การปิดเมืองและโรงเรียนอันยาวนานทำให้หลายบ้านอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน ลูกๆ อยู่บ้าน พ่อแม่ทำงานอยู่บ้าน ท้ายที่สุดพ่อแม่เริ่มหมดแรงบันดาลใจหากิจกรรมมาทำกับเด็กๆ แม้ว่าการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านจะเป็นไปได้ยากมากๆ
วันนี้เรามามองพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ บ้าน บริเวณบ้าน หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ผ่านไอเดียกิจกรรมอันหลากหลาย มาเปลี่ยนบ้านให้เป็นพื้นที่เล่นสนุก และการเรียนรู้ก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ
ในหนึ่งวันเด็กๆ ควรมีตารางชีวิตประจำวันที่ชัดเจน ตื่น ดูแลความสะอาดร่างกาย กินอาหาร ออกกำลังกาย เล่น ทำงานบ้าน พักผ่อน และกิจกรรมเสริมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ชัดเจนจะช่วยเรื่องการจัดการตนเองของเด็กๆ ในเวลาเช่นนี้ได้
1. เล่น กับ ลูก
บล็อกที่มีกิจกรรมสำหรับเด็กตั้งแต่ 0-6 ขวบ รวมถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ ในการเลี้ยงเด็กวัยนี้
โดยพื้นฐานเด็กๆ วัยนี้เรียนรู้ผ่านการเล่นและปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่รอบตัว การเล่นมีหลากหลายแบบ ทั้ง Free Play คือ การเล่นแบบอิสระ ที่เด็กได้ปล่อยพลังเต็มที่ ออกแบบการเล่นเอง ผู้ใหญ่ทำหน้าที่เพื่อนเล่น หรือการเล่นที่มีการออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ทางพัฒนาการต่างๆ มาลองเลือกกิจกรรมจากบล็อกให้เหมาะกับวัยลูกกันค่ะ
เด็กวัย 0-3 ปี ต้องการการเล่นที่ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ พื้นผิว ใช้มือ เท้า เสียง หรือแม้กระทั่งผ่านการสัมผัสทางปาก ดังนั้นกิจกรรมไม่ซับซ้อนอย่างการวาดภาพด้วยนิ้วมือ เรียงของเล่น หรือเดินตามเส้น ก็ช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาแล้ว ในวัยนี้ ถ้าเด็กๆ รู้สึกว่าปลอดภัยก็จะพร้อมเรียนรู้จากการทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ เพื่อเป็นการฝึกทักษะของตนเอง
เด็กวัย 4-6 ปี กำลังทำความเข้าใจโลกใบนี้ผ่านภาษาและปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนขึ้น มีความสนใจเป็นของตนเองชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ต้องสังเกตสิ่งที่ลูกๆ ชอบ ถ้าลูกสนใจกิจกรรมแนวไหนให้เลือกกิจกรรมที่เขาสนใจเป็นหลัก เช่น กิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ง่ายๆ จากของในบ้าน เช่น เรื่องแม่เหล็ก ของลอยจม ลูกบ้านไหนชอบการผจญภัย พ่อแม่สามารถเปลี่ยนบ้านให้เป็นดินแดนต่างๆ เล่นเกมอย่าง “สายลับหลบเลเซอร์” ให้เด็กๆ ได้ขยับร่างกายเคลื่อนไหวหลายๆ แบบ หรือบ้านไหนชอบเล่นในครัวก็สามารถใช้การทำกับข้าว หรือ Food Art การใช้อาหารมาสร้างรูปร่างต่างๆ ก็ย่อมได้
2. TED-Ed Thai
บ้านไหนที่ลูกเริ่มโตแล้ว อย่าได้ปิดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาด้วยการตอบคำถามร้อยแปดพันเก้าในแต่ละวันว่า “ไม่รู้” เพียงอย่างเดียว ถ้าพอจะมีเรื่องน่าสนใจ ลองเข้าไปดู YouTube Channel TED-Ed Thai ที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย มีผู้บรรยายเป็นภาษาไทย ซับไตเติลภาษาไทย และกราฟิกสวยงามน่าดู เหมาะกับเด็กๆ วัยประถมปลายขึ้นไปที่เริ่มมีคลังศัพท์ความเข้าใจภาษาที่ซับซ้อนขึ้น พ่อแม่สามารถช่วยกระตุ้นความสนใจจากสิ่งที่ลูกกำลังอ่านหรือดูอยู่ เช่น ถ้าลูกอ่านนิยายอวกาศอยู่ อาจถามลูกว่าเราจะอยู่รอดในอวกาศได้อย่างไร ซึ่ง TED-Ed Thai มีคำตอบน่าสนใจ
หรือบางเรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การอั้นฉี่ อาจเป็นอาการที่เด็กๆ เผลอทำ วิดีโอจาก TED-Ed Thai อาจช่วยให้เด็กๆ เข้าใจกลไกร่างกายมากขึ้น แต่ถ้าลูกยังเล็ก พ่อแม่อาจต้องอยู่ช่วยอธิบายศัพท์ต่างๆ บ้าง ใช้ Google ค้นหาและ Search ไปพร้อมกับลูกจะช่วยเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ เห็นว่า การเรียนรู้มีหลายวิธีและเราทำได้ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา
3. Codingthailand
บ้านไหนที่ลูกๆ ชอบเรียน coding ลองพาลูกเข้าไปใช้ (เอ หรือลูกจะพาเราเข้าไปใช้นะ) codingthailand.org ที่รวบรวมห้องเรียนตามระดับชั้นประถมศึกษา 1-6 เอาไว้ โดยแบ่งเป็นคอร์สๆ และออกแบบมาในรูปแบบเกมที่เด็กๆ หลายคนคุ้นเคยอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีวิดีโออธิบายศัพท์ที่เกี่ยวกับ coding ซึ่งบางทีพ่อแม่หลายบ้านอาจนึกวิธีอธิบายที่เข้าใจไม่ออก มาพึ่งพาเว็บไซต์นี้กันได้เลยค่ะ
เว็บไซต์นี้ยังให้เด็กๆ สามารถสร้าง path หรือเส้นทางการเรียนเป็นของตัวเอง มีบทเรียนแนะนำว่าควรจะไปเรียนเรื่องอะไรต่อ ทำให้เด็กๆ ไม่รู้สึกกังวลที่จะลองผิดลองถูก ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้สำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนวิทยาการคำนวณ หากเด็กๆ บ้านไหนชอบการแข่งขัน เว็บนี้ก็มีเกมให้เล่นเก็บ level ขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนสุดท้ายคือห้องสมุดดิจิทัลที่รวบรวมเกมถอดรหัสเอาไว้ให้เด็กๆ เขียนรหัสและทำความเข้าใจวิธีคิดแบบ coding พ่อแม่เอาไว้หัดเขียนรหัสส่งเล่นกับเด็กๆ ในบ้านก็สนุกไม่น้อย
4. บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย
เด็กๆ สายวิทย์อย่าเพิ่งน้อยใจไป สื่อต่างๆ ในบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย มีทั้งหลักสูตรและกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ด้วยวิทยาศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ใบงาน E-book ที่ตอบโจทย์ทั้งระดับปฐมวัยและปฐมศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าสื่อเหล่านี้อาจถูกออกแบบและทำมาเพื่อใช้ในห้องเรียน มีการกำหนดวัตถุประสงค์ต่างๆ แต่พ่อแม่สามารถเลือกบางกิจกรรมที่ทำง่ายๆ ที่บ้าน ชวนเด็กๆ สงสัย และลองทำ ใบงานจะอธิบายโดยละเอียดว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่หาได้ในบ้าน มีภาพประกอบแต่ละขั้นตอน และมีคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้อยู่แล้ว ทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
แต่ถ้าบ้านไหนถนัดชมวิดีโอสารคดี สามารถชวนเด็กๆ ดูสารคดีก่อน โดยสารคดีมีความยาวตอนละ 10 นาทีโดยประมาณ มีเด็กๆ เป็นผู้เล่าเรื่องหลัก ดังนั้นก็จะเชื่อมโยงกับเด็กๆ บ้านเราได้ไม่ยากเลยค่ะ ดูวิดีโอเหล่านี้และพูดคุยกัน หรือดูและนำไปทำต่อก็สนุกด้วยกันทั้งนั้น
5. ตัวช่วยพ่อแม่ พาไปเที่ยวที่ไหนก็ได้
จริงๆ เรายังมีหนทางสำรวจโลกใบนี้แม้ติดอยู่ที่บ้าน ชวนพ่อแม่ลองใช้ Google Earth เพื่อไปดูสถานที่ที่ลูกสนใจ หรืออยากไปกัน จุดเด่นคือ จะมองได้จากมุมมองทั้งโลก และค่อยๆ ซูมเข้ามาจนเห็นสถานที่ที่เราอยากรู้และสนใจ ลูกจะเห็นว่ามันตั้งอยู่ตรงไหน หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้ายังไม่จุใจ ใช้ Google Street view จาก Google Map และเลือก layer Street View จะได้มุมมองเสมือนเราไปอยู่ในพื้นที่นั้นเลย เหล่านี้ช่วยให้จินตนาการและความสนใจใคร่รู้ของเด็กๆ ไม่ถูกจำกัดอีกต่อไป
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเด็กๆ บันทึก เช่น อาจทำเป็นภารกิจร่วมกันว่าบ้านเราจะไปเที่ยวที่ไหนหลังโควิดบ้าง บันทึกนั้นทำได้ทั้งเป็นตัวอักษรและรูปภาพต่างๆ เด็กๆ จะได้ฝึกทักษะการใช้แอปพลิเคชัน รวมถึงการบันทึกข้อมูลไปพร้อมๆ กัน
ทั้ง 5 ตัวอย่างกิจกรรมนั้นสำคัญที่สุดคือพ่อแม่แบ่งเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ออกแบบยากเย็น ขอให้เป็นสิ่งที่พอจะทำร่วมกันในบ้าน สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ทุกคนในบ้านได้ลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กัน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเอง ไม่แต่กับเด็กๆ เท่านั้น กับพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเด็กๆ ด้วยค่ะ