“ครูรู้สึกดีใจเมื่อเด็กที่เราช่วยเหลือแล้วมีชีวิตที่ดีขึ้น”
คุณครูขวัญฤดี ฉัตรวิไล (ครูเปีย)
โรงเรียนบ้านสว่างใต้ จังหวัดอำนาจเจริญ
คุณครูขวัญฤดีเป็นครูประจำชั้น ม.3 และคุณครูแนะแนว เพราะความเป็นคนชนบทที่เติบโตมาในสมัยที่ไม่ค่อยมีทุนการศึกษา ครูจึงรับอาสาทำหน้าที่คัดกรองเด็กเพื่อมารับทุนเสมอภาค เพราะต้องการช่วยเด็กยากจนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา
สำหรับภารกิจลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของเด็กช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครูเล่าว่า
“ช่วงนี้การเยี่ยมบ้าน ครูทุกคนก็อยากลงพื้นที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สถานการณ์อย่างนี้ก็อาจมีผล กระทบหน่อย ครูก็พยายามป้องกันตัวเองเต็มที่และอาจจะต้องใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อที่จะได้ข้อมูลมา”
ครูเล่าว่าส่วนใหญ่เด็กมีปัญหาครอบครัว บางครั้งผู้ปกครองไม่มีเงินให้เด็กมาโรงเรียน และเด็กจำนวนไม่น้อยต้องทำงานหาเงินช่วยผู้ปกครอง
“ผู้ปกครองบอกไม่อยากให้เด็กเรียนเพราะต้องช่วยทำงาน ไม่มีคนช่วยที่บ้าน ครูก็บอกว่าอยากให้เขาได้เรียนจบอย่างน้อยภาคบังคับ แล้วเขาก็สามารถมีอนาคตที่ดีได้ หลังเลิกเรียนหรือเสาร์อาทิตย์ก็ช่วยทำงานได้”
ครูได้ลงพื้นที่เพื่อคัดกรองและรับรองข้อมูลสถานะครัวเรือนเด็ก ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อรับรองผลบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ จากนั้นส่งต่อให้ กสศ.ตรวจสอบข้อมูลก่อนจัดสรรเงินอุดหนุน
“ครูรู้สึกดีใจเมื่อเด็กที่เราช่วยเหลือแล้วมีชีวิตที่ดีขึ้น มาเรียนมากขึ้น มีเด็กสองคนซึ่งยากจน เขาอยู่กับตาและยาย ครูก็บอกเดี๋ยวจัดหาทุนให้นะ เวลามีกิจกรรมอะไรพอส่งเสริมเขาได้ เราก็ให้กำลังใจเขา ดีหน่อยที่โรงเรียนบ้านสว่างใต้มีอาหารกลางวันให้เด็กถึง ม.3 ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยเหลือผู้ปกครองไว้ได้เยอะ”
จากนั้นครูก็ประสานงานเพื่อส่งมอบทุนเสมอภาค โดยช่วยอำนวยความสะดวกให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองเรื่องการเบิกจ่าย
“ค่าอุปกรณ์การเรียนที่รัฐจัดสรรให้ ถามว่าพอไหม มันก็ไม่เพียงพอ ผู้ปกครองต้องทำมาหากิน บางคนก็น่าสงสาร ใส่ชุดนักเรียนเก่าๆ รุ่นพี่ส่งต่อให้น้อง ทางผู้อำนวยการและครูทุกคนก็พยายามช่วยเหลือ ส่วนเรื่องตำราเรียนก็ต้องใช้งบซื้อทุกปี เพราะพอเขาเรียนจบ ก็อยากให้เอาตำรากลับไปที่บ้านด้วยเผื่อเขาจะได้ศึกษาทีหลัง”
ประตูแห่งโอกาสถูกเปิดกว้างขึ้นเมื่อเด็กนักเรียนยากจนพิเศษได้รับทุนเสมอภาค ซึ่งช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“อยากให้นักเรียนทกคนได้รับทุนเสมอภาค เพราะคนในชนบทเรานั้นยากจนจริงๆ พี่ ม.3 เราก็อยากให้มีทุนไปต่อสายอาชีพหรือสายสามัญที่เขาอยากเรียน เพราะเด็กไม่มีทุนจริงๆ เห็นว่า กสศ. ก็พยายามช่วยจัดทุนเร่งด่วนสนับสนุนให้ ต้องขอขอบคุณมากๆ ค่ะ”
วันนี้แม้ภารกิจลงพื้นที่หาเด็กรับทุนจะไม่ราบรื่นนักเพราะสถานการณ์โควิด แต่ครูขวัญฤดีก็ยังคงยืนยันความตั้งใจ ที่จะทำงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนมีความรู้ติดตัว นำไปใช้สร้างโอกาสที่ดีในอนาคต
“ครูอยากให้เด็กๆ เรียนจนจบการศึกษา ไม่ใช่มาเรียนครึ่งๆ กลางๆ อยากให้เด็กได้รับโอกาส”
ครูมนัญชยา ตุ๊ไทร (ครูดี)
โรงเรียนบ้านลุ่มผึ้ง จังหวัดกาญจนบุรี
เนื่องจากโรงเรียนบ้านลุ่มผึ้ง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนที่นักเรียนส่วนมากเป็นเด็กด้อยโอกาสและเด็กชาติพันธุ์ ครูมนัญชยา ตุ๊ไทร หรือครูดี ครูประจำชั้นอนุบาลจึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองข้อมูลเด็กเพื่อให้ได้รับทุนเสมอภาค
ครูเล่าว่าจุดเริ่มต้นที่มาทำหน้าที่นี้ เพราะครูเคยมีชีวิตที่ลำบากมาก่อนจึงเข้าใจรสชาติความลำบากของนักเรียน
“ครูอยากให้เด็กๆ เรียนจนจบการศึกษา ไม่ใช่มาเรียนครึ่งๆ กลางๆ อยากให้เด็กได้รับโอกาส ก็เลยอยากช่วยทำหน้าที่ตรงนี้ให้เต็มที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลุ่มผึ้ง เน้นย้ำเรื่องระบบดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียน ให้คัดกรองเด็กยากจนโดยลงพื้นที่ 100% เพราะเด็กโรงเรียนเรามีประมาณหกสิบคน เป็นเด็กด้อยโอกาสเยอะและเป็นเด็กชาติพันธุ์ เราควรจะเจาะลึกครอบครัวเด็กทุกคนให้ได้”
นอกจากทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเด็กแล้ว ครูก็คอยช่วยเหลือเพิ่มเติมในกรณีที่เด็กไม่พร้อมในด้านต่างๆ ทั้งคอยรับส่งและระดมความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
“มีกรณีเด็กสองพี่น้อง พี่ชายอยู่ ป.5 กับน้องผู้หญิงอยู่ ป.2 เด็กไม่มาโรงเรียนสองอาทิตย์ ก็รู้สึกว่าน่าเสียดายถ้าเด็กไม่มาเรียน พอได้ฟังเรื่องจากครูประจำชั้นก็รู้ถึงปัญหาของเด็ก จึงติดต่อเด็กว่าให้กลับมาเรียน
“เหตุผลก็คือเด็กต้องไปอยู่กับแม่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพราะว่าพ่อแม่แยกทางกัน ครูคุยกับเด็ก เด็กตอบว่าหนูก็อยากไปเรียน แต่หนูไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กับใครเวลาที่มาเรียนแล้ว เมื่อเด็กตอบว่าอยากจะมาเรียน ทำให้เรามีแรง ก็ไปคุยกับแม่ แม่บอกว่าถ้ามาเรียนแล้วครูมีเวลาไปดูแลบ้าง ก็จะให้มาเรียน เพราะชุมชนที่เด็กอยู่ก็อยู่ใกล้กับโรงเรียน แม่เขามาส่งได้แค่ บขส.ผู้อำนวยการก็เลยให้ครูไปรับที่ บขส. ในเมืองมาเรียน”
ความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายเกิดขึ้น หลังจากครูได้ไปเห็นบ้านเด็กสองพี่น้องที่สภาพแร้นแค้น ผุพัง ไม่สามารถอยู่ได้
“เด็กต้องมาอยู่กันสองพี่น้อง บ้านเขาก็อยู่ไม่ได้ ผุไปหมด เราก็ไปขอเศษวัสดุจากแหล่งที่อุปการะสนับสนุนได้ เขาก็ให้หลังคา สังกะสี รวมถึงไม้ก็มีคนในชุมชนบริจาค เราก็จ้างช่างคนหนึ่งและรวมกลุ่มครูลงไปช่วยกันสร้างบ้านเพื่อให้อยู่ได้ เพื่อให้เด็กกลับมาเรียนได้ตามปกติ”
เมื่อได้รับจัดสรรทุนเสมอภาค ครูกล่าวแสดงความขอบคุณ กสศ. เพราะช่วยเด็กทั้งสองพี่น้องให้มีเงินทุนใช้จ่ายเพื่อการศึกษาได้ ถึงกระนั้นการลงพื้นที่ก็ใช่ว่าจะช่วยเด็กได้ทุกคน ครูเล่าถึงปัญหาอื่น ๆ ของเด็กว่า
“เด็กบางคนหลุดออกจากระบบการศึกษาไป แม้บ้านที่เขาอยู่จะดี แต่เด็กอยู่กับตากับยาย เคสแบบนี้คือสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนต่อเยอะ บางบ้านรถกระบะก็เก่า หรือไม่มีแม้กระทั่งยานพาหนะพาส่งโรงเรียน”
ครูมนัญชยายังคงมุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไป เพราะได้รับกำลังใจจากเด็กๆ ในเวลาที่ครูทำงานหนักเพียงประโยคถามไถ่จากลูกศิษย์ว่า “วันนี้ครูกินข้าวยัง” แค่นี้ก็ทำครูซาบซึ้งใจและอยากช่วยเหลือเด็กต่อไป
“ผมจะเรียนให้จบ ถึงผมจะไม่มีโอกาสเรียนสายสามัญ ถ้าผมจบ ป.6 ไปแล้ว ผมก็จะหาทางเรียน กศน. ให้ได้”
นั่นเป็นประโยคทิ้งท้ายที่ครูมนัญชยาเล่าให้ฟัง น้ำเสียงของครูสะท้อนถึงความภูมิใจที่ได้ทำให้เด็กคนหนึ่งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้
“เราทำเพื่อเด็ก เรามองเห็นอนาคตในตัวพวกเขา”
ครูนิลิสมี ปาแย (ครูมี)
โรงเรียนชุมชนบ้านตะลุโบะ จังหวัดปัตตานี
คุณครูนิลิสมีทำหน้าที่คัดกรองเด็กมาได้สองปีแล้ว ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และเป็นครูประจำชั้นเด็ก ป.4
“เราทำเพื่อเด็ก เรามองเห็นอนาคตในตัวพวกเขา ส่วนใหญ่เรามีข้อมูลพื้นฐานของเด็กอยู่แล้ว เทอมที่แล้วเรายังลงไปเยี่ยมบ้านเด็กได้ เวลาลงพื้นที่เราทำงานกันเป็นคู่ คนหนึ่งคอยสอบถาม อีกคนคอยจดบันทึก คอยถ่ายรูปเก็บไว้ค่ะ”
ปัญหาส่วนใหญ่ที่ครูพบคือผู้ปกครองไม่ค่อยมีรายได้ เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องกลับมาอยู่บ้าน ไม่มีงานทำ ครูยกตัวอย่างกรณีเด็กคนหนึ่งที่ได้รับทุนเสมอภาค
“มีเด็กคนหนึ่งเป็นเด็กที่ไม่ค่อยพูดคุย เงียบมาก ไม่ค่อยร่าเริง ครูก็ใช้วิธีพยายามคุยกับเขา สื่อสารผ่านเพื่อนแล้วให้เพื่อนมาบอกครู พอเริ่มสนิทครูถึงได้รู้ว่าเด็กอยู่อีกอำเภอหนึ่ง ผู้ปกครองต้องพาเด็กมาส่งเป็นระยะทางไกล เขาจึงมีปัญหาสภาวะทางอารมณ์ไม่เหมือนคนอื่น”
ครูนิลิสมีได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กคนนี้จนเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
“เขาสามารถมาเรียนได้บ่อยครั้งขึ้น ร่าเริงขึ้น พอเขาเข้ากับเพื่อนได้ สามารถใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขได้ พฤติกรรมก็เปลี่ยนไป พูดมากขึ้น และตั้งใจเรียนมากขึ้น”
ครูทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงแห่งความสุขว่า เด็กทุกคนควรได้รับการศึกษาที่เหมาะสม รวมถึงอุปกรณ์การเรียนด้วย เด็กยากจนซึ่งได้รับทุนเสมอภาค ทำให้สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนที่นอกเหนือจากที่รัฐจัดให้ และนี่คือความหมายของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสายตาของครู
บทบาทของครูทั่วประเทศกับ “ทุนเสมอภาค”
เมื่อครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อคัดกรองและรับรองข้อมูลสถานะครัวเรือนเด็กเป็นรายบุคคลแล้ว หน้าที่ต่อไปคือ
• ครูส่งต่อข้อมูลและประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา
เพื่อรับรองผลการบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ
หลังจากครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและได้ข้อมูลมา ภารกิจต่อไปคือการส่งต่อข้อมูลเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อคัดกรองและรับรองผลการบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษที่รวบรวมมา จากนั้นจะส่งต่อให้ กสศ.ตรวจสอบข้อมูลตามหลักเกณฑ์ก่อนการจัดสรรเงินอุดหนุน
• ครูประสานงานเพื่อส่งมอบ “ทุนเสมอภาค”
เมื่อ กสศ. จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค ครูและทีมที่เกี่ยวข้องจะมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยประสานงานเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายของนักเรียน
ทุนเสมอภาคถูกส่งมอบให้แก่กลุ่มเป้าหมายอย่างเรียบร้อย ประตูสู่โอกาสที่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษจะได้เรียนต่อก็ถูกเปิดกว้างมากขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาก็ถูกบรรเทาลง ความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ใช่ภารกิจที่บรรลุได้ง่าย แต่พวกเราทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนได้
และครูคือหนึ่งใน “หัวใจสำคัญ” ของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น
ที่มา : โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข Conditional Cash Transfer