‘การเรียนรู้ล้วนเกิดขึ้นบนความสัมพันธ์’ มิรา เวฬุภาค คุณแม่นักเรียนรู้แห่ง Flock Learning
โดย : พิมพ์ชนก พุกสุข
ภาพ : เมธิชัย เตียวนะ

‘การเรียนรู้ล้วนเกิดขึ้นบนความสัมพันธ์’ มิรา เวฬุภาค คุณแม่นักเรียนรู้แห่ง Flock Learning

บี-มิรา เวฬุภาค เป็นคุณแม่ลูกสอง เป็นนักวิจัยอิสระด้านการศึกษาทางเลือกที่คร่ำหวอดในวงการแห่งนี้มากว่าสิบปี เป็นกระบวนกรเกมเพื่อการแปรเปลี่ยน (Transformation Game) และเป็นหนึ่งในทีมก่อตั้ง Flock Learning องค์กรที่ชวนให้พ่อแม่มาสร้างการเรียนรู้ให้ตัวเองไปพร้อมกับลูกๆ

คุณอาจขมวดคิ้วสงสัย การเป็นพ่อแม่ยังต้องเรียนรู้อะไร ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นฝ่ายมอบความรู้ให้เด็กๆ หรอกหรือ

คำตอบคือ ทั้งใช่และไม่ใช่

โลกที่เต็มไปด้วยความลื่นไหลและท้าทายเช่นนี้ เรียกร้องให้เด็กๆ เติบโตไปอย่างมีทักษะในการใช้ชีวิต ซึ่งอยู่นอกเหนือจากความรู้เชิงวิชาการ หากแต่ยังหมายถึงการเรียนรู้ด้านอารมณ์และความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ และนี่เองที่ Flock Learning มองว่าพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ควบคู่ไปกับเด็กๆ ได้ โดยพื้นฐานสำคัญคือความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง อันเป็นสิ่งที่มิราย้ำอยู่บ่อยครั้งในการสนทนาครั้งนี้

ทำไมต้องเน้นการเรียนรู้ของพ่อแม่

มันมาจากเราเอง (หัวเราะ) เราทำเรื่องการศึกษามาเป็นสิบปี พอมีลูกและทำโฮมสคูลก็ร้อนวิชา เราทำเรื่องการศึกษามานาน เรียนทฤษฎีมาเยอะแยะแต่ทุกอย่างอยู่บนกระดาษหมดเลย หลายอย่างเอามาทำจริงไม่ได้เพราะต้องผ่านครู ไม่ใช่ว่าตัวทฤษฎีไม่ดีนะ แต่มีปัจจัยเยอะที่พอจะเอามาทำจริงแล้วทำไม่ได้

เราเลยคิดว่า ไหนๆ ก็ศึกษามาแล้ว ถ้าเราจะลองเอามาทำดูได้ไหมนะ เลยทดลองทำโฮมสคูลขึ้นมา เป็นแล็บเล็กๆ ซึ่งมีบางอย่างที่ทำได้ ทำไม่ได้ แต่เราก็เห็นว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นการเรียนรู้ของคน และเราเองก็ได้สังเกตการเรียนรู้ของลูก พอดีตอนนั้นเราทำ community ด้วย เช่น ทำงานกับชาวต่างชาติที่มาทำงานในไทย และคุณพ่อคุณแม่ชาวไทย เราพบว่าคนพวกนี้มีของมากเลย เราได้เจอพ่อแม่ที่ โอ้โห เก่งจัง เช่น คุณพ่อที่เป็นโปรแกรมเมอร์มาสอนลูกเรา สอนเก่งกว่าในโรงเรียนอีก เขาไม่ได้สอนตามสเต็ปหนึ่งสองสาม แต่จับคีย์สำคัญแล้วสอนเลย ฉะนั้นเด็กจึงเรียนรู้ เป็นเร็ว เหมือนเด็กได้ไปฝึกงานกับพ่อแม่ที่อยู่ในสายอาชีพนั้น

จุดเริ่มต้นของความสนใจนี้มาจากตรงไหน

เริ่มที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตอนนั้นลูกชายเราอยากตกปลามาก เขาชอบตกปลา อยากลงมือทำจริงๆ เราเลยพาเขาไปอยู่กับบังนี (รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ) เจ็ดวัน บังนีเลยเล่าเรื่องจะนะให้เราฟังว่าที่นี่กำลังถูกรุกราน เขาอยากทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ เพราะที่นี่มีภูมิปัญญาที่สั่งสมมา ตัวบังนีเองแทบจะเป็นดูหลำ (คนฟังเสียงปลา) คนท้ายๆ แล้ว ซึ่งที่นั่นไม่ได้มีแค่ดูหลำอย่างเดียว แต่มีภูมิปัญญาอื่นที่สั่งสมมาด้วย เราก็ไปอยู่ในบรรยากาศ ชาวบ้านเขาพร้อมสอนมากเลยนะ มาสอนกันทีละคน ทีละเรื่อง เช่น สอนทำปลาเค็ม เราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วในประเทศเรามีที่เรียนรู้แบบนี้เยอะ และมีคนพร้อมจะสอนเยอะด้วย แต่เราไม่มีการจัดการให้เกิดการเรียนรู้จากคนเหล่านี้

ของอยู่ตรงนี้อยู่แล้วน่ะ มาเรียนรู้เถอะ แล้วพอคนนอกเข้าไป คนในชุมชนก็ตื่นเต้น สดชื่นขึ้นมา มีเด็กๆ ไปเรียนรู้กับเขา

ต้องได้เห็นนะ เวลาบังนีเขาลุกขึ้นไปนำเด็ก เด็กก็ถามคำถามใหญ่เลย ตาเขาเป็นประกายมาก อันนั้นน่ะเรารู้สึกว่านี่เป็นวิธีการที่เราเชียร์ให้เขาลุกขึ้นมาทำบางอย่าง

คุณทำงานด้านการศึกษามาสิบปี เห็นอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้างไหม

มีทั้งตัวเราด้วย เหมือนตำราจะบอกว่าเด็กเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นแง่บวก คำถามคือเรามองบวกได้ตลอดเวลาหรือเปล่า ไม่ได้ ไม่มีทาง (หัวเราะ) หรือการที่เรามองเห็นความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้ เป็นคำพูดที่สวยมากเลย แต่วันที่เราเป็นแม่ เรามองลูกที่ทำผิดพลาด อารมณ์ก็จะคนละอย่างกันแล้ว เราจะปล่อยให้ลูกเรียนรู้หรือบอกไปเลยว่าที่ถูกต้องเป็นแบบนี้ๆ

พอเราเข้าใจแบบนี้ การเป็นแม่ทำให้เราเห็นอกเห็นใจคนไปโดยอัตโนมัติ เลยทำให้เราเข้าใจพ่อแม่คนอื่นๆ เช่น เวลาเราอ่านทฤษฎีที่เขาบอกว่าเลี้ยงเด็กต้องอย่างนั้นอย่างนี้ คือมันอยู่ในตำรามาก หลายครั้งที่เราอ่านตำราแล้วรู้สึกว่าเราทำผิด เสียความมั่นใจ และเราก็จะตัดสินตัวเองว่าเราเป็นแม่ไม่ดีหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ความรู้สึกแบบนั้นไม่ healty ต่อการเลี้ยงลูกนะ แล้วยิ่งมีความรู้สึกอย่างนี้มากเท่าไหร่ เรายิ่งทำอะไรไม่ได้ ยิ่งไม่ปกติ กว่าเราจะข้ามผ่านได้ต้องใช้เวลา

พ่อแม่คนอื่นเขามีแบบนี้ไหม

มีค่ะ เราว่าเป็นเรื่องปกติของการเป็นพ่อแม่เลยนะ คือทุกคนมีความรู้สึกแบบนี้หมด เช่น ดุลูกไปแล้วรู้สึกผิด โทษตัวเอง ไม่น่าทำเลย แล้วพอไม่ได้ขอโทษลูกหรือไม่ได้พูดคุยกับลูก ซึ่งทำให้เราคลายจากความรู้สึกผิด มันก็ยิ่งสะสมน่ะ พอเรามีความรู้สึกหรือพลังงานแบบนี้อยู่ในตัวเยอะๆ ลูกก็รู้ แล้วเราเองนั่นแหละที่จะผิดแผก เราจะพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นแม่ที่ดี แล้วไม่ใช่พิสูจน์กับลูกด้วยนะ แต่พิสูจน์กับตัวเองนั่นแหละว่าฉันจะเป็นแม่ที่ดี

แต่เราว่าเป็นเรื่องปกติของคนและเป็นการเรียนรู้นะ บางคนเห็นตัวเองไปสักระยะก็จะเห็นแล้วว่าเราเป็นแบบนี้อีกแล้ว ก็เรียนรู้ แต่บางคนก็อยู่ในวงจรนี้ยาวนาน

Flock มองประเด็นความคาดหวังต่อสังคมที่มีต่อพ่อแม่อย่างไร ว่าจะต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์พร้อม เก่ง ดีทุกด้าน

อย่างแรกเราต้องชวนคุยก่อนว่า พ่อแม่ที่ดีคืออะไร มีไหม ไม่มีหรอก มีแต่พ่อแม่ที่เป็นแบบนั้น เพราะโลกใบนี้ไม่มีพ่อแม่ที่ดีที่สุดหรอก เราเคยตามหาสิ่งนั้นอยู่แต่ไม่มี เวลาที่เราสั่งสมความเป็นพ่อแม่ที่ดีตามตำราไว้มากๆ เราจะกลัว อย่างลูกเราชอบดูมิวสิคัล ถ้าเราลุกขึ้นมาเต้นหรือร้องเพลงกับลูกก็จะประหลาดแล้ว เพราะมีวัฒนธรรมที่บอกว่าเราไม่ควรทำแบบนี้ บอกว่าพ่อแม่ต้องดูทรงภูมินะ ซึ่งไม่ได้ไง ลูกกำลังรอให้เราไปร้องเพลงและเต้นกับเขา เราก็ไม่ได้ทำตลอดเวลาหรอก ทำเมื่อเรารู้สึกโอเค

ถ้าอย่างนั้น มีวิธีปลดแอกความรู้สึกของพ่อแม่ไหม

สำหรับเรานะ เราก็จะคุยกับพ่อแม่ที่มาอบรมใน Flock ช่วยนิยามหน่อยว่าพ่อแม่ที่ดีคืออย่างไร สมมติเราคุยกับสิบคน ก็ตอบไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถามว่ามีคำตอบตายตัวไหม ไม่มีหรอก

เราเคยคิดว่าการเป็นแม่ที่ดีคือมีบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง มีสวนเล็กๆ มีหมาตัวเล็กๆ เป็นนิยามที่ถูกสร้างไว้ด้วยสื่อหรืออะไรก็ตามที่เราเคยบริโภคในยุคหนึ่ง ถามว่าวันนี้เป็นอย่างนั้นไหม ที่กลับมาบ้านแล้วเจอแม่นั่งหน้ายิ้มอยู่บนโซฟาตลอดเวลา สวยตลอดเวลา เล่นกับหมารอลูกกลับบ้าน ก็ไม่ใช่ทุกเวลาไง

ฉะนั้น เราจะสนับสนุนให้ทุกคนไปหาสิ่งนั้นในครอบครัวของตัวเอง ไม่ต้องไปหาสิ่งนั้นจากสื่อ

แล้วกิจกรรมเวิร์กช็อปของ Flock จะช่วยเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

เวิร์กช็อปเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของเรา จริงๆ เราทำเครื่องมือเป็น tools kids เหมือนเป็นบอร์ดเกม โดยเราเอา SEARCH model หรือเครื่องมือของพ่อแม่ที่จะสนับสนุน Self-Directed Learning ของเด็กๆ ทั้งหกตัว (Sensing, Empathy, Aspiration, Reconstruct, Chance และ Hearten) มาทำเป็นเกม ซึ่งเวิร์กช็อปก็เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้พวกนี้

แต่เราก็มองว่า ต่อให้ Flock จัดเวิร์กช็อปให้ตาย เดือนนึงก็ได้แค่ร้อยคน เราเลยลองพัฒนาคล้ายๆ บอร์ดเกมที่พ่อแม่จะเล่นกับลูกๆ โดยแม่จะได้ฝึกทักษะแบบ SEARCH model ไปด้วย และเด็กก็จะได้มีประเด็นที่เขาสนใจในเกม เครื่องมือแรกที่เราลองทำคือให้เด็กค้นหาตัวเอง รู้จักตัวเองและออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปสำรวจสิ่งใหม่ๆ

ตอนนี้ก็มีโปรเจ็กต์ Mappa ที่เป็น online collaborative learning platforms โจทย์มาจากว่า สสส. เขาอยากทำออนไลน์และอยากมองเห็นว่ามีที่เรียนรู้อื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงเรียน ซึ่งส่วนตัวเราเชื่อเรื่องนี้อยู่แล้ว เราพยายามจะขยายระบบนิเวศให้ไปไกลกว่าโรงเรียนอยู่แล้ว Mappa จึงทำโปรเจ็กต์นี้ โดยโจทย์คือต้องเป็นออนไลน์ด้วย ซึ่งส่วนตัว ลูกเราเรียน home school online มาตั้งนานแล้ว แต่เราไม่เชื่อว่าเป็นการเรียนรู้เดียวที่ควรมีปฏิสัมพันธ์ เราควรจะมีประสบการณ์จริง ได้ลงมือจริง ได้พูดคุยกับผู้คน เลยทำให้เรามีโจทย์นี้อยู่ในใจประมาณหนึ่ง ดังนั้นการออกแบบการเรียนรู้ออนไลน์เลยเป็นการออกแบบเพื่อกระตุ้นให้คนไปมีประสบการณ์ออฟไลน์ ได้ลงมือทำ

เราจึงจัดเป็นด่านๆ ไป เช่น เด็กกับพ่อแม่สมัครเข้ามา ก็จะมีด่านให้พวกเขา สมมติเด็กต้องพับกระดาษโอริกามิที่ซับซ้อน ในด่านนี้ก็จะตั้งเงื่อนไขว่าพ่อแม่ต้องเข้าไปช่วยนะ เด็กทำคนเดียวไม่ได้ หรืออาจจะไม่ใช่แค่พ่อแม่ เราไม่ได้จำกัดคำว่าครอบครัวแค่นั้น จะเป็นน้า อา ปู่หรือย่าก็ได้ ซึ่งจะเข้ามาทำด่านนี้ได้ ก็ต้องเรียน learning ของเขามาก่อน ต้องรู้ว่าพูดกับเด็กอย่างไร ให้กำลังใจเด็กอย่างไร เด็กท้อต้องพูดอย่างไร เป็นกุศโลบายให้เขาเรียน

และก็จะมีด่านที่พ่อแม่ต้องทำบางอย่างกับเด็กเหมือนกัน เขาจึงจะผ่านด่านนี้ไปได้ โดยทั้งหมดนี้เมื่อเราผ่านได้ทุกด่าน เราจะได้ batch เก็บไว้เป็นพอร์ตหรือผลงานของตัวเองได้ พอวันที่เขาเรียนจบก็กดพิมพ์ออกมาได้ ของพ่อแม่ถ้ากดออกมาจะเป็นข้อมูลว่าเขาเคยทำกิจกรรมอะไรกับลูกมาบ้าง

ดูเหมือนจะเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กมากๆ

มันคือความสัมพันธ์ค่ะ และการเรียนรู้เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ การเรียนรู้ไม่ใช่การเรียนความรู้ การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อพูดคุยกัน เมื่อเรารู้ว่าคนนี้เป็นอย่างไร เป็นใคร การเรียนรู้ตัดเรื่องความสัมพันธ์ออกไปไม่ได้

ทีนี้การจะทำให้พ่อแม่กับลูกมาเรียนรู้กัน หรือครอบครัวกลับมาเรียนรู้ด้วยกันอีกครั้ง ความสัมพันธ์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

บทบาทของพ่อแม่ในการเรียนรู้นี้เป็นอย่างไร

เราอยู่ในฝั่งการศึกษา เราทำงานกับครู กับการศึกษาและเรื่องการปฏิรูป ซึ่งเป็นฝั่งที่มองว่าพ่อแม่เป็นฝั่งที่เรียกร้อง การที่เด็กต้องเรียน ต้องสอบได้เกรดสี่ก็มาจากความคาดหวังของพ่อแม่ ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นแบบนั้นนะ แต่ก็กลายเป็นว่าพ่อแม่กลายเป็นปัญหา

ช่วงที่เรากำลังอยากทำประเด็นนี้ ต้องขอทุน พอเราเปิดเป้าหมายของ สสส. เขานิยามพ่อแม่ไว้สองกลุ่ม คือพ่อแม่ ครอบครัวในฐานะผู้ประสบปัญหาที่ต้องให้ความช่วยเหลือ กับพ่อแม่ในฐานะเครื่องมือพัฒนาสังคม เรารู้สึกว่าอันนี้แหละใช่เลย เราเริ่มต้นจากว่าอยากให้เด็ก ability to live มีทักษะการใช้ชีวิต และ ability to learn หรือเรียนรู้เป็น เราไม่ต้องทำผ่านโรงเรียนก็ได้ แต่เราทำผ่านพ่อแม่ได้ และประกอบกับว่าเราไปเจอบังนี เลยมองว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราน่าจะทำให้เขาลุกขึ้นมาสู้กับเรื่องบางเรื่องได้ หรือลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่อยากทำ หรือทำให้พื้นที่นั้นดีขึ้นได้ด้วยพลังของเขาโดยมีเราสนับสนุน ส่งกำลังใจ เป็นเพื่อน

เท่าที่ฟัง การมีพ่อแม่ที่มีเวลาให้ลูกได้ก็ค่อนข้างเรียกร้องความคล่องตัว เวลาและการเงินประมาณหนึ่ง

ใช่ และเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจัดปรับได้ตามสภาพคล่อง ซึ่งเราว่าเด็กเขาเข้าใจ เรียนรู้ได้และปรับตัวได้

ตอนที่เราทำโฮมสคูลหนักๆ ก็อยู่กับลูกตลอดเวลา จนมาช่วงที่โควิดระบาด โปรเจ็กต์ทั้งหลายเข้ามาจนไม่มีเวลาให้ลูกเลย เรารู้สึกผิดตลอดเวลา เรียกร้องกับตัวเองเยอะ เราก็พยายามจะอยู่ให้ได้ตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม ซึ่งยิ่งสะสมความเครียดให้ตัวเองค่ะ ถามว่าใครที่ปรับตัวไม่ได้ เราเองนะ ลูกปรับตัวได้ตั้งนานแล้ว เขาก็จะมีงอแงบ้างแหละ แต่เขาก็จะบอกเราว่าไม่เป็นไรนะแม่ อย่างเช่นเราพยายามอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกคืน วันละ 6-7 เล่ม แต่มีวันนึงอ่านแล้วหลับ เหนื่อยมาก ทำงานทั้งวัน ลูกก็บอกว่า แม่ วันนี้สองเล่มก็พอนะ (หัวเราะ) คือจริงๆ เด็กเขารู้ เขาเรียนรู้ และสัมผัสถึงความเหนื่อยของเราได้โดยที่เราไม่ต้องสอนหรอก เราอยู่ด้วยกัน เขาก็รู้ เขาจึงปรับตัวและเข้าใจได้ แต่ว่าบางอย่างที่ไม่เข้าใจก็คุยกัน ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไม

ทุกวันนี้มีปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครอบครัว คือเรื่องวัยที่ห่างกันมากๆ ระหว่างคนเป็นพ่อแม่และลูก ในทวิตเตอร์ถึงขั้นมีบอกว่าบ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับในบางกรณี มองเรื่องนี้อย่างไร

สุดท้ายไม่ว่าคนจะอายุเท่าไหร่ เขาก็เป็นมนุษย์ เขามีเรื่องราวของเขาซึ่งเราต้องให้ความเคารพ เราก็ต้องให้ความเคารพเด็ก เราไม่ได้มองว่าเด็กเป็นผู้ประสบภัย ตอนที่เราทำโฮมสคูลก็เช่นกัน เราก็เคยมองว่าลูกช่างใสซื่อบริสุทธิ์ เขาเพิ่งเกิด เราต้องเป็นคนให้ความรู้ ซึ่งนี่แหละที่จะทำให้เราพลาด เพราะจริงๆ มันคือการเรียนรู้ร่วมกัน เราก็ได้เรียนรู้ เป็น learning ที่ขนานกันไป

อย่างลูกเราเล่น Minecraft (วิดีโอเกมแซนด์บ็อกซ์) เราเชื่อไหมว่ามีการเรียนรู้อยู่ในนั้น มีนะคะ เช่น การสร้างอาคาร การทำภาพสามมิติ ให้เด็กฝึกทักษะ และส่วนตัวเราไม่ได้มองเทคโนโลยีเป็นผู้ร้ายด้วย เรามองเป็นเครื่องมือทางการเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะของคนเจนเนอเรชันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้แล้ว อย่างลูกชวนดู The Baby-Sitters Club (ซีรีส์ว่าด้วยกลุ่มเพื่อนสาวที่ชวนกันเปิดบริการรับเลี้ยงเด็ก) เราอาจจะมองว่าเป็นซีรีส์ของเด็กๆ นะ ซึ่งแบบนี้ learning ก็จะไม่เกิดแล้ว ความสัมพันธ์ก็ไม่เกิดด้วย แต่พอเราไปนั่งดูกับลูก เราก็จะพบว่าสังคมอเมริกันเป็นแบบนี้ เราบอกลูกได้ว่าการรวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจหรือสร้างชมรมเป็นเรื่องปกติของสังคมอเมริกัน แลกเปลี่ยน คุยกันได้ แบบนี้การเรียนรู้จะเกิด ลูกก็ไม่รู้สึกว่าเราต้านโลกของเขา ซึ่งเราก็ไม่ได้ต้านโลกของเขาจริงๆ

ผู้ปกครองสามารถเป็นฝ่ายเรียนรู้ แต่สังคมไทยมักมองว่าเด็กต้องเป็นผู้รับ?

นี่เป็นสิ่งที่ถ้าเราข้ามไม่ได้ก็จะทำให้การเรียนรู้อื่นๆ ยากด้วยนะ ถ้าเราไม่เคารพเด็กในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งน่ะ

เวลาพูดแบบนี้ดูสวยๆ เนอะ แต่จริงๆ ถ้าเราไม่ผ่านจุดนี้ จุดอื่นๆ ก็ไม่มานะ เราจะบอกว่า life long learning การเรียนรู้ที่จะอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ต่างๆ จะไม่เกิดเพราะเรามองแบบนั้น ถ้าคุณมองว่าเด็กเป็นฝ่ายต้องรับอย่างเดียว

เด็กเขาก็อยากสำรวจโลก เพราะการเติบโตคือการสำรวจ ทำความเข้าใจ เรียนรู้โลกไปเรื่อยๆ พ่อแม่ก็จะมีส่วนช่วยได้ เขามีปฏิสัมพันธ์กับครูแบบมีข้อจำกัดเพราะจำนวนต่างกัน เช่น ครูหนึ่งคนนักเรียนร้อยคน เป็นต้น เด็กกลับบ้านไปมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ก็ได้ ถ้าเขาอยากรู้บางอย่าง

สมมติเด็กไปถามพ่อแม่ อาจจะเป็นคำถามจากโรงเรียนก็ได้ พ่อแม่ก็อาจยอมรับได้นะว่าไม่รู้ เราไปหาคำตอบด้วยกันได้ไหม แล้วเดี๋ยวนี้การหาคำตอบไม่ยากเลย เปิดกูเกิลก็ได้ เราว่าเรื่องพวกนี้ขยายและทำได้ และไม่ใช่แค่พ่อแม่ด้วย ถ้ามีเด็กอยากเรียนรู้เรื่องการทำงานสัมภาษณ์ เขาก็อาจมาถามขอความรู้จากคุณ สร้างการเรียนรู้กันได้ และถ้าทุกคนมีความรู้สึกว่าการสร้างเยาวชนไทยเป็นภารกิจหนึ่งของเขา ครูก็จะไม่แบกภาระ หน้าที่ทั้งหมดก็จะกระจายไปสู่คนอื่นๆ ได้เหมือนกัน เด็กรอดได้เหมือนกัน