ครูชัญญานุช แย้มไสว (ครูเข็ม) เป็นครูประจำชั้น ม.4 สอนวิชาฟิสิกส์ ทำหน้าที่คัดกรองเด็กชั้น ม.1 – 3 ครูเล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำหน้าที่นี้ว่า “เราก็มาจากครอบครัวยากจน ตอนที่ครูเรียนยังไม่มี กสศ. ขนาดเรายังต้องกู้ กยศ.เลย แล้วเด็กตรงนี้ล่ะ”
“เด็กส่วนใหญ่ที่โรงเรียนนี้จะยากจน มีส่วนน้อยที่ฐานะไม่ยากจน สำหรับเด็กที่ยากจน เราต้องสร้างอาชีพให้เขา เช่น ฝึกให้เขาซ่อมรถ ทำอาหาร ถ้าเขาไม่เรียนต่อก็สามารถเอาทักษะตรงนี้ไปประกอบอาชีพได้ เพราะเด็กมีโอกาสที่จะเรียนต่อน้อยมาก”
ในการลงพื้นที่ ครูเข็มต้องพบเจออุปสรรค ทั้งเรื่องการเดินทางและผู้ปกครอง แต่ก็ฟันฝ่าเอาชนะมาได้
“ปัญหาที่พบเจอ คือ การเดินทาง เช่น หนทางจากบ้านเด็กคนหนึ่งมาโรงเรียน 3 กิโล เส้นทางค่อนข้างสูง ลาดชัน ถนนไม่ได้ลาดยาง แล้วผู้ปกครองเขาไม่ค่อยอยู่ บางคนทั้งเมาและเล่นการพนัน ถ้าเราเจอผู้ปกครอง ปัญหาจะไม่เยอะ ส่วนใหญ่ไปแล้วไม่เจอผู้ปกครอง และการติดต่อสื่อสารมันไม่มีสัญญาณ ต้องอาศัยจังหวะผู้ปกครองลงมาจากสวน คือไปครั้งเดียวไม่เจอผู้ปกครอง บางทีต้องไป 3 รอบ แล้วยิ่งมาเจอกับโควิด บ้านผู้ปกครองก็ไม่มีสัญญาณมือถือ เราจะออนไลน์ก็ไม่ได้ ต้องให้เด็กมาอยู่ในจุดที่มีสัญญาณ แต่เราจะไม่ได้เห็นภาพเด็ก เราก็ต้องให้เด็กถ่ายรูปบ้านส่งมาให้ครูแทน”
แม้บางบ้านของเด็กยังมีปัญหาไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ระบบสาธารณูปโภคยังไม่พร้อม แต่ครูเข็มก็ยังคงทำหน้าที่อย่างไม่ย่อท้อ
“มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งกำลังจะขึ้น ม.4 ตอนไปเยี่ยมบ้านเขาอยู่ ม.3 ครอบครัวเด็กยากจนจริง ๆ พ่อแม่อยู่ด้วยกัน แต่บ้านเขามีลูกประมาณ 6 – 7 คน ดูเหมือนเขาจะไม่เรียนต่อ ม.4 เราลงไปเยี่ยมบ้านแล้วพูดโน้มน้าวจิตใจว่า เขาจะเป็นเสาหลักของครอบครัวในอนาคตนะ เพราะว่าเป็นเด็กผู้ชาย เราเข้าไปสร้างความหวังให้เขา แนะนำให้ตั้งใจเรียน เขาก็มองเราเหมือนเป็นไอดอล เราก็ดีใจที่ทำให้เขามีความหวัง แม้บ้านจะต้องข้ามคลองไป ต้องเดินลุยน้ำเพราะรถมันเข้าไม่ถึง พอได้ทุนจาก กสศ. เขาก็ตั้งใจเรียนมากขึ้น”
ทว่าก็มีเด็กที่ได้รับทุนแล้วแต่ยังคงน่าเป็นห่วง จนครูเข็มต้องเฝ้าคอยติดตามใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง
“เด็กผู้ชายคนหนึ่ง พอได้ทุน กสศ. เขากลับไม่ยอมส่งงาน ไม่ทำการบ้าน เขามาทุกวันแต่ติดเกม ไม่ค่อยเข้าเรียน เราจึงคุยกับเด็กว่าทำไมไม่เข้าเรียน เด็กก็ตอบว่าเขามาแอบเล่นเกม เราก็คอยตักเตือนแต่เด็กก็ยังเหมือนเดิม เราก็ไปติดตามกับผู้ปกครองเพื่อให้เด็กตั้งใจเรียนมากขึ้น พบว่าครอบครัวของเด็กยากจน แม่มีเด็กอ่อนอีกคนหนึ่ง เด็กไม่มีเงินมาโรงเรียน เราก็พยายามหาแนวทางช่วยเหลือเด็กว่าจะทำอย่างไร เราต้องติดตามเด็กอยู่ต่อเนื่อง”
“มีอีกคนเป็นเด็กผู้หญิงขึ้นชั้น ม.3 ปีนี้ ครูประจำชั้นก็คอยติดตามดีมาก เป็นเด็กที่ได้ทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่บ้านไม่มีไฟฟ้า คือเด็กยากจนแล้วยังอยากเรียน แต่ความพยายามยังมีไม่พอ ยังอยู่ในช่วงต้องสร้างกำลังใจ สร้างแรงกระตุ้นให้อยากเรียนต่อ เพราะครอบครัวมีพ่อติดเหล้าและทำร้ายแม่ซึ่งเป็นคนพิการ ไปไหนไม่ได้ และเด็กกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ติดเพื่อน ดังนั้นการพูดคุยแบบเก่า ๆ อาจไม่ได้ผล เพราะเด็กยังไม่รู้ว่าสิ่งไหนสำคัญกว่าการที่ผู้ปกครองติดเหล้า เด็กเห็นทุกวันก็ซึมซับ แม่ก็พิการ จึงขาดต้นแบบที่ดี พอกลับมาบ้านก็เจอมลพิษทางครอบครัว และไม่มีแรงดึงดูดที่ดีคอยกระตุ้น
“ตอนที่เด็กมารับเงิน ก็ให้ความร่วมมือดี แต่หลังจากนั้นเขาก็เอาแต่นอน เราเห็นแล้วก็เวทนาเด็ก เด็กพอมาโรงเรียนก็มีพฤติกรรมเนือย ๆ เขาไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่ามาเรียนทำไม กลับบ้านไปก็เจอสภาพอย่างนั้น เด็กยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนไปจะช่วยสร้างอนาคตที่ดีได้อย่างไร เพราะเขาไม่มีต้นแบบดี ๆ ให้เห็น ปัจจุบันเด็กคนนี้ก็ได้รับทุน กสศ. แต่เด็กยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เราจึงต้องพยายามดึงไม่ให้เขาจมอยู่กับปัญหาตรงนั้น ยิ่งตอนนี้อยู่ในช่วงโควิด เราจะไปเยี่ยมเด็กที่บ้านก็ไม่ได้ จะใช้โทรศัพท์ก็ไม่มีคลื่นสัญญาณ ก็ต้องหาทางค่อย ๆ ประคับประคอง โดยเราพยายามทำให้ดีที่สุด
“ปัจจุบันเรายังหาทางช่วยเหลือเด็กคนนี้ เพราะเป็นกรณีที่ค่อนข้างยาก เราไม่เคยคิดว่าผิดที่ตัวเด็กนะ และผู้ปกครองก็ไม่ผิดด้วย แต่ผู้ปกครองไม่มีแรงพลังจะไปต่อ เพราะปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ โรงเรียนเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สอง เด็กจะมีความสุขในช่วงมาอยู่กับเรา 8 ชั่วโมง ไม่ต้องทุกข์ทน แต่พอกลับไปบ้านใจก็ห่อเหี่ยว”
เมื่อไปเยี่ยมบ้านเด็ก ทำข้อมูลส่งต่อให้กับ กสศ. ครูเข็มพูดถึงจำนวนเด็กที่ได้รับทุนว่า
“ส่วนใหญ่ในจำนวนเด็กทุก ๆ 20 คน ถ้าทำข้อมูลเสนอไปจะได้รับทุนประมาณ 12 คน เด็กบางคนไม่ได้ทุนเพราะพ่อแม่เป็นพนักงานราชการ ผู้ปกครองบางคนมีรายได้เดือนละ 3,000 บาท ภาพถ่ายบ้านเขาใหญ่โต แต่นั่นไม่ได้สะท้อนความจริง เพราะเขาเช่าบ้านคนอื่นอยู่
“โรงเรียนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เด็กทุกคนไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ครูต้องใช้ความอดทนอย่างสูง พยายามหาแนวการเรียนแบบ On-hand เพิ่มเติม เราให้ใบงาน ครูสอนออนไลน์สัปดาห์ละวัน แต่บ้านเด็กไม่มีไวไฟ ต้องจ่ายค่าเติมเน็ตวันละ 30 บาท เพื่อจะเรียนผ่าน Google Meet แล้วก็ส่งงาน เรารู้สึกว่า นี่เราไปสร้างภาระให้ครอบครัวเขาหรือเปล่า”
เรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังก่อให้เกิดปัญหาการส่งต่อทุนเสมอภาคให้แก่เด็กด้วย
“เด็กที่ได้รับทุน กสศ. คือพื้นฐานเด็กลำบากอยู่แล้ว พอมาเจอเศรษฐกิจแบบนี้ เขาก็ยิ่งลำบากกว่าเดิมอีก ในเรื่องการส่งต่อมอบทุนให้เด็ก ครูเองมีพร้อมเพย์ แต่เด็กบางคนยังไม่ได้เปิดบัญชี เราจะนัดแนะเด็กก็ยังยาก บางโรงเรียนที่ไม่มีพร้อมเพย์ก็ต้องนัดเด็กให้ไปรับทุนที่โรงเรียน ก็จะยุ่งยากยิ่งขึ้น ทางธนาคารก็จำกัดจำนวนคนทำธุรกรรมเพราะสถานการณ์โควิด ผู้ปกครองก็ไม่สะดวกที่จะไปเปิดบัญชี ก็ค่อนข้างลำบาก ขั้นตอนมันยากนิดนึง เงินจึงยังไม่สามารถส่งต่อให้เด็กนักเรียนทุกคนได้”
ครูเข็มกล่าวถึงทุนเสมอภาคที่ได้รับจาก กสศ.ว่า “ช่วงนี้เจอโควิด ครูมองว่าเงินที่ช่วยเหลือเด็ก 1,500 หรือ 1,000 บาทต่อเทอมนั้นค่อนข้างน้อย น่าจะปรับให้ทันกับปัจจัยพื้นฐานค่าครองชีพ เด็กที่ได้รับทุนไป เขาไม่ได้นำไปซื้ออุปกรณ์การเรียนหรอก เขาเอาไปช่วยผู้ปกครองซื้อกับข้าว ซื้อข้าวสาร อยากให้ปรับเพิ่มเป็น 2,000 หรือ 2,500 บาทค่ะ”
นั่นคือเสียงสะท้อนจากครูเข็มผู้ทำงานร่วมกับ กสศ. เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก่อนที่ครูเข็มจะกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ครูภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเด็ก ได้เป็นสื่อกลางที่ทำให้ทุนนี้ส่งผ่านไปถึงเด็กได้ เป็นน้ำใจที่เราพอทำให้เด็กได้ ก็รู้สึกภูมิใจและอิ่มใจค่ะ”
ปีการศึกษา 2/2563
- จังหวัดยะลามีนักเรียนทั้งหมด 59,588 คน
- เป็นนักเรียนยากจน 3,977 คน นักเรียนยากจนพิเศษ 26,361 คน
- รวมนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 30,338 คน คิดเป็น 50.91 % ของนักเรียนทั้งหมด
- รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 942.97 บาท
- จำนวนสมาชิกเฉลี่ยต่อครัวเรือน 5 คน
ที่มา : ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา iSEE