กระทรวงศึกษาธิการอังกฤษพิจารณาประกาศใช้ข้อบังคับใหม่ ห้ามไม่ให้นักเรียนนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาภายในห้องเรียน เป้าหมายเพื่อให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อและตั้งใจเรียน รวมถึงมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในห้องเรียนมากกว่าต้องคอยพะวงเรื่องโทรศัพท์ พร้อมหวังปรับพฤติกรรมให้เด็กนักเรียนมีระเบียบวินัยมากขึ้น
สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานข้อเสนอแนะของกวิน วิลเลียมสัน (Gavin Williamson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษว่า ต้องการให้โรงเรียนต่างๆ ออกมาตรการห้ามนักเรียนพกพาโทรศัพท์มือถือเข้ามาภายในโรงเรียน หรือห้ามพกติดตัวเข้ามาในห้องเรียน โดยข้อห้ามนี้จะถูกใช้ควบคู่กับแนวทางอื่นๆ เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการเรียน และปรับพฤติกรรมของนักเรียนให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษกล่าวว่า ต้องการให้มีวันโรงเรียนปลอดโทรศัพท์มือถือ เพราะอุปกรณ์สื่อสารสำหรับพกพาดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ กระทบต่อการเรียน ส่งผลเสียมากกว่าผลดี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการปรึกษากับทางที่ปรึกษาเพื่อรับฟังความเห็นของครูและผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีการปรับเปลี่ยนและส่งเสริมพฤติกรรมอันดีของนักเรียน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 6 สัปดาห์ในการเก็บรวบรวมความคิดเห็น
สำหรับความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการทบทวนด้านพฤติกรรม ระเบียบวินัย การพักการเรียน และการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียนในโรงเรียนภาครัฐทั่วอังกฤษ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาของอังกฤษให้ครบถ้วนรอบด้าน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า แต่ละโรงเรียนต่างมีนโยบายการจัดการเรื่องโทรศัพท์มือถือแตกต่างกันออกไป บางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนใช้งานโทรศัพท์มือถือในห้องเรียนได้ ในฐานะเครื่องมือช่วยค้นคว้าหาความรู้ ในขณะที่บางโรงเรียนไม่อนุญาตให้ใช้ระหว่างการเรียนในห้องเรียนเลย
อย่างไรก็ตาม หลายโรงเรียนมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน เนื่องจากพบว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาการกลั่นแกล้งกันบนโลกไซเบอร์ (cyberbullying) ซ้ำยังมีการแชร์ภาพและคลิปที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมภายในโรงเรียน โดยความกังวลในเรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นหลังจากมีรายงานว่านักเรียนบางคนตกเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แล้วยังมีคลิปภาพเผยแพร่บนเว็บไซต์เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศภายในโรงเรียนที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
รายงานระบุว่า ก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน กระทรวงศึกษาธิการอังกฤษเพิ่งประกาศตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 10 ล้านปอนด์ เพื่อทำโครงการศูนย์พฤติกรรม หรือ Behaviour hub โดยมีโรงเรียน 22 โรง และสถาบันในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอีก 2 แห่งเข้าร่วมในฐานะโรงเรียนที่มีประวัติดี มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด และนักเรียนมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบ และให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่มีปัญหาในการกำกับดูแลพฤติกรรมของเด็กนักเรียน
วิลเลียมสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกล่าวว่า ไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนที่ต้องการส่งลูกหลานของตัวเองมาเรียนในโรงเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแน่นอน
“โทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ทำให้รบกวนสมาธิเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และสุขภาพร่างกายของเด็กหากว่าใช้มากเกินไป และใช้ในทางที่ผิด ผมต้องการยุติปัญหาดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องผลักดันให้วันไปเรียนคือวันปลอดโทรศัพท์มือถือ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีวิลเลียมสันยังเสริมอีกว่า เพื่อให้รัฐและโรงเรียนสามารถช่วยเหลือนักเรียน เอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและวัยรุ่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องสร้างความมั่นใจว่า นักเรียนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเรียนในห้องเรียนภายใต้บรรยากาศที่สงบเรียบร้อย ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนและซึมซับความรู้ต่างๆ ได้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม กอฟฟ์ บาร์ตัน (Geoff Barton) หัวหน้าสหภาพโรงเรียน ASCL กลับเห็นว่า รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นประเด็นเรื่องโทรศัพท์มือถือมากเกินความพอดี ทั้ง ๆ ที่ควรให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านการศึกษาอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึง
สาเหตุเพราะในความเป็นจริงตามปกติแล้ว แต่ละโรงเรียนมีนโยบายและมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้วในการอนุญาตให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือภายในโรงเรียน ดังนั้น นโยบายเกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือจึงควรเป็นทางเลือกสำหรับโรงเรียนให้ตัดสินใจกันเอาเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นที่รัฐบาลส่วนกลางจะเข้าไปยุ่ง อีกทั้งโทรศัพท์มือถือไม่ใช่อุปกรณ์ฟรีที่นักเรียนทุกคนสามารถมีไว้ในครอบครองได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ สิ่งที่โรงเรียนและวิทยาลัยทั่วอังกฤษคาดหวังจากกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลก็คือ แผนฟื้นฟูการศึกษาหลังยุคไวรัสโควิด-19 รวมถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากภาวะการศึกษาที่ชะงักงันนับต่อจากนี้ มากกว่าการมาให้ความสนใจกับประเด็นด้านพฤติกรรม หรือความประพฤติของเด็กนักเรียน
ด้านเควิน เคิร์ธนีย์ (Kevin Courtney) หัวหน้าร่วมของสหภาพการศึกษาแห่งชาติ (National Education Union) กล่าวว่า การพูดเรื่องโทรศัพท์มือถือเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เพราะโรงเรียนโดยทั่วไปมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องการความเห็นหรือคำปรึกษาอื่นใดเพิ่มเติมอีก
“รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมัวแต่พูดเรื่องวินัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งๆ ที่ช่วงเวลานี้ควรพูดเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิต สุขภาพ และสิ่งที่ครูจำเป็นต้องได้รับ เพื่อนำมาใช้รับมือกับช่องทางทางการเรียนรู้ที่หายไปเพราะไวรัสโควิด-19” เคิร์ธนีย์ ระบุ
ท้ายที่สุดแล้ว หากรัฐเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้มีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน จะทำให้การออกมาตรการต่างๆ สอดรับกับสถานการณ์และความจำเป็นเร่งด่วนที่แท้จริง