ในช่วงที่ผ่านมา มีงานศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีทักษะและความรู้ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ขณะที่การศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยก็ชี้ว่าเทคโนโลยีทำให้เด็กยากจนขาดโอกาสและยิ่งถ่างช่องว่างที่มีอยู่แล้วให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เกิดการกระจายเทคโนโลยีข้ามชาติพันธุ์และเส้นแบ่งทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงถ้าใช้แพลตฟอร์มโดยไม่ได้เตรียมการหรือสำรวจความพร้อมของนักเรียนก่อนการใช้เทคโนโลยี หรือไม่สนับสนุนและฝึกอบรมครู จะยิ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่เท่าเทียม
คำถามคือ เมื่อนำมาใช้จริงในประเทศไทย ผลเป็นอย่างไร?
โครงการศึกษาพฤติกรรมและแนวทางการสร้างแรงจูงใจในการอ่านหนังสือ เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และยูเนสโก (UNESCO) กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ผ่านการอ่านหนังสือ โดยมอบอุปกรณ์แท็บเล็ตและอินเทอร์เน็ตให้กับเด็กๆ เพื่อหวังจะแก้ปัญหาข้อจำกัดของการไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีใช้สำหรับการอ่าน การไม่มีอินเทอร์เน็ต และไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองที่ต้องจ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ต การใช้เทคโนโลยีจะทำให้เด็กสามารถเข้าสู่คลังหนังสือมากมายที่ได้บรรจุไว้ในแอปพลิเคชัน (application) สามารถเลือกอ่านหนังสือได้อย่างไม่จำกัดตามความสนใจและวัยของตนเอง มีทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศหลากหลายประเภท โดยตอนท้ายของการอ่านหนังสือแต่ละเล่มจะมีการวัดความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการอ่าน แล้วในทุกครั้งที่อ่านจะมีการบันทึกความสม่ำเสมอของการอ่าน และเวลาที่ได้ใช้ไปกับการอ่านหนังสือแต่ละวันผ่านแอปพลิเคชันอีกด้วย
ยิ่งยากจน ยิ่งได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
กสศ. และ UNESCO กรุงเทพฯ ร่วมกับ SIAM Lab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Experiment) ในขั้นตอนนี้ โครงการได้เริ่มรวบรวบผลการอ่านในพื้นที่ 4 จังหวัดตามภาคต่างๆ ของประเทศ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นครนายก ยะลา และกรุงเทพฯ จากเวลาที่เด็กใช้ในการอ่าน (reading time) ซึ่งวัดจากเวลาที่เด็กใช้แท็บเล็ตเพื่ออ่านหนังสือในแต่ละวัน และความต่อเนื่องในการอ่าน (consistency) ซึ่งวัดจากความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเดือน โดยมีเป้าหมายให้เด็กอ่านหนังสือเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน รวมกันอย่างน้อย 30 ชั่วโมงต่อเดือน เพื่อให้เกิดผลต่อพัฒนาการด้านการอ่านหนังสือและเรียนรู้ของเด็ก
สำหรับผลการอ่านในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 พบความน่าสนใจหลายประการ ได้แก่
1. เด็กที่เข้าร่วมโครงการซึ่งอยู่ในจังหวัดที่ห่างไกลและถูกจัดอันดับว่ามีอัตราความยากจนสูง มีคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) และคะแนนความต่อเนื่องในการอ่าน (consistency score) สูงกว่าเด็กในจังหวัดที่มีความเป็นเมืองอย่างชัดเจนตลอดทั้ง 9 เดือน ชี้ให้เห็นว่า การนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีความเป็นไปได้ในประเทศไทย (ดูตารางที่ 1)
reading time score จังหวัดแม่ฮ่องสอน | consistency score จังหวัดแม่ฮ่องสอน | reading time score จังหวัดนครนายก | consistency score จังหวัดนครนายก | reading time score จังหวัดยะลา | consistency score จังหวัดยะลา | reading time score กรุงเทพฯ | consistency score กรุงเทพฯ | |
ก.ค. 63 | 8 | 2 | 2 | 0 | 0 | 0 | ||
ส.ค. 63 | 8 | 2 | 4 | 1 | 3 | 1 | ||
ก.ย. 63 | 7 | 2 | 3 | 0 | 4 | 2 | ||
ต.ค. 63 | 5 | 1 | 4 | 0 | 2 | 1 | 6 | 1 |
พ.ย. 63 | 5 | 2 | 2 | 0 | 10 | 5 | 2 | 0 |
ธ.ค. 63 | 8 | 2 | 4 | 0 | 15 | 12 | 8 | 4 |
ม.ค. 64 | 8 | 2 | 1 | 0 | 15 | 10 | 6 | 1 |
ก.พ. 64 | 15 | 8 | 3 | 1 | 16 | 13 | 7 | 4 |
มี.ค. 64 | 14 | 5 | 3 | 0 | 14 | 9 | 4 | 1 |
รวม | 78 | 26 | 26 | 2 | 79 | 53 | 33 | 11 |
ตารางที่ 1 แสดงผลคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) และคะแนนความต่อเนื่องในการอ่าน (consistency score) ของ 4 จังหวัด คือ จังหวัด 1 อยู่ทางภาคเหนือมีอัตราความยากจนสูง จังหวัด 2 อยู่ในภาคกลาง ค่อนข้างเป็นสังคมเมือง จังหวัด 3 อยู่ทางภาคใต้ มีอัตราความยากจนค่อนข้างสูง จังหวัด 4 อยู่ในภาคกลาง มีความเป็นสังคมเมืองสูง
2. ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา คะแนนเวลาการอ่านของเด็กที่เข้าร่วมโครงการมีทิศทางที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แสดงว่า เด็กใช้แท็บเล็ตเข้ามาเพิ่มพูนความรู้ด้วยการอ่านมากขึ้น เทคโนโลยีมีบทบาทช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาได้ในสถานการณ์ Covid-19 และจังหวัดที่ห่างไกลและยากจนมีคะแนนเวลาการอ่านที่สูงขึ้นมากกว่า (ดูตารางที่ 2)
reading time score จังหวัด 1 | reading time score จังหวัด 2 | reading time score จังหวัด 3 | reading time score จังหวัด 4 | |
พ.ย. 63 | 5 | 2 | 10 | 2 |
ธ.ค. 63 | 8 | 4 | 15 | 8 |
ม.ค. 64 | 8 | 1 | 15 | 6 |
ก.พ. 64 | 15 | 3 | 16 | 7 |
มี.ค. 64 | 14 | 3 | 14 | 4 |
ตารางที่ 2 แสดงผลคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) ในช่วง Covid-19 แพร่ระบาด
3. เมื่อดูตามระดับชั้นของเด็ก พบว่า ในภาพรวมเด็กระดับชั้นประถมศึกษาอ่านหนังสือมากกว่าเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษา และเด็ก กศน. สำหรับคะแนนเวลาการอ่านที่สูงที่สุดของชั้นประถมศึกษาอยู่ที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้คะแนนอยู่ที่ 277 คะแนน มากกว่าคะแนนรวมเฉลี่ยถึงเกือบ 4 เท่า แสดงว่า เด็กชั้น ป.6 ที่มีความพยายามอ่านหนังสือและขวนขวายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกำลังจะเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ฉะนั้นแนวทางการส่งเสริมการอ่านหนังสือและสร้างนิสัยการอ่านด้วยการใช้เทคโนโลยีอาจจะเริ่มที่เด็กชั้นประถมศึกษา (ดูตารางที่ 3)
ระดับชั้นการศึกษา | reading time score |
กศน. ประถม/NFE Primary | 51 |
กศน. ม. ต้น/NFE Lower Secondary | 59 |
กศน. ม. ปลาย/NFE Upper Secondary | 52 |
ป. 1 /P. 1 | 50 |
ป. 2 /P. 2 | 75 |
ป. 3 /P. 3 | 91 |
ป. 4 /P. 4 | 80 |
ป. 5 /P. 5 | 74 |
ป. 6 /P. 6 | 277 |
ม. 1 /S. 1 | 50 |
ม. 2 /S. 2 | 52 |
ม. 3 /S. 3 | 52 |
ม. 5 /S. 5 | 50 |
รวม | 1,013 |
ตารางที่ 3 แสดงผลคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) แยกตามระดับชั้นของเด็ก
หัวใจคือการทำให้เด็กยากจนเข้าถึงเทคโนโลยี
แม้ว่าจะดูมีความหวังในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเด็กในพื้นที่ยากจนและห่างไกลจะมีความตั้งใจสูงมากกว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเป็นเมือง แต่ระหว่างการลงพื้นที่ทำงาน เรากลับพบว่าเด็กหลายคนเผชิญกับอุปสรรคในการอ่าน จากการเก็บข้อมูลภูมิหลังทางด้านเศรษฐกิจสังคม (socio-economic background) ของเด็กและครอบครัว เบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 402 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะครอบครัวยากจนและค่อนข้างยากจน ซึ่งมีรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,031 บาทต่อเดือน พบว่ายังมีปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่องการอ่านอยู่บางประการ ดังนี้
ประการแรก เด็กกว่าร้อยละ 88 ไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก อินเตอร์เน็ต ภายในบ้าน หลายคนแม้ที่บ้านจะใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนแต่ต้องเติมเงินเป็นครั้งๆ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจึงทำได้จำกัด นี่ยังไม่รวมถึงการไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ในละแวกบ้านหรือการมีสัญญาณที่เสถียรตลอดเวลา
เมื่อได้พูดคุยกับเด็กบางคนที่เข้าร่วมโครงการ ได้พบปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ แม้จะมีแท็บเล็ตที่ได้รับจากโครงการ แต่แถวบ้านสัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้ามาไม่ถึง ทำให้แต่ละครั้งที่เด็กจะอ่านหนังสือต้องเดินทางจากบ้านไปยังจุดที่มีอินเตอร์เน็ตรัฐบาลจัดไว้ให้ในชุมชน หรือบางคนต้องไปบ้านคุณครูเพื่อดาวน์โหลดหนังสือแล้วจึงนำกลับมานั่งอ่านที่บ้าน ปัจจัยข้อแรกแสดงให้เห็นว่า การมีเทคโนโลยีก็จะยังเป็นข้อจำกัด หากระบบการเชื่อมต่อพื้นฐานอย่างอินเตอร์เน็ตหรือสัญญาณโทรศัพท์ยังไม่โยงใยเข้าถึงทุกที่ของประเทศ
ประการที่สอง หนังสือภายในบ้านซึ่งเด็กๆ สามารถเข้าถึงอย่างง่ายด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ได้ฝึกฝนทักษะการอ่าน สร้างนิสัยรักการอ่าน กลับไม่มีหรือมีจำนวนน้อยมาก จากคำถาม “บ้านของน้องมีหนังสือกี่เล่ม (ไม่นับรวมพวกหนังสือพิมพ์และตำราเรียนของโรงเรียน)” เด็กร้อยละ 34.9 ตอบว่ามี 0 เล่ม นั่นคือภายในบ้านไม่มีหนังสืออื่นเลยนอกจากหนังสือเรียน รองลงมาร้อยละ 14.2 บอกมีอยู่จำนวน 5 เล่ม
ในการศึกษาของ ผศ.ดร. ธันยพร จันทร์กระจ่าง และคณะ ได้อ้างอิงงานของ Brunello et. al (2006) ที่ชี้ให้เห็นว่า การเข้าถึงหนังสือจำนวนมากภายในบ้านจะทำให้เด็กได้รับการศึกษากลับมาสูงขึ้น และยังมีผลเชิงบวกต่อการก่อร่างทุนมนุษย์ โดยผลการศึกษาของงานนี้เองพบว่า การอ่านหนังสือช่วยให้เด็กจดจ่อและมีสมาธิมากขึ้น มีวินัยในตนเอง ปัจจัยที่สองแสดงให้เห็นว่านอกจากการเรียนในห้อง เด็กไม่มีแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวอื่นๆ เลย
ประการที่สาม เด็กบางคนมีภาระที่ต้องทำงานหารายได้ช่วยเหลือผู้ปกครอง ซึ่งสัมพันธ์กับฐานะของครอบครัว เด็กต้องทำงานหารายได้ควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ เท่ากับเวลาว่างจำนวนหนึ่งของเด็กถูกดึงไปใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สูญเสียช่วงเวลาที่เด็กจะได้ทำกิจกรรมที่ชอบและเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ เด็กเกือบร้อยละ 70 ต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ ในจำนวนนี้มากที่สุดร้อยละ 45 ทำงานหารายได้ทุกวัน อีกร้อยละ 18.2 ทำบ้างบางวัน ส่วนกลุ่มที่ทำเฉพาะวันหยุด มีจำนวนร้อยละ 6.7 ผลการเก็บข้อมูลเราพบอีกว่าเมื่อถามเด็กถึงระยะเวลาที่สามารถอ่านหนังสือได้มากที่สุดกี่นาทีใน 1 วัน ส่วนใหญ่ตอบว่าได้วันละประมาณ 30 นาที ฉะนั้นตอนนี้เวลาของเด็กจำนวนหนึ่งได้ให้น้ำหนักไปที่การทำงานเพื่อช่วยครอบครัวและเลี้ยงดูตัวเองมากกว่าการอ่านหนังสือ
ประการสุดท้าย เราพบว่าบุคคลที่เป็นผู้ดูแลเด็กในเรื่องการเรียนไม่ได้เรียนสูงมากนัก ผู้ดูแลในที่นี้คือผู้ที่คอยกวดขันผลการเรียน ช่วยสอนการบ้าน ยังคงเป็นพ่อและแม่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 31.8 และ 33.6 นอกจากนี้คือบุคคลอื่นในครอบครัวอย่าง ปู่ย่าตายายหรือพี่ ร้อยละ 15.4 ส่วนเด็กที่ต้องดูแลตัวเองมีเพียงร้อยละ 2.5
เมื่อพิจารณาถึงระดับการศึกษาของผู้ที่คอยดูแลเด็กเรื่องการเรียน พบว่าผู้ที่คอยดูแลเหล่านี้จบการศึกษาสูงสุดในชั้นมัธยมศึกษา ประมาณร้อยละ 47 ขณะที่อีกร้อยละ 35 จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา และมีถึงร้อยละ 12 ไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนไม่จบ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า บุคคลในครอบครัวมีบทบาทในการดูแลเรื่องการเรียนของเด็ก ช่วยส่งเสริมความรู้ได้ระดับหนึ่ง และถือเป็นความท้าทายต่อการผลิตซ้ำเรื่องระดับการศึกษาภายในครอบครัวในยุคของการใช้เทคโนโลยีอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป บทเรียนจากการดำเนินโครงการทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีความหวังที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในอนาคต แต่ภาครัฐต้องคำนึงถึงอุปสรรคที่ยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่ควบคู่ไปกับการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรื่องแรกที่ภาครัฐควรจะเริ่มทำคือการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกจุดจริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะเพียงจุดใดจุดของชุมชนเท่านั้น สนับสนุนหนังสือที่เหมาะสมกับเด็ก และให้เงินอุดหนุนครอบครัวที่ยากจน
อ้างอิง :
Roth, K. (2020). Technology in Education: The Ongoing Debate of Access, Adequacy and Equity. New York : Bank Street College of Education. Retrieved from https://educate.bankstreet.edu/independent-studies/248
Thanyaporn Chankrajang. (2020). Are books children’s best friends? Impacts of access to book corners and reading diaries on literacy scores and self-control: Evidence from field experiment in Nan, Thailand. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=QV8CHymByyM