ผลการศึกษาวิจัยขององค์กรการกุศลแห่งหนึ่งในอังกฤษ พบว่า นโยบายดูแลเด็กฟรี หรือ Free Childcare Policy ของรัฐบาลอังกฤษ ได้ทำลายโอกาสในชีวิตของกลุ่มเด็กยากจนของประเทศ เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการทำให้เด็กจากครอบครัวยากจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับก่อนอนุบาลได้ เพราะพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยไม่เข้าเกณฑ์เงื่อนไขบางประการของภาครัฐ จนส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กยากจนกับเพื่อนร่วมรุ่นรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเด็กมีพื้นฐานความรู้ที่ไม่เท่ากันตั้งแต่ก่อนที่เด็ก ๆ จะได้เข้าเรียนในโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ การศึกษาของ Sutton Trust และ Sylvia Adams Charitable Trust องค์กรการกุศลในอังกฤษ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลในการให้เงินช่วยเหลือดูแลเด็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กรายสัปดาห์เพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับเด็กอายุ 3 – 4 ขวบ จากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เทียบกับ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับเด็กที่พ่อแม่ทำงาน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและส่งผลเสียต่อโอกาสในชีวิตของเด็ก
โดยรายงานผลการศึกษาพบว่า 70% ของครอบครัวที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือดูแลเด็ก 30 ชั่วโมงเต็มอยู่ในครึ่งบนของผู้ที่มีรายได้มาก ในขณะที่มีเพียง 13% ของครอบครัวที่มีสิทธิ์อยู่ในสามอันดับล่างสุดของรายได้ขั้นต่ำ ที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์ 30 ชั่วโมงเต็ม ก่อนแนะให้รัฐบาลอังกฤษแก้ไขด้วยการเปิดทางให้เงินสนับสนุนการเข้าถึงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดที่ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งการประเมินเบื้องต้นระบุว่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านปอนด์ต่อปี
เจน ยัง (Jane Young) ผู้อำนวยการมูลนิธิการกุศล Sylvia Adams Charitable Trust กล่าวว่า รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเด็กที่ด้อยโอกาสที่สุดในอังกฤษถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงการศึกษาก่อนวัยอันควรเช่นเดียวกับเพื่อนที่มีข้อได้เปรียบกว่า
ผู้อำนวยการเจนแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่สามารถปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าปัญหานี้จะก่อผลลัพธ์เชิงลบต่ออนาคตของเด็กอย่างชัดเจน จึงได้เสนอวิธีแก้ปัญหาที่ใช้การได้ในรายงานฉบับนี้ ทั้งยังหวังว่ารายงานฉบับนี้จะไม่ถูกเพิกเฉย แต่จะต้องนำมาดำเนินการอย่างทันท่วงที หากต้องการให้ลูกหลานชาวอังกฤษมีสิทธิ์เริ่มต้นชีวิตอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ เดิมทีเด็กอายุ 3-4 ขวบทุกคนในอังกฤษมีสิทธิ์ได้รับเงินทุนช่วยเหลือเป็นเวลา 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กระนั้น ตั้งแต่ปี 2017 เด็ก ๆ ที่พ่อแม่ทำงานและได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำจะมีสิทธิ์ได้รับเงินดูแลเพิ่มอีก 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้พ่อแม่กลุ่มนี้ได้รับทุนช่วยเหลือดูแลเด็กฟรีรวมเป็น 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ขณะเดียวกัน แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะมีผลช่วยให้เด็ก 16% จากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีงานทำได้รับการดูแลจากสถานดูแลเด็กโดยตรง แถมเด็กจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสที่สุดจะได้รับบริการดูแลเด็ก 15 ชั่วโมงตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ทีมนักวิจัยกลับพบว่า ในช่วงการระบาดใหญ่ สถานที่ดูแลเด็กเหล่านั้นบางแห่งถูกถอนงบออกไป เพราะนโยบายเน้นให้ความสำคัญกับสถานที่ดูแลเด็กในกลุ่มพ่อแม่ที่มีงานทำก่อน
เรียกได้ว่า เงื่อนไขและการจัดสรรของนโยบายดูแลเด็กฟรีของภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือครอบครัวยากจนเท่าที่ควร ทั้งนี้รายงานได้เสนอแบบจำลองที่จัดทำโดยสถาบันการคลังศึกษา (Institute for Fiscal Studies) ซึ่งชี้ว่า หากรัฐให้เงินสนับสนุนการดูแลเด็กทุกคนเป็นมาตรฐานเดียวกันที่จำนวน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สัดส่วนเด็กจากครัวเรือนยากจนที่เข้าถึงการสนับสนุนนี้จะเพิ่มขึ้นมาเทียบเท่าเด็กครัวเรือนฐานะดีอย่างมีนัยสำคัญ
จูน โอซัลลิแวน (June O’Sullivan) ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ London Early Years Foundation ซึ่งดูแลสถานรับเลี้ยงเด็ก 39 แห่งทั่วลอนดอน กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กด้อยโอกาสของอังกฤษไม่ได้รับเงินทุนเท่ากัน มีหลายครอบครัวได้รับความผิดหวังจากรัฐบาลที่เอาแต่พูดว่าตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ปฐมวัย รวมถึงการให้บริการดูแลเด็กเล็กที่มีคุณภาพสูงราคาไม่แพง แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีใครพร้อมที่จะให้เงินสนับสนุนอย่างเหมาะสม เท่าเทียม และทั่วถึง
ที่มา : Free childcare policy ‘damages life chances’ of poor children in England