Covid Slide: บาดแผลใหญ่ทางการศึกษา
โดย : วรรษกร สาระกุล
ภาพประกอบ : ภาพิมล หล่อตระกูล

Covid Slide: บาดแผลใหญ่ทางการศึกษา

โควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพและเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย การเว้นระยะห่างทางสังคมจึงกลายเป็นมาตรการรับมือ กิจกรรมใดๆ ที่ต้องมีการรวมตัวกันจึงต้องงดไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สถานที่ต่างๆ ต้องถูกปิดลงชั่วคราว โรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่นักเรียน ครูและบุคคลากรจำนวนมากมารวมตัวกันก็เป็นหนึ่งในนั้น

การปิดโรงเรียนทำให้การเรียนการสอนต้องหยุดชะงัก นักเรียนเสียโอกาสในการได้เรียนหนังสือและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูในห้องเรียน แม้ว่าจะมีการเรียนออนไลน์เข้ามาทดแทนเพื่อประคับประคองให้การเรียนการสอนพอดำเนินต่อไปได้ แต่ในความจริงประสิทธิภาพก็ยังไม่เทียบเท่าการเรียนในห้องเรียนตามปกติ สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความกังวลว่าจะเกิดปรากฏการณ์ ‘การสูญเสียการเรียนรู้’ (Learning Loss) หรือ ‘Covid Slide’ – ปรากฏการณ์การสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงโควิดของเด็กนักเรียนทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้

และปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังค่อยๆ ก่อวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางเรียนรู้ในโลกการศึกษา

Covid Slide เจ็บหนักขนาดไหน?

ผลกระทบต่อการเรียนรู้ค่อยๆ ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การศึกษาวิจัยเบื้องต้นใน 4 ประเทศยุโรปที่จัดอยู่ในกลุ่มรายได้สูงยืนยันว่า เกิดการสูญเสียการเรียนรู้ขึ้นจริงระหว่างช่วงปิดโรงเรียนแม้ว่าจะมีการเรียนออนไลน์ก็ตาม และยิ่งไปกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างที่เบลเยียม เมื่อเปรียบเทียบผลสอบระดับประเทศของนักเรียนชั้นป.6 แต่ละรุ่นที่จบการศึกษาระหว่างปี 2015-2020 พบว่าผลการเรียนของนักเรียนรุ่นที่จบการศึกษาในปี 2020 ที่ต้องเผชิญการปิดโรงเรียน 3 เดือนลดลงทุกวิชาที่มีการทดสอบ รวมทั้งผลการเรียนชี้ให้เห็นว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ทั้งภายในโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนถ่างกว้างมากขึ้น โดยโรงเรียนที่มีนักเรียนที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจมากกว่ามักเผชิญการสูญเสียการเรียนรู้มากกว่า

ในทำนองเดียวกันที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบก่อนล็อคดาวน์และหลังล็อคดาวน์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จะเห็นว่านักเรียนต้องเผชิญการสูญเสียการเรียนรู้เทียบเท่ากับ 1 ใน 5 ของปีการศึกษา และยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนที่มีพื้นเพจากครอบครัวที่มีระดับการศึกษาต่ำจะมีโอกาสเสียการเรียนรู้สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ขยับมาดูที่อังกฤษเองก็พบการสูญเสียการเรียนรู้เช่นกัน โดยผลการทดสอบการเขียนของนักเรียนม.1 ชี้ให้เห็นว่าช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่มีการปิดเรียน ความรู้ความสามารถของนักเรียนเหล่านี้พัฒนาไปล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นกว่า 22 เดือนและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาระหว่างเพศก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนที่สวิตเซอร์แลนด์ แม้การเรียนออนไลน์จะพอรักษาวิกฤตการเรียนรู้ในช่วงโรงเรียนปิดไม่ให้นักเรียนต้องสูญเสียการรู้ได้บ้างสำหรับนักเรียนมัธยม อย่างไรก็ตาม การวิจัยกลับพบว่า นักเรียนประถมกลับเรียนได้ช้าลงและนักเรียนแต่ละคนเรียนรู้ได้ต่างกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยข้างต้นเป็นเพียงผลการศึกษาในประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศและยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่ภาพการสูญเสียการเรียนรู้ที่กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นจริงในประเทศเหล่านี้ชวนให้คิดต่อว่าปราฏการณ์ Covid slide ทั่วโลกและในไทยจะมีแนวโน้มอย่างไร

ในปัจจุบัน หลายประเทศยังไม่มีผลการศึกษาว่านักเรียนต้องเผชิญต่อการสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงปิดโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน และมีผลกระทบอย่างไรตามมาบ้าง ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านสำรวจสถิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพอให้เห็นภาพรวมและแนวโน้มของปรากฏการณ์ Covid slide ทั่วโลกและในไทยมากขึ้น

โรงเรียนปิดไปนานเท่าไรแล้ว

ยิ่งระยะเวลาปิดโรงเรียนนานเท่าไร ความเสียหายทางการเรียนรู้ก็มีมากขึ้นเท่านั้น จากการรวบรวมข้อมูลระยะเวลาปิดโรงเรียนในช่วงโควิดทั่วโลกตั้งแต่แต่มีนาคม 2020 ถึงพฤษภาคม 2021 โดย UNESCO พบว่าโดยเฉลี่ย แต่ละประเทศตัดสินใจปิดโรงเรียนทั่วประเทศ (Full Closure) เป็นระยะเวลา 17 สัปดาห์และปิดบางพื้นที่ของประเทศ (Partial Closure) เป็นระยะเวลา 13 สัปดาห์ โดยในช่วงระยะแรกระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2020 ประเทศส่วนใหญ่เลือกใช้นโยบายปิดทั้งประเทศ แต่ในช่วงระยะหลังตั้งแต่สิงหาคม 2020 เป็นต้นมา ประเทศส่วนใหญ่เลือกปิดในบางพื้นที่แทน จากกราฟด้านล่าง จะเห็นได้ว่าประเทศส่วนใหญ่ปิดโรงเรียนไม่เกิน 21 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 ภาคการศึกษา

ประเทศที่มีระยะเวลาปิดเรียนทั่วประเทศยาวนานที่สุดคือปานามา ปิดโรงเรียนไปทั้งหมด 55 สัปดาห์ โดยไม่มีการใช้มาตรการปิดเรียนบางส่วน ส่วนประเทศที่ปิดเรียนบางพื้นที่มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา โดยปิดโรงเรียนทั้งหมด 56 สัปดาห์ และเป็นการปิดเรียนบางส่วนทั้งหมด

ส่วนประเทศไทยปิดโรงเรียนทั่วประเทศไปแล้ว 15 สัปดาห์และปิดบางส่วน 14 สัปดาห์ สพฐ.กำหนดให้ 1 ภาคการศึกษามี 20 สัปดาห์ เท่ากับว่านักเรียนไทยไม่สามารถไปโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์การระบาดไปแล้วถึง 3 ใน 4 ภาคการศึกษา

หากยึดผลการศึกษาของประเทศเนเธอแลนด์ที่ว่า การปิดโรงเรียนจากการล็อคดาวน์ 8 สัปดาห์จะทำให้นักเรียนเสียการเรียนรู้ 20 เปอร์เซ็นต์ของภาคการศึกษา สมมติว่านักเรียนไทยกับนักเรียนเนเธอแลนด์ไม่มีความแตกต่างในเรื่องทักษะการเรียนรู้ นักเรียนไทยจะเสียการเรียนรู้ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของภาคการศึกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวนักเรียน ความพร้อมในการจัดการศึกษาทางไกลและทรัพยากรที่เอื้อให้การเรียนรู้ดำเนินต่อไปได้ที่อาจส่งผลให้นักเรียนไทยเสียการเรียนรู้มากกว่าตัวเลขประมาณการข้างต้น และอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อินเตอร์เน็ตพร้อมหรือไม่

การปิดโรงเรียนทำให้การจัดการเรียนรู้ต้องอยู่ในรูปแบบการเรียนทางไกล (Distance learning) ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้มากที่สุดคือการเรียนออนไลน์ ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจึงเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานสำคัญ ผู้เขียนเห็นว่าหากจะให้การเรียนออนไลน์ทดแทนการเปิดเรียนปกติและให้มีความเท่าเทียมทางการศึกษาสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อินเทอร์เน็ตต้องสามารถเข้าถึงได้เสมือนเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่ได้แพร่หลายเท่าการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปา

จากรวบรวมข้อมูลการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทั่วโลกของ Internet World Stats ผลสำรวจในเดือนธันวาคม 2020 พบว่า มีประชากรโลก 65.7 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงอินเทอร์เน็ต จากทั้งหมด 246 ประเทศที่เก็บข้อมูล มีเพียง 45 ประเทศเท่านั้นที่ประชากรสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกา 8 ประเทศ ยุโรป 24 ประเทศ เอเชีย 5 ประเทศและโอเชียเนีย 2 ประเทศดังแผนที่ด้านล่าง โดยเฉลี่ย แต่ละประเทศจะมีประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ 61.5

สำหรับประเทศไทย ประชากรเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 81.5 เปอร์เซ็นต์ จัดอยู่ในอันดับที่ 75 ของโลก อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจนี้ไม่ได้กล่าวถึงคุณภาพของสัญญาณ หากจะนับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสถียรเพียงพอต่อการเรียนผ่านระบบสตรีมมิงหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ตัวเลขอาจต่ำลงกว่านี้

ประเทศที่ประชากรเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเกิน 90 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่ามีประชากรเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ในบางประเทศก็ได้มีการจัดการเรียนทางไกลด้วยวิธีอื่น เช่น การถ่ายทอดทางทีวี สำหรับประเทศไทยก็การจัดโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ถ่ายทอดการสอนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา โดยมีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทำให้แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่ถ้ามีโทรทัศน์และสามารถใช้ดาวเทียมก็สามารถเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการเรียนผ่านโทรทัศน์คือ ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน การเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตที่เอื้อให้มีการโต้ตอบกันได้จึงยังจัดว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

อุปกรณ์พร้อมหรือไม่

ไม่เพียงแค่อินเทอร์เน็ตเท่านั้น อุปกรณ์และทรัพยากรอย่างอื่นก็จำเป็นในการเรียนทางไกลเช่นกัน หากสถานการณ์การเรียนทางไกลจะมีประสิทธิภาพตามอุดมคติ เท่ากับว่าทุกบ้านต้องมีโทรทัศน์อย่างน้อย 1 เครื่องในกรณีที่โรงเรียนเลือกให้นักเรียนเรียนผ่านทีวีดาวเทียม หรือในกรณีที่โรงเรียนเลือกเรียนแบบออนไลน์ ขั้นต่ำสุด ครอบครัวต้องมีโทรศัพท์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ต่อเด็ก 1 คน ซึ่งหากต้องการให้เรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิสูงสุดควรเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า เพราะขนาดจอโทรศัพท์มีขนาดเล็กเกินไป

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่สำรวจถึงปี 2019 จาก statista พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในโลกมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องที่บ้าน ในประเทศพัฒนาแล้วประมาณร้อยละ 80 ของครัวเรือนมีคอมพิวเตอร์ ส่วนในประเทศกำลังพัฒนามีเพียง 1 ใน 3 ของครัวเรือนเท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ เห็นได้ว่านอกจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้ว ความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ก็เป็นปัญหาเช่นกัน

หากไม่มีอุปกรณ์ ต้องเสียเงินเท่าไหร่

สมมติครัวเรือนหนึ่งไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ทดแทนอื่นๆ แต่ลูกต้องเรียนออนไลน์ ภาระการจัดหาอุปกรณ์ย่อมตกอยู่ที่ครอบครัว เพื่อให้ลูกได้เรียน จากการสำรวจอย่างคร่าวๆ ของผู้เขียน ต้นทุนที่ต่ำที่สุดในกรณีที่ซื้ออุปกรณ์อินเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตได้ในราคาโปรโมชัน ถ้าเลือกซื้อโทรศัพท์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตได้จะต้องเสียเงิน 975.52 บาท แต่ถ้าเลือกซื้อแท็บเล็ตจะตกอยู่ที่ราคา 1,760 บาทและเสียค่าอินเทอร์เน็ต 399 บาท เท่ากับต้องจ่ายครั้งแรกรวม 1,374.52 สำหรับโทรศัพท์ หรือ 2,159 สำหรับแท็บเล็ตต่อเด็กนักเรียน 1 คน

แม้ว่าจะดูเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่หากนับกรณีครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็อาจมีต้นทุนสูงขึ้นอีก นอกจากนี้ในภาวะที่กิจกรรมเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างยากลำบาก ครัวเรือนอาจต้องเลือกลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นจึงเป็นได้ยากที่จะจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในปี 2018 ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนจำนวน 3,598,125 คนจากนักเรียนทั้งหมด 6,735,124 คน หรือประมาณ 53 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่าจำนวนเด็กยากจนย่อมเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงในช่วงการระบาด ฉะนั้น ในช่วงเวลาที่พ่อแม่รายได้ลด โรงเรียนปิด นักเรียนไม่สามารถพึ่งพาสวัสดิการหลายๆ อย่างที่ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวอย่างโครงการอาหารกลางวัน จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ได้

จากความไม่พร้อมทั้งอุปกรณ์ การเงิน และครอบครัว อาจไม่เพียงแต่ทำให้นักเรียนเสียการเรียนรู้ชั่วคราว แต่ผลักให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาถาวรซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต

จากตัวเลขทั้งหมดที่ยกมานี้ ผู้เขียนยังไม่สามารถระบุได้ว่าในไทยมีนักเรียนที่มีความพร้อมและไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์เท่าไหร่ รวมทั้งยังไม่มีตัวเลขที่ชี้ชัดว่านักเรียนไทยสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงโควิดไปมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาปรากฏการณ์ Covid Slide เชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศรายได้สูงที่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์มากกว่าอย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นของบทความ ย่อมคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มปรากฏการณ์ Covid Slide ในไทยอาจรุนแรงกว่า รวมทั้งผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า โควิดทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนเพราะยังมีคนจำนวนมากที่ไม่พร้อมจะเรียนออนไลน์และถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

โดยสรุป โควิดสร้างความเสียหายทางการศึกษาอย่างมหาศาล ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทิ้งนักเรียกอีกนับไม่ถ้วนไว้ข้างหลัง สุดท้ายแล้วการกลับไปเรียนในรูปแบบปกติและเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ช่วงที่เสียไปให้เร็วที่สุดอย่างเป็นระบบจึงเป็นหนทางออกของ Covid Slide สุดท้ายคงต้องหวังพึ่งการกระจายวัคซีนที่กันติดได้อย่างทั่วถึงและกลับไปสู่ภาวะปกติโดยเร็ว