ข้อมูลระบุว่าในปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กนักเรียนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นราว 2,000,000 คน จนมีการคาดการณ์ว่าจะมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวน 65,000 คน เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา
ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่านั่นหมายถึงหากการส่งมอบโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือการเรียนและการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้าไปเพียง 1 ชั่วโมง จะมีน้อง ๆ หลุดออกจากระบบการศึกษาทันที 7.4 คน เท่ากับช่องว่างของความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งถ่างขยายออกไปเรื่อย ๆ
“ข้อมูลที่แสดงถึงการเสียโอกาสทางการเรียนของเด็ก ๆ ทำให้เราร่วมมือกันทำภารกิจจัดหาเครื่องมือในการเรียนออนไลน์อย่างสมาร์ตโฟน เข้าไปมอบให้น้อง ๆ ในหลายชุมชน ที่ตอนนี้แม้แต่จะออกจากพื้นที่มารับชุดการเรียนรู้ในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียน ก็ยังไม่สามารถทำได้
“เราเริ่มที่โรงเรียนในชุมชนรอบ ๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 แห่ง หารือกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อสอบถามจำนวนเด็กที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ และได้ทำการส่งมอบสมาร์ตโฟนไปแล้ว 39 เครื่องใน 4 โรงเรียน และจะทยอยส่งต่อเนื่องไป โดยเรามีนิสิตที่จะเข้าไปช่วยตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ที่โรงเรียนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้อุปกรณ์ที่ส่งมอบใช้งานได้จริง ความตั้งใจเบื้องต้นของเราคือการทำงานร่วมกับชุมชนใกล้เคียง เพราะต้องประเมินศักยภาพของทีมงานเราด้วยว่าทำได้แค่ไหน ตอนนี้ความต้องการเครื่องมือในการเรียนค่อนข้างสูง เนื่องจากหลายพื้นที่ต้องใช้การเรียนผ่านออนไลน์เป็นช่องทางหลัก”
‘เน็ตฟรี’ คือความสำคัญเร่งด่วน
ปัญหาที่สั่นคลอนความมั่นคงในการอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปของเด็ก ๆ นอกจากเรื่องขาดเครื่องมือในการเข้าถึงการเรียนรู้แล้ว ยังมีเรื่องของอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลายเป็นคำถามสำคัญว่าจะจัดการศึกษาในท่ามกลางวิกฤตนี้อย่างไร
“เบื้องต้นเราไม่มีอินเทอร์เน็ตชุมชนที่จะช่วยให้เด็กเข้าถึงสัญญาณฟรีได้ ภาระในการจัดหาซิมหรือชั่วโมงอินเทอร์เน็ต ก็เลยกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ หากมองว่าการเรียนผ่านออนไลน์คือการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ ในระยะสั้นเราคงไม่สามารถติดตั้งอินเทอร์เน็ตชุมชนได้ทั่วถึง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมีคือซิมอินเทอร์เน็ตให้เปล่า หรือซิมราคาถูกมาก ๆ เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้พื้นฐานได้เท่าเทียมกัน
“ทุกโรงเรียนจะมีเงินรายหัวในส่วนงบพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากเราสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ได้ เด็กจะได้รับประโยชน์ที่เขาควรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น อาจทำเป็นแพ็คเกจซิมอินเทอร์เน็ตรองรับช่วงเวลา 4 เดือนที่เขาต้องเรียนออนไลน์ นี่คือการนำงบประมาณที่มีอยู่มาจัดสรรให้เกิดการเข้าถึงโอกาสในการเรียนอย่างถ้วนหน้า เพราะถ้าเป็น ‘เงินรายหัว’ เด็กทุกคนก็ต้องมีสิทธิ์ได้รับ
“ที่สำคัญคือต้องมีการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภาคเอกชน ให้ได้ราคาที่เหมาะสม จัดเป็นกลุ่มโรงเรียนตามเขตพื้นที่ การกระจายสัญญาณเข้าไปถึงโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ ก็จะทำได้เร็วขึ้น เพราะเราต้องไม่ลืมว่าปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนี้ นับว่าเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาโดยตรง และเป็นปัญหาที่รอต่อไปอีกไม่ได้”
มีอินเทอร์เน็ตแล้ว มีเครื่องมือแล้ว ก็ต้องมีการจัดระบบรองรับแผนพัฒนาการศึกษาออนไลน์ในระยะยาว
เมื่อมองเห็นแล้วว่า ‘เครื่องมือ’ และ ‘อินเทอร์เน็ต’ คือการเปิดช่องทางการเรียนรู้ เรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับถัดไป คือการสร้างมาตรฐานคุณภาพการเรียนการสอนทางไกล ที่ทุกวันนี้แต่ละโรงเรียนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน
“นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมว่าจะทำอย่างไรถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป เริ่มจากต้องมีการคลี่คลายเรื่องหลักสูตร และการประเมินที่สอดคล้องกับบริบทการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะการเรียนในเด็กเล็ก ที่เขาต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้าร่วมด้วย ต่างจากเด็กโตที่อาจเรียนออนไลน์เพียงลำพังได้ หรือการจัดรูปแบบให้เหมาะสมกับการที่เด็กต้องเรียนที่บ้าน เพราะตอนนี้สิ่งที่ทำกันอยู่คือ การพยายามสอนด้วยวิธีปกติในห้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
“เราต้องเข้าใจว่าการศึกษาออนไลน์คือรูปแบบที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเฉพาะ เป็นการเรียนทางไกลเพื่อส่งเสริมการเรียนรายบุคคล แต่แน่นอนว่าถ้ามองแค่ในตอนนี้ การปรับรูปแบบการเรียนในห้องเรียนให้มาสอนผ่านโปรแกรมสำหรับการประชุมอย่างที่เป็นอยู่ ก็สามารถทำได้ในลักษณะของการประทังสถานการณ์ แต่ถ้ามองไปถึงว่าจะใช้กันยาว ๆ แล้ว มันก็ยังมีช่องว่างมากมายของการเข้าถึงอยู่ ดังนั้นการจัดระบบรองรับที่ทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน จึงจำเป็นต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้”
*ผู้สนใจร่วมเป็นส่วนสำคัญในภารกิจ #น้องฉันต้องได้เรียน
อ่านรายละเอียดและลงทะเบียนเพื่อส่งต่อสมาร์ตโฟนให้น้องได้ที่ : แบบฟอร์มส่งต่อสมาร์ตโฟนสำหรับโครงการน้องฉันต้องได้เรียน
ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กรกฎาคม 2564