เมื่อ 9 กรกฎาคม 2564 CDC (Centers for Disease Control and Prevention) หรือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ได้ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อแนะนำข้อปฏิบัติสำหรับการเปิดโรงเรียนในเทอมฤดูใบไม้ร่วงที่ใกล้จะเปิดแล้ว
ไกด์ไลน์ของ CDC ได้แนะนำกลยุทธ์หลายข้อให้แก่โรงเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนปลอดภัย กลยุทธ์เหล่านั้นได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจคัดกรองโควิด-19 ทุกสัปดาห์ รวมถึงการรักษาระยะห่าง
แต่ CDC ก็ได้เน้นเช่นกันว่า โรงเรียนนั้นสามารถเปิดการเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบได้ แม้จะไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการข้างต้นได้ทั้งหมดก็ตาม
แน่นอนว่าผู้ปกครองย่อมมีความกังวลใจ
และนี่คือคำตอบสำหรับคำถามบางข้อเกี่ยวกับไกด์ไลน์อันใหม่
1. เด็ก ๆ จะกลับไปเรียนได้เต็มรูปแบบในเทอมนี้หรือเปล่า?
คำตอบคือ : น่าจะเป็นเช่นนั้น
ล่าสุด CDC ได้แนะนำชัดเจนว่า โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับการเปิดเทอมเป็นลำดับแรก การยังปิดเรียนต่อไปเพียงเพราะไม่อาจทำตามมาตรการป้องกันที่แนะนำไว้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ
ทั้งนี้หลายครอบครัวประสบความทุกข์ยากจากการเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกล ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ต้องปรับตัว รวมถึงเด็กที่เจอปัญหาเรียนออนไลน์ไม่สะดวก มีงานวิจัยเปิดเผยว่าโควิด-19 ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาสูงขึ้น เด็กครอบครัวผิวสีเรียนไม่ทันคนอื่นเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กผิวขาว ขณะที่เด็กจากครอบครัวยากจนก็เรียนได้น้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนกลุ่มอื่นที่ฐานะดีกว่า
“ฉันดีใจที่ CDC และหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการเปิดโรงเรียน และการเรียนในชั้นเรียน” ดร.เบนจามิน ลินาส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อใน ม.บอสตัน กล่าว
โรงเรียนใหญ่ ๆ ทั่วอเมริกาวางแผนจะเปิดเรียนตามปกติในเทอมใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ โดยหลายโรงเรียนจะไม่มีการสอนผ่านออนไลน์แล้ว เช่น โรงเรียนรัฐในนิวยอร์กซิตี้
2. ไปโรงเรียนแล้วต้องใส่หน้ากากอนามัยไหม?
คำตอบคือ : แล้วแต่พื้นที่
ไกด์ไลน์ได้แนะนำให้เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ฉีดวัคซีนครบโดส ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในอาคาร แต่ขณะเดียวกันก็ตีความได้ว่า เด็กนักเรียนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยขณะเรียนในห้อง
แต่ขณะเดียวกัน CDC ระบุว่าหากโรงเรียนจะประกาศให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ก็ย่อมทำได้ ทั้งนี้เมื่อ 9 กรกฎาคม 2564 รัฐแคลิฟอร์เนียได้ประกาศว่ามีแผนจะประกาศให้ทุกคนที่ไปโรงเรียนต้องใส่หน้ากากอนามัย (ในทางตรงกันข้าม มีอย่างน้อย 8 รัฐประกาศว่านักเรียนไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย)
ขณะเดียวกัน ไกด์ไลน์ยังได้แนะนำว่าแม้แต่ในสถานที่ซึ่งประกาศให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ควรมีข้อยกเว้นให้แก่นักเรียนและบุคลากรบางคน ที่มีภาวะพิการหรือการสวมใส่หน้ากากอนามัยทำได้ยาก
“นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ฉันรู้สึกดีใจที่พวกเขาตระหนักว่าเด็กบางกลุ่มไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้อย่างสะดวกนัก” เจนนิเฟอร์ นัซโซ นักระบาดวิทยา จาก ม.จอห์นส์ ฮอปกินส์ กล่าว
CDC ยังสำทับว่าเวลาอยู่นอกอาคารเรียนนั้น การใส่หน้ากากอนามัยไม่จำเป็นแต่อย่างใด ยกเว้นในบางกรณี เช่น การอยู่ในสถานที่ซึ่งมีคนหนาแน่นในพื้นที่ซึ่งมีการระบาดสูง
3. “การรักษาระยะห่าง” ยังต้องทำอยู่ไหม?
คำตอบคือ : ยังคงแนะนำให้นักเรียนรักษาระยะห่างระหว่างกัน 1 เมตร
CDC ยังคงแนะนำให้นักเรียนรักษาระยะห่างระหว่างกัน 1 เมตรเมื่ออยู่ในชั้นเรียน (แนะนำเหมือนไกด์ไลน์ครั้งก่อนหน้า) งานศึกษาบางชิ้นแนะนำว่าการรักษาระยะห่าง 1 เมตรระหว่างเด็กนักเรียนนั้นถือว่าปลอดภัยแล้ว กรณีที่มาตรการป้องกันอื่นๆ ถูกนำมาใช้งานควบคู่ไปด้วย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น
แต่ CDC ก็แนะนำด้วยว่าโรงเรียนที่อาจพื้นที่ไม่กว้าง หรือห้องเรียนอาจไม่พอจะรับรองมาตรการรักษาระยะห่าง 1 เมตร ก็ยังสามารถเปิดเรียนได้ ทั้งนี้ในกรณีนี้ควรนำมาตรการอื่นมาใช้ควบคู่ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย ตรวจหาเชื้อโควิดบ่อย ๆ และปรับระบบหมุนเวียนอากาศให้ดีขึ้น
ไกด์ไลน์ยังได้แนะนำว่าให้เด็กอยู่ห่างจากครูและพนักงานโรงเรียนอย่างน้อย 2 เมตร และครูกับพนักงานที่ไม่ได้รับวัคซีนควรอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร (เพราะผลการศึกษาที่ว่าระยะห่าง 1 เมตรปลอดภัยนั้น นักวิจัยศึกษาแค่เคสเด็กนักเรียนด้วยกันเท่านั้น ยังไม่ได้ศึกษาเพิ่มในเคสเด็กกับผู้ใหญ่แต่อย่างใด)
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็ได้กล่าวว่ามาตรการรักษาระยะห่างที่ไม่ฟันธงชัดเจนนี้ จะสร้างความสับสนและยากที่จะทำตาม โรงเรียนคงอยากได้ไกด์ไลน์ที่ชัดเจนกว่านี้
แม้กระทั่งเจนนิเฟอร์ นัซโซ นักระบาดวิทยา จาก ม.จอห์นส์ ฮอปกินส์ ยังยอมรับว่าเธอก็สับสน
“ฉันจินตนาการต่อได้เลยว่าโรงเรียนในรัฐต่าง ๆ ก็ต้องสับสนเช่นกัน”
4. จำเป็นต้องฉีดวัคซีนถึงจะไปเรียนได้ไหม?
คำตอบคือ : ปัจจุบันยังไม่มีการบังคับให้นักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมฉีดวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม นั่นอาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ
ปัจจุบันมีแค่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีน ทำให้กลุ่มที่เด็กกว่านี้ถือว่ายังไม่ได้รับความคุ้มครอง ขาดเกราะคุ้มกัน เนื่องจากวัคซีนทั้งหลายยังไม่สามารถฉีดให้ในเด็กต่ำกว่า 12 ปีได้ ทำให้ข้อบังคับเรื่องวัคซีนในโรงเรียนน่าจะยังไม่เกิดขึ้น
ในระหว่างนี้เป็นไปได้ที่โรงเรียนจะสอบถามครอบครัวเด็กเกี่ยวกับรายละเอียดการฉีดวัคซีน
“ผมคิดว่าโรงเรียนน่าจะมีสิทธิ์สอบถามได้ว่า เราอยากรู้ว่าคุณได้รับวัคซีนหรือยัง”
เอริค เอ. เฟลด์แมน ศาสตราจารย์ด้าน medical ethics and health policy แห่ง U of Penn กล่าว “ถ้าคุณฉีดแล้ว คุณสามารถทำแบบนั้นแบบนี้ในโรงเรียนได้ แต่ถ้าคุณยังไม่ฉีดก็จะเจอกฎอีกอย่าง” เป็นต้น
ครูก็เช่นกัน โดยปกตินายจ้างอาจเรียกร้องให้ลูกจ้างฉีดวัคซีนได้ แต่เนื่องจากในอเมริกามี Teachers’ Unions ทำให้อาจส่งผลอีกแบบ
ไกด์ไลน์ของ CDC แจ้งว่าโรงเรียนอาจจะเสนอให้บุคลากรมี “ความรับผิดชอบต่องานที่ต่างไป” สำหรับครูและพนักงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนครบโดสและมีความเสี่ยงต่อโควิด-19
5. เด็กประถมจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่?
คำตอบคือ :น่าจะเป็นช่วงใบไม้ร่วงนี้
ไฟเซอร์ : มีแผนที่จะยื่นขอใบอนุญาตพิเศษสำหรับการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี
โมเดอร์นา : ผลจากการทดสอบในระดับคลินิค (คลินิคัลเทรล) ในกลุ่มเด็กจะออกมาก่อนสิ้นปีนี้ และเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตฉีดวัคซีนในเด็ก 12-17 ปีแล้ว
6. สายพันธุ์กลายพันธุ์อย่างเดลต้าละจะรับมือยังไง ?
คำตอบคือ : การกลายพันธุ์ของเดลต้า ทำให้เป็นเรื่องด่วนที่จะต้องใช้มาตรการหลายอย่างในโรงเรียนประถม
ตอนนี้เดลต้าเป็นโควิดกลายพันธุ์ที่กำลังระบาดในอเมริกา มีการแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดิม โชคดีที่วัคซีนยังช่วยป้องกันไวรัสกลายพันธุ์นี้ได้ดี ทำให้ไม่ต้องถึงขึ้นเจ็บป่วยหนักหรือตาย แต่ เดลต้าอาจจะก่อให้เกิดการระบาดในพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนได้
เด็กนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่จะป่วยจากโควิด รายงานจาก American Academy of Pediatrics ระบุว่า
-น้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของเด็กติดเชื้อโควิดต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
-น้อยกว่า 0.03 เปอร์เซ็นต์ของเด็กติดเชื้อโควิดเสียชีวิต
แม้เด็กจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยที่จะป่วยหนัก แต่การกลายพันธุ์ของเดลต้าทำให้เป็นเรื่องด่วนที่จะต้องใช้มาตรการหลายอย่างในโรงเรียนประถม
7. มาตรการป้องกันอะไรอีกที่ CDC แนะนำ?
คำตอบคือ : “layered” approach คือแนะนำให้โรงเรียนใช้หลายๆ กลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยง
CDC แนะนำสิ่งที่เรียกว่า “layered” approach คือแนะนำให้โรงเรียนใช้หลายๆ กลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยง (บางทีเรียกว่า Swiss cheese model)
เช่น นอกจากสวมใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง และการฉีดวัคซีนแล้ว โรงเรียนควรจะทำการตรวจคัดกรองโควิด-19 เป็นประจำด้วย
สำหรับนักเรียน ครู และพนักงานที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองโควิด หรือต้องกักตัวหากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยกเว้นว่าจะเริ่มมีอาการไม่สบายบางอย่าง
ไกด์ไลน์ยังระบุถึงความสำคัญของการระบายอากาศ (การหมุนเวียนอากาศ) โดยแนะนำให้โรงเรียนเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้อากาศไหลเวียน หรือมีการเปลี่ยนค่าเครื่องปรับอากาศใหม่
8. ทำไม CDC ไม่ออกคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานเฉพาะเจาะจงให้โรงเรียนทำตามได้เลย?
คำตอบคือ : ด้วยสถานการณ์ระบาดในปัจจุบัน CDC เห็นว่าแผนเดียวใช้ทั้งประเทศนั้นไม่น่าจะเวิร์ก เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนในอเมริกาแต่ละพื้นที่แตกต่างกันมาก และพื้นที่ซึ่งมีการฉีดวัคซีนต่ำ อาจเจอกับการระบาดอีกรอบได้ โดยเฉพาะเมื่อสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาแล้ว
ดร.อัลเลน กล่าวว่า “ไกด์ไลน์จาก CDC ตระหนักว่าแผนเดียวใช้ทั้งประเทศนั้นไม่น่าจะใช่หนทางที่ดีที่สุดในการรับมือโรคระบาด ไกด์ไลน์สำหรับเวอร์มอนต์และแมสซาชูเสตต์ส ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงและมีเคสติดเชื้อต่ำก็ควรแตกต่างจากมาตรการในรัฐที่ติดเชื้อสูงและฉีดวัคซีนต่ำ”
CDC ได้แนะนำให้แต่ละพื้นที่เลือกมาตรการโดยพิจารณาจากสภาพในพื้นที่ ซึ่งรวมถึง อัตราฉีดวัคซีน, ระดับการระบาดของโควิด และให้พิจารณาว่ามีการตรวจคัดกรองโควิดอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ด้วยหรือเปล่า
แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะบอกว่าควรจัดมาตรการแล้วแต่พื้นที่ สิ่งนี้อาจฟังดูเข้าท่าแต่การเปิดกว้างให้โรงเรียนแต่ละแห่งจัดการได้เอง อาจมาพร้อมความเสี่ยงได้
การขาดไกด์ไลน์ที่มีความชัดเจนและเฉพาะเจาะจง มีแนวโน้มทำให้บางพื้นที่ไม่แน่ใจว่าควรจะจัดการอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับความเชื่อด้านการเมืองที่ขัดแย้งกันในพื้นที่ (เช่น กลุ่มที่จะฉีดวัคซีน กับกลุ่มที่ยืนยันสิทธิในร่างกายตนเองจนไม่ยอมฉีดวัคซีน)
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าไกด์ไลน์และมาตรการที่หลากหลายจะเป็นโมเดลที่หลายพื้นที่เลือกใช้
แปลและเรียบเรียงจาก :
What Parents Need to Know About the C.D.C.’s Covid School Guidelines