ.กระบี่ และ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี
หลายชิ้นงาน เกิดจากการคิดค้น ทดลอง และสามารถนำไปใช้งานได้จริง ในขณะที่อีกหลายชิ้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ยังสามารถ พัฒนาปรับปรุง เพื่อยกระดับไปสู่สิ่งประดิษฐ์ที่นอกจากใช้งานได้จริงแล้ว ยังอาจสามารถวางขาย สร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้อีกด้วย
แต่เป้าหมายสำคัญของการผลิตผลงานนี้คือการกระตุ้นน้องๆ ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ วางแผน เชื่อมโยงความรู้กับการปฏิบัติงานจริงที่ตอบโจทย์ ความต้องการของพื้นที่ ซึ่งจะเป็นความรู้และทักษะที่ติดตัวนำไปใช้ในอนาคตต่อไป
ปลาดุกอุยเป็นปลาที่ชาวบ้านนิยมนำมาเลี้ยงเพราะมีผลผลิตสูงต่อพื้นที่ และสามารถเลี้ยงในพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด แต่ข้อจำกัดในการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ คือไม่สามารถดูดซับสิ่งขับถ่ายของเสียและตะกอนได้ ทำให้น้ำในบ่อเสียเร็วและเป็นอันตรายต่อปลา อีกทั้งการต้องถ่ายน้ำเป็นประจำย่อมทำให้เกิดการสิ้นเปลือง
ทางกลุ่มนักศึกษาจึงคิดค้นอุปกรณ์ Secptic Tank เพื่อกรองตะกอนและบำบัดน้ำเสียจากบ่อซีเมนต์เลี้ยงปลา โดยทดลองออกแบบและหาวัสดุกรองที่มีประสิทธิภาพในการกรอง เร่ิมจากการออกแบบจากถังพลาสติก ใส่อุปกรณ์กรองเจาะรูต่อท่อน้ำออกด้านล่าง เมื่อน้ำไหลเข้าจากด้านบนผ่านอุปกรณ์กรองก็จะไหลออกด้านล่างกลับลงบ่อ
ผลที่ได้ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นจากเดิมที่เคยต้องเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน สามารถขยายเวลาเป็นเปลี่ยนน้ำทุก 15 วัน ในอนาคตทางกลุ่มเตรียมที่จะปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นโดยติดตั้งมองเตอร์สูบน้ำอยู่ภายในถังและดูดน้ำเข้ามากรองเองและปล่อยออกไปสู่บ่อซีเมนต์ได้เลย
การหยอดปุ๋ยแต่เดิมจะเน้นทำด้วยมือ ที่เกิดความล่าช้าเพราะต้องใช้จอบมาขุดรอบต้นไม้เป็นร่อง แล้วโรยปุ๋ยด้วยมือจากนั้นค่อยกลบอีกครั้ง ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สารเคมีปนเปื้อนเข้าร่างกาย
ทางกลุ่มนักศึกษาจึงมีแนวคิดประดิษฐ์พลั่วหยอดปุ๋ยชนิดเม็ด สำหรับให้ปุ๋ยแก่พืชอย่างทั่วถึง สม่ำเสมอและรวดเร็ว โดยมีกลไการทำงานเร่ิมจากดัดแปลงใบพลั่ว ตัดใบให้มีขนาดเล็กกว่าปกติ เพื่อให้เข้าถึงในซอกเล็กๆ และไม่กระทบกับรากต้นไม้
จากนั้นต่อด้ามพลั่วเข้ากับกระบอกใส่ปุ๋ยที่ควบคุมการปริมาณการไหลของปุ๋ยด้วยวาล์วเปิดปิด โดยตัวควบคุมวาล์วจะอยู่ที่ด้ามจับพลั่วให้สะดวกกับการใช้งาน โดยหากจะให้ปุ๋ยในปริมาณมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการเปิดปิดวาล์วที่จะสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเอง
สำหรับการพัฒนาต่อจากนี้จะปรับกระบอกใส่ปุ๋ยให้เป็นวัสดุโปร่งใส สามารถมองเห็นระบบปุ๋ยภายในกระบอกได้ เพื่อควบคุมการไหลของปุ๋ยได้อย่างแม่นยำมากขึ้นและ ปรับด้ามพลั่วให้สามารถเลื่อนความยาว สั้น ได้ตามความถนัดของผู้ใช้ เพื่อลดอาการปวดหลัง
กระบวนการปลูกผักสวนครัว จำเป็นต้องการกำจัดวัชพืชและพรวนดินเพื่อให้ดินร่วนซุย และระบายน้ำได้ดี ซึ่งขั้นตอนการทำงานค่อนข้างใช้เวลา ยิ่งหากต้องทำในพื้นท่ีขนาดใหญ่ย่อมมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดบาดเจ็บหรือเมื่อยล้า หรือปวดหลังได้ง่าย
ทางกลุ่มนักศึกษาจึงได้ออกแบบและประดิษฐ์ อุปกรณ์พรวนดินในแปลงผักสวนครัวระบบเข็นมือ เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพรวนดิน และลดเวลาการทำงาน ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการใช้จอบไม่น้อยกว่า 40 %
การออกแบบจะมีกลไกการทำงานสองส่วนคือ ตัวโดยมีตัวล้อหมุนสำหรับถางวัชพืช ส่วนด้านหลังจะเป็นอุปกรณ์พรวนดิน ที่ปรับองศาความลึกในการพรวนดินได้ตามลักษณะงาน ติดกับด้ามจับที่ช่วยทำให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ที่ช่วยทั้งลดการบาดเจ็บและลดเวลาการทำงานได้เป็นอย่างดี
จุดเริ่มต้นมาจากการต้องการสร้างความแปลกใหม่และเป็นเอกลักษณ์ให้กับเครื่องแบบของนักศึกษาสาขาการการโรงแรม จากเดิม “ผ้าพันคอ” เป็นแบบเรียบๆ ธรรมดา ทางนักศึกษาจึงได้นำเทคนิคผ้ามัดย้อมมาปรับใช้โดยเลือกจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน
เริ่มจากการทดลองนำพืชชนิดต่างๆ ที่มีสีแตกต่างกันมาต้มน้ำจนเกิดสีและนำไปทดลองทำผ้ามัดย้อม ทั้ง ใบมะม่วง กะหล่ำปีม่วง ดอกบานไม่รู้โรย ผักเสี้ยน ใบคะน้า แครอท กาบมะพร้าว จากนั้นนำมาผสมสารส้มเพื่อให้สีชัดและติดทนนานขึ้น
ส่วนตัวผ้าพันคอเป็นผ้า “สปันเรยอน” ที่ออกแบบตัดเย็บเป็นผ้าพันคอ ที่ใช้เป็นเครื่องแบบของนักศึกษาการท่องเที่ยว จากนั้นนำไปมัดและต้มในน้ำสีที่เตรียมไว้ ประมาณ 1 ชม. และนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด 3-4 รอบ และนำไปตามลมให้แห้ง
จากแนวความคิดนี้ทำให้ผู้คนสนใจนำพืชผักหรือสิ่งของเหลือใช้จากในพื้นที่มาสร้างประโยชน์ เร่ิมจากการผลิตใช้เอง ก่อนที่จะขยายผลไปสู่การทำเพื่อออกจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้พืชในท้องถิ่นที่ปลูกแบบออแกนิกส์ ไร้สารเคมี