ต่อทุนชีวิตด้วยทุนสายอาชีพ เมื่อการศึกษาคือทรัพย์สินที่ไม่ควรถูกขโมย
โดย : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
ภาพ : เมธิชัย เตียวนะ

ต่อทุนชีวิตด้วยทุนสายอาชีพ เมื่อการศึกษาคือทรัพย์สินที่ไม่ควรถูกขโมย

1

ใกล้เขตอุตสาหกรรม ทิวทัศน์ที่เราจะเห็นบ่อยที่สุดคือตู้คอนเทนเนอร์วางเรียงซ้อนกันหลายชั้นอยู่ข้างทาง ถนนอบอวลด้วยฝุ่น และถ้าใครอยากจะทำความเร็วบนถนนในซอยคงทำได้แต่ชะเง้อมอง เพราะรถบรรทุกกลายเป็นเจ้าครองถนนในเขตนี้ บังคับให้เราขับได้แค่ไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ถามว่าน่าอยู่ไหม ก็คงไม่ แต่โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งงานของคนจำนวนมาก หนุ่มสาวหลายคนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของครอบครัว อยากจะรีบทำงานให้เร็วที่สุด มีความหวังว่าจะได้เข้าสู่สายงานในอุตสาหกรรม การเรียนต่อในสายสามัญจึงอาจไม่ใช่คำตอบของพวกเขา – การเรียนสายอาชีพต่างหากที่ตอบโจทย์

2

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต โบ้ทกำลังจะจบ ม.3 จากโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม เขาทำเกรดเฉลี่ยได้ดี หลายคนมองว่าเขาเรียนต่อมัธยมปลายได้ไม่ยาก แต่ด้วยภาระผูกพันของที่บ้าน ทำให้เขาเลือกสมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. เพื่อเข้าเรียนสาขาช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ ที่ห่างจากบ้านเขาไปแค่ 5 นาทีขับรถ

โบ้ทเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ อยู่กับย่าทวด ปู่ ย่า ลุง และน้องสาววัยกำลังซน รวมตัวโบ้ทแล้วเป็น 6 คน พ่อของเขาอยู่ในเรือนจำ ส่วนแม่แต่งงานมีครอบครัวใหม่ บ้านสังกะสีชั้นเดียวเป็นที่อยู่อาศัยของโบ้ทตั้งแต่เกิด มีบ่อปลานิลอยู่ข้างบ้าน แต่เป็นของคนอื่น แต่เดิมปู่กับย่าอยู่กันเป็นเพิงเรือ ขยับขยายเพราะได้ไม้จากบ้านเก่าของลูกสาวคนโตมาต่อเติม จนมีพื้นที่พออยู่กัน 6 คน

เขตโรงงานตั้งอยู่ไม่ไกลบ้านของพวกเขา ก่อนหน้านี้ย่าทำงานที่โรงงานทำหลอดยาสีฟัน จนประมาณ 5 เดือนที่แล้วเกิดอาการปวดเข่า ตรวจพบว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมจึงต้องออกจากงาน แหล่งรายได้หลักของบ้านจึงตกไปอยู่ที่ลูกชายคนโต ซึ่งแม้จะมีอาการเส้นเลือดสมองตีบและพิการ เขาก็ยังทำงานที่แพกุ้ง ได้เงินวันละ 300 บาท ไม่นับย่าทวดที่ตาฝ้าฟาง หูไม่ได้ยิน และเดินแทบไม่ได้แล้ว ยังอาศัยอยู่ในบ้านด้วยกัน โบ้ทจึงแทบจะกลายเป็นความหวังเดียวของบ้าน เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว เขาจึงเลือกเดินเส้นทางสายอาชีพ เพื่อหารายได้ระหว่างเรียนและคาดว่าจะมีงานทำในอนาคต

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่โบ้ทขอ เป็นทุนให้เปล่าสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ของประเทศ ให้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพ แต่ไม่ใช่แค่โบ้ทที่ส่งขอทุน เขาจึงจำเป็นต้องผ่านการคัดกรองเพื่อได้ทุนก่อน คุณสมบัติที่โบ้ทต้องผ่านคือ เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือนต่อคนต่อเดือน ไม่เกิน 3,000 บาท โดยมีศักยภาพในการศึกษาต่อ เช่น ได้เกรดเฉลี่ยรวม 5 เทอม ไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือภาคเรียนสุดท้ายมีเกรดไม่ต่ำกว่า 3.00 หรือ เป็นผู้มีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นเกี่ยวข้องกับสาขาที่เปิดรับ ฯลฯ

เช้าวันพฤหัสบดี อาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ พร้อมทีมคัดกรอง เดินทางไปเยี่ยมบ้านโบ้ทเพื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ หลังขับรถออกจากวิทยาลัย เลี้ยวเข้าซอยลูกรังไปไม่นาน รถก็จอดข้างบ่อปลานิล มองเห็นบ้านชั้นเดียวมีลานดินใต้ร่มไม้ ย่า โบ้ท และน้องสาวนั่งอยู่ใต้แคร่ มีไก่เดินวนและส่งเสียงขันต้อนรับ

เรานั่งคุยกันบนแคร่นั้น มีเสียงนกร้องคลอตลอดบทสนทนา วันนั้นปู่ไม่อยู่บ้านเพราะไปช่วยทำงานที่แพกุ้ง ย่าเริ่มเล่าเรื่องราวของครอบครัวให้ฟัง ส่วนโบ้ทนั่งฟังอยู่เงียบๆ มีน้องสาวนั่งบนตัก

“ที่ตรงนี้เช่าเขาอยู่” คุณย่าวัย 63 ปีเล่าเสียงเรียบ เมื่อถูกถามว่าบ่อปลานิลหลังบ้านเป็นของย่าด้วยรึเปล่า ย่าตอบเร็วว่า “ไม่ใช่ ถ้าใช่ของเราก็ดีสิ”

คนในละแวกนี้ส่วนมากทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรม และเลี้ยงปลานิล ถ้าโชคดี ให้อาหารปลาแล้วมีกุ้งติดมา ก็จะได้กุ้งไปขายด้วย ครอบครัวของโบ้ทนอกจากจะมีรายได้หลักจากลุงที่ทำงานในแพปลา ก็ยังมีรายได้จากเบี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือน และเบี้ยคนชรา 600 บาทต่อเดือนของสมาชิกในบ้าน รวมแล้ว 6 คนมีรายได้รวมกันประมาณเดือนละ 7,000-8,000 บาท เฉลี่ยแล้วมีรายได้คนละพันกว่าบาทต่อเดือน รายจ่ายหลักๆ คือค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน และเงินไปโรงเรียนของโบ้ท

“ผมได้เงินไปโรงเรียนวันละ 100 บาท ซื้อข้าวจานละ 25 บาท น้ำแก้วละ 10 บาท รวมเป็น 35 บาท ที่เหลือก็ออมไว้ใช้วันต่อไป ส่วนค่ารถไปโรงเรียนจ่ายเหมาเดือนละ 700 บาท ช่วงเสาร์อาทิตย์ผมก็ช่วยทำงานบ้าน เลี้ยงน้อง ไม่ค่อยออกไปไหน” โบ้ทเล่าชีวิตประจำวันให้ฟัง ตัวเขาเองเลือกสมัครเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ เพราะใกล้บ้าน อย่างน้อยๆ ก็เดินออกจากซอยเพื่อขึ้นรถรับส่งของวิทยาลัยไปเรียนได้ และที่แน่ๆ เขาคาดหวังว่าจะได้ทำงานระหว่างเรียนเพื่อเอาเงินมาเจือจุนครอบครัว

บ้านหลังนี้ไม่มีรถยนต์ สิ่งที่ดูเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สุดคือเครื่องซักผ้าที่ใช้การไม่ได้แล้ววางอยู่ข้างบ้าน และพัดลมตัวจิ๋วบนบ้าน ข้างบ้านมีโอ่งดินวางอยู่ 3 ลูก เก็บเอาไว้ใช้ทำอาหารและน้ำดื่ม เท่าที่เปิดดู น้ำเหลือเต็มแค่ 2 ลูกเท่านั้น

ในบ้านเป็นห้องโล่ง ปูที่นอนนอนรวมกัน มีย่าทวดนั่งตากพัดลมอยู่บนฟูก โบ้ทขึ้นไปหาย่าและคุยเรื่องทุนกับอาจารย์ที่มาคัดกรอง หากโบ้ทได้ทุนแล้ว เขาจะได้ค่าใช้จ่ายประมาณ 6,500 บาทต่อเดือน และทุนจะส่งเสียค่าเทอมให้ สิ่งที่เขาต้องทำคือเรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.5 และเรียนให้จบระดับ ปวส. หลังจากนั้นก็ไม่มีภาระต้องคืนทุนใดๆ เมื่อได้ฟังแบบนี้โบ้ทก็มีแววตาสดชื่นขึ้น คาดหวังว่า 1 ใน 2,500 รายชื่อที่ได้รับทุนจะมีเขาอยู่ในนั้น

3

ถ้ามองภาพกว้างในระดับประเทศ มีเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ประมาณ 160,000 คน ในจำนวนนี้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5 หรือประมาณ 8,000 คนต่อรุ่นเท่านั้น นั่นหมายความว่าจะมีเด็กอีกกว่า 152,000 คนที่ตกหล่นจากระดับอุดมศึกษา โดยที่เราไม่รู้เลยว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหนและทำงานอะไรบ้าง

เด็กจำนวนมากมีศักยภาพ แต่ด้วยทุนทรัพย์ที่ขาดแคลนทำให้พวกเขาต้องเลือกทางเดินอีกแบบ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจึงพยายามเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ว่ามีการส่งเสริมการพัฒนาทักษะระหว่างเรียนด้วย

“ส่วนใหญ่น้องๆ ที่มีรายได้น้อย โจทย์สำคัญอย่างหนึ่งคืออยากเรียนไปด้วย มีรายได้ไปด้วย บางทีอาจจะต้องเรียน กศน. หรืออาจต้องทำงานที่มีรายได้จากการฝึกงาน ซึ่งอันนี้ต้องการทักษะชีวิตในการบริหารจัดการตัวเอง เราเองก็จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้โรงเรียนมีโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ ฝึกให้นักเรียนมีความเป็นผู้ประกอบการ ขายของออนไลน์ได้ เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจว่าถ้าเขาอยากจะมีรายได้ไปด้วยและเรียนไปด้วย เขาทำได้ ไม่ต้องเลือกขาดว่าชีวิตนี้ถ้าจะมีรายได้ก็จะเรียนด้วยไม่ได้”

ไกลจากบ้านของโบ้ทประมาณ 10 กิโลเมตร ในซอยลึกที่ต้องขับรถเข้าไปในทางลูกรังเล็กแคบ มีบ้านของเด็ก ม.3 อีกหนึ่งคนที่สมัครทุนนี้เช่นเดียวกัน แตกต่างกันตรงที่เด็กหนุ่มคนนี้สมัครในสาขาช่างกลโรงงาน เขาชื่อ ‘อับดุล’

อับดุลอยู่บ้านกับแม่และพี่สาว พ่อแต่งงานใหม่ ไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้ว บ้านของอับดุลเป็นบ้านชั้นเดียว ปูด้วยพื้นไม้ ล้อมผนังด้วยไม้แผ่น ใต้พื้นบ้านเป็นหนองน้ำที่ชุกชุมด้วยงูและตัวเงินตัวทอง

“โชคดีที่มันยังไม่เคยขึ้นบ้าน” แม่ของอับดุลพูดทีเล่นทีจริง

แต่เดิมบ้านหลังนี้อยู่กัน 12 คน พรั่งพร้อมด้วยญาติมิตร หากกวาดสายตามองบริเวณบ้าน 12 คนก็น่าจะเต็มพื้นที่ชนิดนอนพลิกตัวลำบาก โชคดีที่ตอนนี้อับดุลมีพื้นที่พอจะขยับตัวได้แล้ว เพราะญาติต่างแยกย้ายไปทำงานที่อื่น แต่ก็โชคร้ายที่ตอนกลางคืนอากาศร้อนอบอ้าวและยุงออกหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน เขาไม่ได้นอนหลับสบายเท่าใดนัก

บ้านหลังนี้เช่าอยู่บนพื้นที่ของมัสยิด หรือที่เรียกว่า ‘วากัฟ’ จ่ายค่าเช่าปีละ 500 บาท “ตกเดือนละ 41 บาท หรือวันละบาทกว่าๆ” แม่อับดุลแจกแจงให้ฟัง ด้วยรายจ่ายระดับนี้ทำให้ครอบครัวพอเลี้ยงดูกันไปได้เดือนต่อเดือน

รายได้หลักของบ้านมาจากแม่ของอับดุล เธอทำงานในโรงงานผลิตเครื่องสำอาง อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมใกล้บ้าน ได้เงินวันละ 350 บาท หักลบกลบวันหยุดแล้วจะได้เงินเดือนละประมาณ 8,400 บาท กับการเลี้ยงลูกวัยรุ่นสองคนให้เติบโตไปอย่างสมบูรณ์

ดีที่ลูกสาวคนโตได้ทุนเรียนดีจึงไม่ต้องจ่ายค่าเทอมและค่าอาหารกลางวัน ส่วนตัวอับดุลเองก็เลือกจะไปช่วยงานรับจ้างขนของในช่วงปิดเทอม และช่วยครูทำงานที่โรงเรียนบ้างเป็นบางคราว ถ้าไม่ได้ไปไหน อับดุลมีหน้าที่ช่วยแม่กรอกน้ำและกวาดบ้าน เขาได้เงินไปโรงเรียนวันละ 60 บาท ถ้าวันไหนต้องซื้ออุปกรณ์การเรียนก็จำเป็นต้องอดข้าวกลางวัน นั่นคือชีวิตที่เขาเจอมาตลอดตั้งแต่เล็กจนวัยรุ่น จนถึงวันที่เขาโตพอจะหาลู่ทางของชีวิตได้เอง

“ถ้าผมได้ทุน เงินรายเดือนครึ่งหนึ่งผมจะแบ่งให้แม่ อีกครึ่งหนึ่งจะเก็บไว้ใช้ในการเรียน” อับดุลว่า

เงินรายเดือนที่อับดุลจะได้อยู่ที่ 6,500 บาท อีกไม่กี่พันบาทก็จะเท่าเงินเดือนของแม่ ยังไม่นับว่าถ้าเขาได้ทำงานระหว่างเรียนก็อาจมีเงินมาช่วยดูแลที่บ้านมากขึ้น หรือถ้ามีโอกาสกว่านั้น เขากับแม่และพี่สาวอาจไม่ต้องนอนให้ยุงกัดอีกต่อไป

4

โบ้ทกับอับดุลเป็นหนึ่งในเด็กจำนวนมากที่ต้องการหาโอกาสในชีวิต เคยมีบางเสียงค่อนแคะว่า เพราะคนไม่พยายามถึงไม่หลุดจากกับดักความยากจนเสียที – แต่พวกเขาแสดงให้เห็นว่าความพยายาม บางครั้งก็ต้องมาพร้อมโอกาส และโครงสร้างสังคมที่เอื้อให้พวกเขามีเส้นทางเดินเป็นของตัวเอง ไม่กดคนให้จมดิน และไม่ปิดตามัดมือเพื่อไม่ให้เห็นทางไป

คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนักที่จะบอกว่า การศึกษาเป็นประตูที่ทรงพลังต่อชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมากเพียงใด

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world