วันที่ 18 สิงหาคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดย น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา ได้จัดงานรับมอบอุปกรณ์ทางการศึกษา ผ่านการประชุมแบบออนไลน์ โดยมีคุณธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เลอโนโว เป็นผู้ส่งมอบ
นี่คือแผนงานส่วนหนึ่งของโครงการ Learning Coin เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Lenovo Philanthropy และ UNESCO โดยครั้งนี้เป็นการรับมอบแท็บเล็ตจำนวน 50 เครื่อง เพื่อเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่พื้นที่ 4 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน กทม. นครนายก และยะลา
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ กล่าวว่า
“กสศ. ขอขอบคุณทาง Lenovo Thailand และ UNESCO สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจในการดูแลกลุ่มเป้าหมายเยาวชนผู้ด้อยโอกาส 20% ล่างสุดของประเทศ ที่มีจำนวนกว่า 1 ล้านคนและมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบการศึกษา หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งโครงการ Learning Coin จะเข้ามามีส่วนในการส่งเสริมการอ่าน และช่วยสนับสนุนคุณครูในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถติดตามการเรียนรู้ และวัดผล ประเมินผลนักเรียนได้สะดวกยิ่งขึ้น มีการประยุกต์เอาเทคโนโลยีทางการเรียนรู้ที่ใช้ทรัพยากรของ กสศ. อย่างเช่น องค์ความรู้และงานวิจัย มาพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือต้นแบบ สำหรับขยายผลไปยังทั่วประเทศจาก 4 จังหวัดนำร่อง”
ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและองค์กรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาองค์ความรู้ด้วยเทคโนโลยีต่อไป
ทางด้าน ผอ.มัณฑนา กาศสนุก ผู้อำนวยการการศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยคณะผู้แทนทีมทำงาน ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของโครงการจากมุมมองของนักการศึกษาในพื้นที่ว่า
“เราจะเน้นพัฒนาทักษะด้านการอ่านให้แก่เด็กทั้งในและนอกระบบ ทางแอปพลิเคชันบนแท็บเล็ตที่ได้รับมอบมา พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนการศึกษา ประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ด้วยการเก็บข้อมูลบนแอปพลิเคชัน ส่งเสริมให้เด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ได้มีโอกาสกลับเข้ามาเรียนด้วยความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี”
อุปกรณ์เหล่านี้จะไม่เพียงส่งมอบให้เด็กอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังบรรจุสื่อการเรียนรู้ในแอปพลิเคชันให้ครอบคลุมทุกหลักสูตร เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย เนื่องจากผู้เรียนในจังหวัดนำร่องนั้น ไม่เพียงแต่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างถาวรเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลายทั้งทางด้านชาติพันธุ์ วัย และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา
ผอ.มัณฑนาเน้นว่าปัญหาที่พบเจอกับเด็กในพื้นที่นั้น มีทั้งปัญหาการเรียนรู้ขาดหาย การเรียนรู้ไม่เสร็จสิ้น และยังมีช่วงอายุกว้างตั้งแต่วัยประถมจนถึงมัธยมต้น การรับมอบอุปกรณ์ในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และเป็นการใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาคนได้อย่างถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย
งานรับมอบในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากคุณประติมา ฮารีท ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารภายนอกจาก Lenovo Philanthropy และนายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
พร้อมทั้งยังให้คำมั่นในการร่วมภารกิจพัฒนาไอเดียด้านนวัตกรรมทางการศึกษา ให้มีความยืดหยุ่น ในการนำไปปรับใช้ได้อย่างหลากหลาย และหวังผลได้ว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพในการรู้หนังสือและส่งเสริมการอ่าน ให้เข้าถึงเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา อย่างครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป