โควิด-19 ระบาดและกระทบทุกมิติของชีวิตมนุษย์ รวมถึง ‘โลกการศึกษา’ ที่ความรุนแรงและผลกระทบเกิดขึ้นอย่างชัดเจนยิ่งกว่าครั้งไหน มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อต้านโรคถูกนำมาใช้ ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดชั่วคราวและหันมาใช้วิธีเรียนออนไลน์แทน พร้อมกับที่นวัตกรรมทางการศึกษาและตลาดออนไลน์เกี่ยวกับการศึกษาที่เข้ามาช่วงชิงโอกาสตรงนี้ด้วย
แน่นอน ทุกคนย่อมได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ‘เหมือน’ กัน แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบ ‘เท่า’ กัน เราเห็นภาพเด็กที่ยากจนและขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ-สังคม ถูกโรคระบาดซ้ำเติม ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และวิกฤตยังถ่างช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น ในขณะเดียวกัน เราเห็นเด็กที่ครอบครัวฐานะดีสามารถใช้วิกฤตครั้งนี้ไปสู่การหาโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเองเช่นกัน
101 ชวนคุณเปิดบทเรียนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในวันที่โลกได้รับผลกระทบจากไวรัสอย่างหนักหน่วง ไล่เรียงตั้งแต่ภาพความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในยุคโควิด การสูญเสียการเรียนรู้ ไปจนถึงผลจากการเรียนออนไลน์ที่ยิ่งเปิดแผลความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
1.การเข้าถึงการศึกษาเหลื่อมล้ำอยู่แล้วก่อนโควิด
ในประเทศยากจน เด็กจำนวนมากไม่มีโอกาสได้เรียน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโควิด เช่น ปี 2011 ซูดานใต้มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาเพียง 41% หรือปี 2013 เด็กในซีเรียกว่า 1.8 ล้านคนไม่ได้เข้าโรงเรียนเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ
ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบหมายให้โรงเรียนสำรวจจำนวนนักเรียนยากจนในสังกัด (นักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้ต่อครัวเรือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 3,300 บาทต่อเดือน) พบว่า ในปี 2016 นักเรียนยากจนชั้นประถมมีจำนวน 2 ล้านคนจากทั้งหมด 3.1 ล้านคน ส่วนนักเรียนยากจนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมีมากกว่า 8 แสนคนจาก 1.7 ล้านคน
ขณะที่ในระดับโลก สถิติในปี 2018 เด็กที่อยู่ในวัยประถมและมัธยมกว่า 258 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน แต่เมื่อโควิดแพร่ระบาด จำนวนเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียน (อย่างน้อยทางกายภาพ) เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.2 ล้านคน
2.ชีวิตที่หล่นหายไป เมื่อประตูโรงเรียนต้องปิด
ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา โรงเรียนไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่เป็นเหมือน safety net ของใครหลายคน เมื่อโรงเรียนในหลายประเทศถูกบังคับให้ต้องปิด ตาข่ายรองรับนี้จึงพลันหายวับไปกับตา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องอาหารกลางวัน ในปี 2019 โครงการอาหารโลกประมาณการว่า เด็กอย่างน้อย 310 ล้านคนในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน แต่เมื่อโรงเรียนปิดก็พลอยทำให้เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความหิวโหยและการขาดสารอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากผลกระทบต่อผู้เรียนแล้ว โรงเรียนยังเป็นสถานที่ที่ช่วยให้ผู้ปกครองที่ทำงานนอกบ้านสามารถจัดการเวลาของตนเอง ทั้งในแง่การทำงานและการเลี้ยงดูลูก การปิดโรงเรียนจึงส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวยากจน และคนที่ไม่มีงานหรือบ้านเป็นของตัวเอง
3.การสูญเสียการเรียนรู้ เมื่อประตูโรงเรียนต้องปิด
เด็กยากจนได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กรวย
นักเรียนที่อาศัยในครัวเรือนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) จะสูญเสียการเรียนรู้ 2.5 เดือน ส่วนเด็กนักเรียนมากกว่า 80% ที่อยู่ในครัวเรือนซึ่งอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนจะสูญเสียการเรียนรู้ 1.6 เดือน
เด็กต่างเชื้อชาติเสียเปรียบมากกว่า
จากการสำรวจผลของการปิดโรงเรียนในสหรัฐฯ ช่วงฤดูใบไม้ผลิปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มนักเรียนผิวขาวจะสูญเสียการเรียนรู้ 1-3 เดือน แต่ถ้าเป็นนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเด็กผิวขาว (students of colour) จะเสียการเรียนรู้ไปถึง 3-5 เดือน และแม้สถานการณ์หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่กลุ่มเด็กผิวดำและกลุ่ม Hispanic ก็ยังคงได้รับผลกระทบมากกว่าอยู่ดี
4.การเรียนออนไลน์ยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำ
ในระดับประเทศพบว่า ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ 65% สามารถจัดหาแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนทางไกลได้ แต่ถ้าเป็นประเทศรายได้ต่ำจะมีน้อยกว่า 25% ที่ทำได้ ขณะที่ประเทศรายได้สูง (high income) ประชากรมากกว่า 87% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าเป็นประเทศรายได้ต่ำอาจจะลดลงน้อยกว่า 17%
กลุ่มประเทศ OECD
นักเรียนจากประเทศในกลุ่ม OECD เฉลี่ย 9% ไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมกับการเรียนที่บ้าน แต่ถ้าเป็นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตัวเลขนี้จะสูงมากกว่า 30%
ประเทศแถบยุโรป
นักเรียน 95% ในประเทศแถบยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และออสเตรีย มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการทำงาน แต่ในอินโดนีเซีย มีนักเรียนเพียง 34% เท่านั้นที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้
สหรัฐอเมริกา
เด็กอายุ 15 ปีในสหรัฐฯ ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม มีเพียง 3 ใน 4 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ เช่นเดียวกับเด็กผิวดำ เด็ก Hispanic ที่ขาดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพ จากการสำรวจยังพบด้วยว่า เด็กจากครอบครัวยากจนราว 43% ต้องทำการบ้านผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะที่เด็กที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีมีคอมพิวเตอร์ใช้กันเป็นส่วนใหญ่
ประเทศแถบแอฟริกา
โรงเรียนในหลายประเทศต้องปิดและใช้การเรียนทางไกลแทน เช่น การอ่านตำราเรียน และฟังโปรแกรมการศึกษาจากวิทยุ มีผลสำรวจพบว่าเด็ก 9 ใน 10 จากประเทศบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) และ 6 ใน 10 จากประเทศไนจีเรีย สามารถเข้าถึงการเรียนแบบนี้ได้ แต่ในประเทศมาลี มีเพียงเด็ก 3 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียนออนไลน์ และจำนวนดังกล่าวยังลดน้อยลงเหลือเพียง 2 ใน 10 เมื่อพูดถึงประเทศมาลาวี
นอกจากนี้ เด็กนักเรียนจากชนบทหรือที่มาจากครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนมากกว่า เนื่องจากความยากลำบากในการเข้าถึงไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุ เช่นในประเทศเอธิโอเปีย ที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในแถบชนบท