บริษัท แมคคินซีย์ (McKinsey) เผยผลสำรวจความเห็นของคุณครูใน 8 ประเทศทั่วโลก พบว่า เรียนออนไลน์แทนห้องเรียนปกติไม่ได้
บริษัท แมคคินซีย์ (McKinsey) เผยผลสำรวจความเห็นของคุณครูใน 8 ประเทศทั่วโลก ในช่วงที่มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนมาใช้ระบบออนไลน์มานานร่วมเดือน โดยส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันว่า แม้จะมีอุปกรณ์การสอนครบครัน แต่การเรียนออนไลน์ก็ไม่สามารถทดแทนความรู้และประสบการณ์ในห้องเรียนปกติได้ อีกทั้งการเรียนออนไลน์ยังไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่าย เพราะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเด็กนักเรียนยากจน หรือเด็กจากครอบครัวที่มีปัญหาการเงินจะไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ บริษัท แมคคินซีย์ ดำเนินการสำรวจระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม 2020 ใน ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของวิกฤตไวรัสโควิด-19 แล้วในหลายพื้นที่ และร้ายแรงถึงขั้นทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดโรงเรียนบางส่วนหรือทั้งหมดทั่วประเทศ จนโรงเรียนหลายแห่งต้องหันมาพึ่งพาห้องเรียนออนไลน์ และปรับระบบการเรียนทางไกลมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยระยะเวลาที่ดำเนินการสำรวจเป็นช่วง 2-3 เดือนแรกที่ประเทศกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ เริ่มมีการเรียนการสอนออนไลน์มาได้สักระยะหนึ่ง
ผลสำรวจพบว่า หากต้องให้คะแนนระหว่าง 1-10 ของประสิทธิภาพการเรียนออนไลน์ (1 = แย่มาก, ไม่ดี / 10= ดีเลิศ, ยอดเยี่ยม) คำตอบโดยเฉลี่ยของครูส่วนใหญ่อยู่ที่ 4.8 คะแนน หรือปานกลางค่อนข้างไปทางแย่ และมีเพียงครูจากออสเตรเลีย แคนาดา และเยอรมนีเท่านั้น ที่ให้คะแนนในระดับสูง คือมากกว่า 6 คะแนนขึ้นไป โดย 1 ใน 3 ของครูจาก 3 ประเทศยอมรับว่า การเรียนออนไลน์ให้ประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับการเรียนที่ห้องเรียน ตรงข้ามกับครูญี่ปุ่นที่มีเพียง 2% ของครูทั่วประเทศเท่านั้นที่เห็นว่าการเรียนออนไลน์ของเด็กมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพบว่า ประสิทธิภาพการเรียนจะเปลี่ยนไปตามความพร้อมของแหล่งข้อมูลและสื่อการเรียนการสอน ทั้งนี้ ครูจากโรงเรียนรัฐให้คะแนนการเรียนทางไกลได้ผลดีเพียงแค่ 4.8 คะแนน แต่ครูโรงเรียนเอกชนให้คะแนนที่ 6.2 เนื่องจากโรงเรียนเอกชนมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ให้ครูและนักเรียนได้ครบครันกว่า ขณะที่โรงเรียนรัฐมีอุปกรณ์ไม่ครบเท่า แถมเด็กบางคนยังมีสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ จนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเรียนออนไลน์ โดยครูในโรงเรียนยากจนให้คะแนนการเรียนออนไลน์เฉลี่ยที่ 3.5 คะแนน
การเรียนออนไลน์นอกจากจะไม่ช่วยให้เด็กส่วนใหญ่ได้เรียนเนื้อหาครบถ้วนตามหลักสูตร ยังทำให้การเรียนของเด็กทั่วไปลดถอยลงเฉลี่ยอย่างน้อย 6 เดือน และยิ่งการเรียนออนไลน์กินเวลานานมากขึ้นเท่าไร ผลกระทบต่อการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ บรรดาครูระบุว่า ทักษะการเรียนเลขและการอ่านของนักเรียนเฉลี่ยล้าหลังอยู่ประมาณ 2 เดือน โดยเด็กยากจนและเด็กกลุ่มเสี่ยงในทุกประเทศ เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และการเรียนทางไกลยังมีผลกระทบต่อเด็กเล็กระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาตอนต้นมากกว่าเด็กนักเรียนในชั้นอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น ครูต่างเห็นตรงกันว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งออกมาตรการทางการศึกษาเพื่อปรับปรุงระบบการเรียนทางไกลให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของผู้เรียนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ณ เวลาสำรวจ) โดยเฉพาะในกรณีที่การเรียนออนไลน์มีแนวโน้มลากยาวนานร่วมปีเพราะวิกฤตไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจะเสี่ยงเผชิญปัญหาจากการที่เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และต้องเสียงบประมาณอีกมหาศาลในการช่วยให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง รวมถึงสามารถเรียนให้ทันตามเพื่อนได้
แม้ว่าจะสามารถกลับมาเรียนหนังสือที่ห้องเรียนได้ แต่การที่วิกฤตการระบาดยังไม่คลี่คลายอย่างเด็ดขาด ทำให้การสอนในห้องเรียนเปลี่ยนแปลงไป เช่น การที่เด็กต้องเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันที่มองไม่เห็นที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้
บริษัท แมคคินซีย์ ระบุชัดว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะทำให้การเรียนออนไลน์ยาวนานขึ้น และส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน โดยนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องมือ และอินเทอร์เน็ต จะมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการศึกษาในระดับต่ำ บางคนอาจต้องออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร ขณะที่อีกหลายคนจะกลายเป็นบุคลากรที่ขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในช่วงวัยต่อ ๆ ไป
แม้การศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จในชีวิต แต่เศษเสี้ยวเล็ก ๆ นี้กลับมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตที่ดี และรายได้ที่มั่นคงในอนาคต โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ที่ต้องการคนที่มีทักษะความสามารถที่ล้ำหน้าและรอบด้าน และมีความรู้ในระดับสูง
กระนั้น ผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดจะรุนแรงมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาที่บรรดาผู้นำแต่ละประเทศนำมาใช้ แน่นอนว่า การเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพย่อมช่วยได้ แต่แนวทางเสริมอื่น ๆ เช่น การจัดชั้นเรียนพิเศษ หรือจัดหาติวเตอร์ให้กับเด็กที่เรียนอ่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กฐานะยากจน ก็ควรถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมจัดสรรงบประมาณการจ้างครูและบุคลากรที่มีคุณภาพในการถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมถึงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้สนับสนุนการเรียนที่ดีของเด็กนักเรียน เพราะท้ายที่สุดแล้ว เด็กยังคงเรียนได้ดีที่สุดเสมอ เมื่อเรียนรู้ผ่าน “คน” ด้วยกัน ไม่ใช่ “เทคโนโลยี”
ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ความพร้อมของทรัพยากร และแนวทางกลยุทธ์การสอนที่ชัดเจน เข้าใจและใส่ใจผู้เรียนผู้สอน ครูที่ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถช่วยเหลือนักเรียนให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ จนกลายเป็นดอกเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ ครู หรือบุคลากรคุณภาพของสังคม รวมถึงปกป้องอนาคตที่ดีงามของเด็ก ๆ จากหายนะที่ทุกฝ่ายสามารถป้องกันหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้
ที่มา : Teacher survey: Learning loss is global—and significant