สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังลุกลามหนักในเมืองไทยช่วงนี้ สร้างความปั่นป่วนให้กับทุกวงการ โดยเฉพาะการที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดเทอมได้ตามปกติ ทำให้บทบาททั้งของครูและพ่อแม่ที่ต้องดูแลเรื่องเรียนออนไลน์ไปกับลูกด้วยนั้น กลายเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย
วันนี้ กสศ.ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.รังรอง สมมิตร สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า คุณครูควรจัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไรให้เหมาะสมกับเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย รวมถึงพลังของพ่อแม่และชุมชนในการช่วยสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ของเด็ก
เด็กปฐมวัยกับการเรียนออนไลน์
เด็กปฐมวัยควรทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมดังกล่าวหายไปหมด พอเรียนออนไลน์ ครูส่วนใหญ่อาจมีข้อจำกัดเรื่องไอเดียและงบประมาณ ชิ้นงานที่ส่งให้เด็กจึงเป็นใบงานเสียส่วนใหญ่ เช่น ระบายสีในกรอบ ฝึกเขียนพยัญชนะ แต่เด็กบางคนอาจไม่พร้อม ในขณะที่พ่อแม่ก็ต้องเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำ ผลคือ เด็กจะรู้สึกคับข้องใจ ครูและพ่อแม่จึงเหมือนกำลังดับทำลายความอยากรู้อยากเรียนของเด็กโดยปริยาย ซึ่งสิ่งนี้จะเรียกฟื้นคืนยาก
การเรียนออนไลน์ที่ดีเริ่มต้นที่การออกแบบการสอน เด็กเล็กไม่ควรเรียนออนไลน์ยาวนาน เพราะต้องอยู่กับหน้าจอ ถ้าจะเรียนออนไลน์ก็ควรเป็นลักษณะที่สั้นที่สุด โปรแกรมออนไลน์ควรจะเป็นอย่างไร คุณครูควรจะรู้บริบทบ้านของเด็กๆ ก่อนที่จะมาออกแบบแผนการสอน
หนึ่ง ดูความพร้อมเรื่องสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นมือถือหรือความพร้อมของพ่อแม่ที่จะเรียนด้วย ถ้ายังไม่มีความพร้อมก็ควรตัดออกไป
สอง กิจวัตรประจำวันของเด็กควรจะถูกโยงออกแบบมาในบทเรียนออนไลน์ เพื่อให้การเรียนออนไลน์นั้นมีความหมายต่อเด็ก เช่น ทำงานบ้านได้ก็มีผลต่อวิชาคณิตศาสตร์ เล่นอะไรบางอย่างในบ้านหรือผู้ปกครองหยิบจับได้ ก็สามารถเอามาออกแบบเป็นการสอน
คุณครูลองมองกิจวัตรประจำวันที่โรงเรียนแล้วคิดกลับมาเป็นกิจวัตรประจำวันที่บ้าน พูดคุยกับผู้ปกครองว่า ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เขามีกิจวัตรอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองมองเห็นว่า ช่วงเวลาไหนที่เขาสามารถหยิบยกมาทำกิจกรรมที่เป็นเวลาที่มีคุณภาพกับลูกได้
ดังนั้นคุณครูต้องคุยกับพ่อแม่ ต้องช่วยกันมองว่า ตอนเช้าหรือตอนเย็นฟังนิทานสักเรื่องได้ไหม เหมือนที่พ่อแม่เอาลูกมาฝากแล้วดูกิจวัตรที่โรงเรียน ต้องมองกลับกันเป็น home-based learning มองดูกิจวัตรที่บ้านของเด็กเพื่อร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายกับเด็กจริงๆ และต้องเป็นไปได้จริงๆ ซึ่งความเป็นไปได้นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
เด็กๆ เขาพร้อมเรียนรู้กับทุกอย่างรอบตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องออกแบบดีๆ ให้ร้อยกับชีวิตของเขาให้ได้ เด็กเล็กๆ เรายังย้ำเรื่องฟังนิทาน ทำงานบ้าน และการเล่น เหมือนที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พูดทุกประการ บางทีคุณครูอาจต้องสอนออนไลน์น้อยลง แล้วมาให้ความสำคัญร่วมกับผู้ปกครองในเรื่องการเรียนรู้ของเด็กที่บ้านแทน
การเรียนออนไลน์กับพ่อแม่อาจเป็นเวลาหลังเลิกงาน เพื่อมาออกแบบการเรียนรู้กับลูกร่วมกัน พ่อแม่ทุกคนรักลูก คุณครูจึงต้องช่วยบอกเขาทีว่า เขาจะทำอะไรเพื่อลูกได้บ้าง เราต้องออกแบบโปรแกรมที่จะออนไลน์ให้เหมาะสมกับช่วงเวลา อาจเป็นช่วงเวลาหลังทำงาน คุณครูอาจจะต้องเสียสละโดยใช้ช่วงเวลาพักผ่อนมาคุยกันสักสิบถึงสิบห้านาที คุยเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ของลูก รวมถึงให้ Parents Kit หรือคู่มือผู้ปกครองว่าด้วยเรื่องบทบาทของพ่อแม่ การพูดจา และวิธีการเล่นกับลูกแบบบ้านๆ ที่เป็นไปได้
ในวิกฤตมีโอกาส : พลังของพ่อแม่และคุณครู
โควิดทำให้ต้องอยู่กับบ้าน เราใช้โอกาสนี้สร้าง mindset ของพ่อแม่ผู้ปกครองเรื่องการเรียนรู้ในเด็กเล็กเสียใหม่ ตอนนี้พอทุกอย่างหยุดเพราะโควิด ผู้ปกครองก็นั่งรอบทเรียนออนไลน์จากคุณครู สะท้อนให้เห็นว่า พ่อแม่ก็ลืมไปแล้วว่าตัวเองมีพลังเรื่องการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก เขาอาจไม่เชื่อว่าทำได้ แต่จริงๆ แล้วเขาทำได้ และทำได้ดีด้วย
ระยะใกล้ ถ้าทำได้ โรงเรียนและคุณครูควรจะทำ Parents Kit เป็นคู่มือให้ผู้ปกครองว่า ในหนึ่งวันผู้ปกครองสามารถลงไปเล่นกับลูกในช่วงเวลาใดบ้าง และในช่วงเวลาที่เล่นนั้นอาจมีคำแนะนำเกี่ยวกับการสนทนา การตั้งคำถามกับลูกก็ได้ เช่น ฟังนิทานเสร็จควรพูดอะไรกับลูก รวมถึงแหล่งนิทานออนไลน์ที่เป็น Read Aloud ซึ่งมีเยอะแยะตอนนี้ พ่อแม่เปิดให้ดูได้ก่อนไปทำงาน อย่างน้อยเด็กก็ได้ฟังคลังคำศัพท์จากนิทานชั้นดีที่เลือกแล้ว สามารถเข้าถึงด้วยดิจิทัล ใน Parents Kit ก็อาจมีการตั้งวงออนไลน์ของพ่อแม่เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน
ระยะยาว ควรเพิ่มองค์ความรู้ เหมือนให้ซอฟต์แวร์กับพลเมืองเรา ให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานเลย เช่น รู้ว่าการเล่นอย่างอิสระในวัยเด็กมีผลดีต่อการเรียนรู้และกระบวนการคิดของคนไปตลอดชีวิต เพื่อให้คนเป็นพ่อแม่ได้เอาองค์ความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานมาสอนลูกต่อไป เราควรส่งเสริมให้ทุกคนรู้ก่อนที่จะกลายมาเป็นพ่อแม่ เราควรมีเนื้อหาเหล่านี้ในสื่อสาธารณะให้มาก เหมือนเรารณรงค์เรื่องบุหรี่ ก็ควรรณรงค์เรื่องการเรียนรู้ของคนด้วย
ออกแบบการประเมินที่เหมาะสม
มีแต่ผู้ปกครองบ่นเครียดเรื่องเรียนออนไลน์ของลูก คุณครูจึงต้องผ่อนคลายการเรียนตามมาตรฐานตัวชี้วัดลง สำหรับชั้นอนุบาลคงไม่ตึงเครียดมากนัก แต่ถ้าเป็นระดับอื่น คุณครูควรผ่อนปรนเรื่องตัวชี้วัดลงเพื่อให้การเรียนรู้ไปต่อได้ มิฉะนั้นจะเสียไปทั้งระบบ หากพัฒนาการหยุดชะงัก การเจริญเติบโตของเด็กก็จะถดถอย
เรื่องการประเมิน ถ้าเราออกแบบการเรียนรู้แล้ว คุณครูก็ควรออกแบบการประเมินที่เหมาะสมเคียงคู่ไปด้วย และเอาตามที่เป็นไปได้ เช่น การประเมินความสามารถของเด็กว่ากินข้าวเองได้ไหม ไม่จำเป็นต้องเอาเด็กมานั่งหน้าจอกินข้าวให้ดู แต่มีวิธีที่แนบเนียนกว่าคือ ให้พ่อแม่เล่าเรื่องประจำสัปดาห์ หรือเขียนบันทึกให้เรารู้ว่าเด็กมีพัฒนาการสมวัย ไม่ต้องตรงไปตรงมาจนพ่อแม่รู้สึกเครียดกังวลไปด้วย
สภาพจิตใจผู้เรียนคือสิ่งสำคัญ
เวลาสอนเด็กแล้วเด็กทำไม่ได้ คุณครูก็แสดงอารมณ์ใส่เด็ก ในช่วงโควิดรอบแรก เชื่อว่าครูไม่ได้ถูกเทรนให้สอนออนไลน์ ครูทุกคนจึงพะวักพะวนกับเทคนิค ว่าจะสอนยังไงให้ทันกับการประเมินผล แต่พอมาโควิดรอบสาม ครูทุกคนตระหนักถึงสภาวะจิตใจของเด็กแล้ว เริ่มหันมามองเรื่องบูรณาการงานร่วมกัน งานหนึ่งชิ้นที่เด็กทำสามารถประเมินได้หลายวิชา เพื่อลดทอนเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่าย รวมถึงเวลาของเด็ก
ไม่มีเด็กคนไหนที่อยู่หน้าจอตั้งแต่เช้าจนเย็นแล้วบอกว่าโอเค ผู้ใหญ่ยังไม่โอเคเลย จึงต้องจัดสัดส่วนการออกแบบแผนการเรียนออนไลน์ให้ดีๆ เพราะนอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว เรื่องของความสัมพันธ์ก็ต้องให้ความสำคัญด้วย
แต่ตอนนี้ก็เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น หลายโรงเรียนก็เรียนสองสัปดาห์แล้วพักหนึ่งสัปดาห์ เราก็ได้เรียนรู้ว่าเด็กไม่ไหวจริงๆ ตัวครูเองก็ต้องปรับตัวเรื่องสร้างความสัมพันธ์ ถ้าจะต้องเรียนออนไลน์ ในบทเรียนหนึ่งต้องมีสัดส่วนเรื่องมนุษย์กับมนุษย์คุยกันบ้าง เรื่องสัมพันธภาพ ความทุกข์สุข
ร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้
เนื่องจากโควิดรอบแรกต่อรอบสอง อาจารย์ได้ไปทำกิจกรรมโรงเรียน Read Aloud คือไปแนะนำศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนชั้นประถม ให้คุณครูกลุ่มนี้เขารู้จักหนังสือนิทานภาพและวรรณกรรมเด็กที่เหมาะแก่การอ่านให้ฟัง ใครมีงบประมาณเขาก็ซื้อ อย่างน้อยเพื่อให้มีทรัพยากรนิทานหมุนเวียน ผู้ปกครองก็ยืมนิทานกลับไปใช้ได้ ศูนย์เด็กเล็กไหนพร้อมก็ทำที่ศูนย์เด็กเล็ก ชุมชนไหนพร้อมก็วางไว้ที่ อบต. ถ้ามีพื้นที่แบบนี้อย่างน้อยเด็กๆ ก็มีนิเวศของการเรียนรู้ในชุมชน ที่สามารถมานำนิทานกลับไปอ่านได้
ที่จังหวัดนครนายก ชุมชนเขาเข้มแข็งมาก มีตะกร้านิทานที่ร้านขายของชำ แม่ที่มีลูกเล็กก็มาหยิบนิทานที่ร้านขายของชำไปอ่านให้ลูกฟัง สลับสับเปลี่ยนกันไป จริงๆ แล้วไม่ควรต้องเป็นโครงการพิเศษ แต่ควรจะเป็นรัฐสวัสดิการ ท้องถิ่นที่เข้าใจเรื่องนี้ แล้วสร้างนิเวศการเรียนรู้ในชุมชนของตัวเองขึ้นมา จะเป็นหนังสือนิทาน ของเล่นพื้นๆ ก็ได้
ตอนที่ไปทำเรื่องหนังสือโมบายล์ ก็แอบเอาไม้บล็อกของเล่นเด็กอนุบาลไปด้วย ไปจัดที่ศาลาวัดคล้ายงาน Book Market คือ นำนิทานไปให้เด็กๆ ในหมู่บ้านอ่าน เราเข้าไปทำด้วยความสม่ำเสมอ ปรากฏว่ากล่องบล็อกของเล่นเด็ก คนที่เล่นสนุกคือเด็กมัธยมในหมู่บ้าน เขาเล่นกันใหญ่ เพราะว่าเขาไม่เคยเล่นมาก่อน เขาเล่นสนุกมากกับของเล่นสำหรับเด็กสามขวบ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเล่นของเด็กไทยหายไปเยอะมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะขั้นการเล่นของเด็กแต่ละขั้นคือพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือการประสานทักษะสังคม เราตกใจมากเลยที่เห็นเด็ก ม.3 ม.1 สนุกมากกับการเล่นไม้บล็อก เพราะถ้าขาดหายไปในช่วงเวลานี้ก็แสดงว่าศักยภาพหลายอย่างของเด็กไทยยังเติมไม่เต็ม
สองมือของพ่อแม่ คงความอยากรู้ของเด็กไว้
พ่อแม่ทุกคนหวังให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี แต่หวังแล้วต้องกลับมาดูสภาพความจริงด้วยว่า ลูกตอนนี้เป็นยังไง ตอนนี้อยู่หน้าจอเขามีพัฒนาการอย่างที่คาดหวังไว้หรือเปล่า
ที่อยากฝากจริงๆ ก็คือ โควิดจะอยู่กับเรานานแค่ไหน เราไม่รู้ แต่ลูกอยู่กับเรา ถ้าเป็นเด็กเล็กก็อยู่กับเราไม่กี่ปีนี้ สิ่งที่เขาเรียนรู้ซึ่งสำคัญมากกว่าหน้าจอที่ครูส่งมาก็คือ ตัวแบบของพ่อแม่ที่เขาซึมซับ อย่าลืมว่าคุณเป็นคนสำคัญมากๆ แม้ว่าพ่อแม่ต้องทำมาหากิน แต่เวลาของลูกที่จะเติบโตก็มีไม่มาก ลองตั้งหลักดีๆ เช่น งานบ้านที่เรามองเห็นว่าธรรมดาก็ช่วยพัฒนาลูกได้ การพูดจากับลูกในหนึ่งวัน แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นเวลาที่มีคุณภาพ เพราะเป็นการสื่อสารเชิงบวกที่จะพาลูกเรียนรู้ต่อไปได้
ฝากกำลังใจให้พ่อแม่ว่า พลังของพ่อแม่จะพาพลเมืองเจเนอเรชั่นที่อาจโชคไม่ดีที่ต้องมาเรียนออนไลน์สองปีแล้วให้เติบโตต่อไปได้ ส่วนคุณครูที่โรงเรียนก็พยายามปรับตัว แต่ก็ต้องการพลังจากทางบ้านด้วย เพื่อช่วยกันให้การเรียนรู้ของเด็กไม่หยุดชะงัก อย่าให้สองปีนี้ที่ผ่านไปทำให้เด็กๆ กลายเป็นคนที่ไม่อยากเรียน ไม่อยากรู้ ซึ่งน่ากลัวมาก
การเขียนการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความอยากเขียนอยากอ่านก็ต้องคงไว้ พ่อแม่ต้องระวังเรื่องนี้ด้วย พ่อแม่อย่าเครียดกับลูกมากจนกระทั่งลูกรู้สึกว่าการเรียนเป็นยาขม มีเส้นทางสายกลางที่เดินได้ ทั้งการอ่านการเขียน กับความอยากอ่านอยากเขียน สิ่งนี้ต่างหากที่สำคัญ
ฝากกำลังใจถึงคุณครู : ออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายกับเด็ก
ให้กำลังใจคุณครู เพราะเจอโควิดมาสามรอบแล้ว คุณครูก็ปรับตัวกันเยอะ ครูเป็นผู้ที่ทำให้พลเมืองรุ่นนี้อยากเรียนรู้ต่อ นี่เป็นบทบาทของครู ครูอาจต้องหันกลับมามองภาพรวมของการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ว่า มีความหมายกับเด็กผู้เรียนไหม และมันยังคงความอยากเรียนให้แก่เด็กหรือเปล่า
อาจจะต้องจับมือกับผู้ปกครองแน่นๆ เพื่อทำให้รู้ว่า การเรียนรู้ที่บ้านก็สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้เหมือนที่เขามาอยู่ที่โรงเรียนได้ อาจจะให้คำแนะนำ ทำไกด์ไลน์ให้ผู้ปกครอง แนะนำแหล่งเรียนรู้ เช่น นิทานเสียง นิทานภาพที่เขาเข้าถึงได้ ดูกิจวัตรประจำวันร่วมกันว่า ช่วงเวลาไหนทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เพื่อทดแทนการนั่งเรียนออนไลน์ตลอดทั้งวัน ซึ่งก็ได้ค้นพบแล้วว่า เป็นไปได้ยากสำหรับเด็กเล็ก และสร้างผลเสียต่อทัศนคติความอยากเรียนรู้ของเด็กมากกว่าค่ะ