School Town King : เปิดโลกเหลื่อมล้ำผ่านชีวิตจริงแร็ปเปอร์คลองเตย
โดย : กองบรรณาธิการ The 101.world

School Town King : เปิดโลกเหลื่อมล้ำผ่านชีวิตจริงแร็ปเปอร์คลองเตย

::LIVE:: 101 One-on-One EP.198 School Town King : เปิดโลกเหลื่อมล้ำผ่านชีวิตจริงแร็ปเปอร์คลองเตย

คุยเบื้องหลังสารคดีที่ว่าด้วยชีวิตของเด็กหนุ่มจากคลองเตยสองคน ‘บุ๊ค’ และ ‘นนท์’ ที่ฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์

ตลอดการถ่ายทำกว่า 2 ปี ที่ตามติดชีวิตของพวกเขาตั้งแต่ตื่นนอน เรียนหนังสือ แต่งเพลง ไปจนถึงช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดี ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ที่ฉายภาพให้เห็นความฝันของหนุ่มสาวที่พลุ่งพล่าน ขณะเดียวกันก็ยืนอยู่บนซากปรักหักพังของความเหลื่อมล้ำในสังคม การเข้าถึงโอกาสของพวกเขาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างใจคิด

101 ชวนผู้กำกับ เบส – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และสองตัวละครหลัก บุ๊ค – ธนายุทธ ณ อยุธยา และ นนท์ – นนทวัฒน์ โตมา มาพูดคุยตั้งแต่วิธีคิด วิธีทำงานสารคดี และคุยถึงชีวิตของพวกเขาในปัจจุบัน

ความฝัน ความหวังของพวกเขาเป็นอย่างไร พวกเขามองสังคมอย่างไร และเรื่องราวเหล่านี้สะท้อนสังคมเราแบบไหน

:: เมื่อการศึกษาคือเพดานกั้นความฝัน ::

ผมมองภาพการศึกษาคล้ายกับบันไดที่ต้องก้าวข้ามเป็นขั้นๆ แต่บันไดนี้เป็นบันไดที่มีแบบเดียว และอาจจะเหมาะกับเด็กแบบหนึ่ง แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่อาจจะไม่เหมาะกับบันไดแบบนี้ เช่น บุ๊ค (ธนายุทธ ณ อยุธยา) ที่รู้แล้วว่าบันไดแบบปัจจุบันไม่ใช่แบบที่เขาต้องการแน่ๆ และยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่เป็นแบบนี้

สำหรับผม บันไดการศึกษาไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกถึง sense of ownership หรือทำให้รู้สึกว่า การตื่นไปโรงเรียนทุกวันจะทำให้ค้นพบอะไรในตัวเอง ยิ่งเด็กที่เป็นแร็ปเปอร์ พวกเขาค้นพบตัวเองในทุกๆ วันที่นั่งเขียนเนื้อเพลงอยู่แล้ว แต่เมื่อพูดในมุมของความเหลื่อมล้ำ การจะย้ายไปทางอื่นมีความเสี่ยงและราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก บันไดของคนอื่นอาจจะมีฐานเป็นปูน แต่บันไดของบุ๊คและนนท์ (นนทวัฒน์ โตมา) เปราะบางกว่านั้น

ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดขึ้น สำหรับคนที่บ้านมีฐานะ ถ้าล้มมาก็อาจจะมีคนคอยช่วยสนับสนุน แต่สำหรับบางคน การที่เขาอยากไปอีกทางมันมีความเปราะบางนะ ตอนนี้เหมือนกับใครที่ร่วงออกจากบันไดนี้ไปจะกลายเป็นผู้แพ้ไปหมด สำหรับเด็กบางคนเขาไม่ได้สนุกกับสิ่งนี้ การศึกษาไม่ได้ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ได้ทำให้พวกเขาได้ใช้หรือค้นพบศักยภาพของตัวเองให้มากที่สุด สุดท้ายพวกเขาก็ต้องตกอยู่ในลูปของความเหลื่อมล้ำต่อไป

ผมคิดว่าการศึกษาควรจะต่อยอดให้คนทะลุฝ้าหรือเพดานบางอย่างออกไปได้ เพื่อให้ได้ใช้ชีวิต ศักยภาพ และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเก่งที่สุด ซึ่งมักจะตามมาด้วยการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่พอการศึกษาและความเหลื่อมล้ำเป็นแบบนี้ ก็กลายเป็นว่าเด็กถูกบีบให้เลือกบันไดแบบนี้เท่านั้น และเมื่อการศึกษาไม่ได้สนับสนุนเขา เด็กก็อาจจะโตไปเป็นอะไรที่ไม่ได้อยากเป็น

:: School Town King ::

ที่มาของชื่อ School Town King ต้องย้อนกลับไปตอนที่พวกผมทำโครงการ Conne(x)t Klongtoey  (โครงการความร่วมมือระหว่าง Eyedropper Fill กับคุณครูอาสาสมัครจาก Teach For Thailand) พวกเราถามกลุ่มน้องๆ ว่า ถ้าให้ตั้งชื่ออัลบั้มหรือศิลปินสักคนจะตั้งชื่อว่าอะไร คำตอบที่ได้คือ ‘School Town King’ ซึ่งตอนนั้น ชื่อ School Town King ก็มีความหมายแบบหนึ่ง

พอมาตอนนี้ ผมรู้สึกว่าคำนี้ดีนะ เพราะ School ก็เปรียบเสมือนเป็นเพดาน เป็นโรงเรียนที่กดเราเอาไว้ ส่วน Town คือเมืองที่เขาอยู่ คือชุมชนคลองเตย คือความเหลื่อมล้ำ ส่วน King ก็อาจจะตีความได้กว้าง แต่ในหนังเรื่องนี้ ผมมองว่าเด็กทุกคนมีพรสวรรค์และสามารถเป็นราชาในแบบของตัวเอง เช่น เป็นราชาแร็ปเปอร์ แต่ประเทศนี้กลับบีบให้คนต้องเป็นแบบที่สังคมต้องการ

:: ภาวะกดทับในระบบการศึกษาไทย ::

ผมเจอปัญหาในระบบการศึกษามาตั้งแต่ประถม ซึ่งอาจจะเป็นภาวะกดทับแบบหนึ่ง เด็กที่ออกนอกแถวหรือแตกแถวจะโดนอาจารย์กดให้กลับเข้าไป ห้ามออกมาจากกลุ่มเพื่อน อย่างตอนเรียนชั้นมัธยมต้น ผมเรียนเก่งมาก คุณครูรักและเรียกผมว่าลูกเลย แต่พอมาเรียนมัธยมปลาย เราเริ่มค้นหาตัวเองเจอแล้วทำให้ผลการเรียนดรอปลง แต่ผมก็ยังมุ่งมั่นกับสิ่งที่เป็นตัวเองอยู่ ที่บ้านบอกให้ตั้งใจเรียน ผมก็เรียนไปตามที่เขาบอก แต่ค้นพบว่าถึงเราจะเรียนเก่ง กลับรู้สึกไม่ภูมิใจเท่าตอนที่เพลงของเรามีคนฟังเป็นหมื่นคนเลย ซึ่งพอผมรู้แล้วว่าตัวเองรักและชอบอะไรจริงๆ เลยมุ่งมั่นไปทางนั้น แต่พอเกรดเราตก ครูก็มองว่าเป็นเด็กเหลวไหลและเริ่มเหลวแหลก เริ่มจับผิด ตรงนี้ผมคิดว่า ทั้งตัวครูและสังคมในโรงเรียนก็อาจจะเป็นสาเหตุใหญ่ข้อหนึ่งที่ทำให้นักเรียนลาออกจากโรงเรียนก็เป็นได้

อีกเรื่องคือการศึกษานอกระบบ หลายคนอาจมองว่า คนที่เรียน กศน. เป็นคนที่ไม่อยากเรียนหนังสือ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก การทำงานหาเงินเพื่อมาจุนเจือครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กหลายคน และทำให้บางคนต้องยอมลาออกไปทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว กศน. จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เขามีเวลาทำงานมากขึ้น เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งในและนอกระบบล้วนมีความสำคัญหมด

:: #ถ้าโรงเรียนดี ::

การศึกษาในปัจจุบันอาจจะตอบแค่โจทย์ของคนกลุ่มเดียว แต่ไม่ใช่สำหรับคนกลุ่มอื่น ผมมีเพื่อนที่เรียนไม่เก่ง แต่เล่นกีฬาเก่งมาก มีสิทธิติดทีมชาติเลย แต่กลับไม่มีวิชาหรือไม่มีเวลาเพียงพอให้เขาได้เล่นกีฬา มันเหมือนสกัดดาวรุ่งนะ และยังทำให้เราได้ความรู้ไม่เต็มที่ด้วย

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้โรงเรียนหรือระบบการศึกษาสร้างห้องเรียนแต่ละวิชาขึ้นมา อาจจะเป็นในช่วงชั้นมัธยมปลายก็ได้ เพราะก่อนหน้านี้เด็กจะได้เรียนวิชาพื้นฐานที่จำเป็นมาก่อน พอสร้างห้องเรียนแต่ละวิชาแล้ว เด็กคนไหนอยากเรียนวิชาอะไรหรืออยากได้ความรู้ด้านไหนก็เข้าไปในห้องนั้น ซึ่งน่าจะทำให้เด็กมีอิสระทางความคิดมากขึ้นว่า ถ้าเรียนไปแล้วรู้สึกว่าไม่เวิร์กก็เปลี่ยนไปเรียนวิชาอื่นได้

ผมรู้ว่าตรงนี้มันยากมากนะ แต่ก็อยากให้เป็นไปได้จริง เพราะถ้าโรงเรียนดี ครูคงไม่ต้องตีเส้นทางให้เด็ก เพราะเด็กน่าจะมีความคิดที่แตกต่างและดีกว่านี้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนน่าจะให้อิสระทางความคิดแก่เด็ก รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เจอความรู้ที่แตกต่างหลากหลายด้วย

:: ระบบการศึกษา ระบบอำนาจนิยม ::

ระบบการศึกษาเป็นระบบอำนาจนิยม พยายามทำให้คนเป็นแบบเดียวกันจะได้ถูกควบคุมง่ายๆ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เวลาใครอยากทำอะไรล้ำๆ ในไทยต้องดิ้นรนเลือดตาแทบกระเด็น

ตอนที่ถ่ายบุ๊คกับนนท์ ผมก็คิดนะว่า น้องแค่อยากจะแร็ปอย่างจริงจัง แต่กลับต้องเจออะไรที่หนักหนาสาหัสมากเมื่อเทียบกับวัย ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่ในวัยที่ควรจะได้ค้นหาตัวเองว่า อยากแต่งตัวแบบไหน พูดภาษาอะไร ทำผมทรงไหน เลือกเรียนอะไร พวกเขาควรได้รับอิสระและเปิดกว้าง รู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของความคิดและร่างกายของตนเอง นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ระบบกลับกัดกร่อนอัตลักษณ์หรือความฝันไปเรื่อยๆ เหมือนจะบีบให้เราเป็นคนแบบที่ระบบต้องการ เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงระบบอำนาจต่อไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ระบบก็เอาไม่อยู่แล้ว เพราะเด็กรุ่นนี้ไปไกลมากๆ ชนิดทะลุฝ้ากันหมด

ประเด็นน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ เด็กรุ่นปัจจุบันแตกต่างจากสมัยผมเด็กๆ  โลกที่เขาก้าวออกไปหลังเลิกเรียนมันเปิดกว้างและไปไกลมากแล้ว แต่ระบบกลับยังเหมือนเดิม โรงเรียนก็ยังเหมือนเดิม ตรงนี้จึงทำให้เกิดความตึงเครียดหรือความขัดแย้งบางอย่างระหว่างโลกในโรงเรียนกับโลกภายนอกด้วย

:: เสียงจากเยาวชน ถึงผู้ใหญ่ที่บอกว่าเด็กก้าวร้าว ::

ธนายุทธ: การบอกว่าเด็กและเยาวชนที่ออกมาชุมนุมก้าวร้าวเป็นคำพูดที่หนักและรุนแรงมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่รัฐบาลทำกับประชาชน ผมว่าการแสดงออกทั้งทางจิตวิทยาหรือคำพูดมันเบสิกมาก ตัวผมเองมีโอกาสได้ขึ้นไปแร็ป ไปพูด ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาออกมาจริงๆ ถ้าผู้ใหญ่มองว่าเด็กและเยาวชนออกมาพูดรุนแรงเกินไป ให้ลองมองความจริงดู แล้วจะเห็นว่าอะไรคือความหยาบกร้านที่แท้จริง

นนทวัฒน์: ผมว่าตรงนี้สะท้อนค่านิยมเก่าๆ ที่มองว่าคนต้องพูดเพราะ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า คนทั้งบ้านทั้งเมืองไม่ได้พูดเพราะ แต่ทำไมกลับมาจับจ้องว่าการชุมนุมมีการพูดจาก้าวร้าว คนที่บอกว่าเด็กและเยาวชนก้าวร้าว ผมว่าเขาก็อาจจะพูดแบบนั้นหรืออาจจะด่ายิ่งกว่านั้น ซึ่งเขาน่าจะลองเปิดโลกและเปิดใจกับเรื่องแบบนี้ดูบ้าง ดูให้เข้าใจว่า ภายใต้ความหยาบนั้น เด็กและเยาวชนต้องการสื่อสารอะไรกันแน่