‘รวบรวม (ข้อมูล) – ร่วมมือ – เสริมพลัง’ กุญแจสำคัญปรับเปลี่ยนอาชีวศึกษาไทย
โดย : กานต์ธีรา ภูริวิกรัย
ภาพ : ภาพิมล หล่อตระกูล

‘รวบรวม (ข้อมูล) – ร่วมมือ – เสริมพลัง’ กุญแจสำคัญปรับเปลี่ยนอาชีวศึกษาไทย

เมื่อพูดถึงปัญหาสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘การว่างงาน’ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่เพิ่งจบออกมาจากรั้วสถาบันการศึกษาหมาดๆ ชนิดที่หลายคนชอบเปรียบเปรยว่าต้องเดินหางานกันจนส้นรองเท้าสึกไปข้างหนึ่ง ยิ่งเมื่อโควิด-19 เข้ามา ตลาดแรงงานก็ถูกคลื่นโรคระบาดสาดซัดจนแทบทรุด ดังที่ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า อัตราการว่างงานของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้คิดเป็นร้อยละ 1.96 (จำนวน 7.6 แสนคน)

ทว่าการมีคนว่างงาน ‘ไม่เท่ากับ’ การที่ตลาดแรงงานไม่มีตำแหน่งว่าง เพราะขณะที่คนจำนวนหนึ่งต้องว่างงานหรือยังหางานทำไม่ได้ ฝั่งนายจ้าง โดยเฉพาะในบางภาคธุรกิจ กลับต้องประสบปัญหาขาดแคลนคนทำงานเช่นกัน ซึ่งภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือ (skilled labour) ทั้งสิ้น

ถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นคือตลาดแรงงานยังต้องการคนที่จบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาจำนวนมาก เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าอาชีวศึกษาจะเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะฝีมือในด้านต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนไทยจะยังไม่ได้ผลิตบุคลากรที่เรียนและฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาอย่างเพียงพอ การเรียนอาชีวศึกษาจึงกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของตลาดแรงงานที่หลุดหายไปจากระบบของไทย

ในช่วงที่ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจต้องเจอพิษโควิด-19 อย่างหนักหน่วง พร้อมทั้งประเด็นอาชีวศึกษาเริ่มถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง 101 ชวนคุณสำรวจสถานการณ์และสภาพปัญหาในตลาดแรงงานไทย พร้อมด้วยวิธีปรับเปลี่ยนการเรียนและการอบรมเชิงเทคนิคอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานไทยมากขึ้น ผ่านรายงานในหัวข้อ Aligning vocational education and training with labour market needs in Thailandจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

‘อาชีวศึกษา’ ฟันเฟืองสำคัญที่หายไปจากระบบตลาดแรงงานไทย


หากจะคลี่ปัญหา ‘มีงาน แต่ไม่มีแรงงาน’ ออกมาให้เห็นชัดเจน เราอาจจะต้องเริ่มที่ประเด็น 2 ข้อใหญ่ด้วยกัน

ข้อแรก เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไทยไม่ได้ผลิตผู้เรียนด้านอาชีวศึกษาออกมาอย่างเพียงพอ กล่าวคือเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว เด็กไทยจำนวนมากหันไปเรียนต่อในสายสามัญเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราทราบกันดีว่าการเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นการเรียนทฤษฎีมากกว่าการสอนทักษะเฉพาะหรือให้ลงมือปฏิบัติในหน้างานจริง จึงนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีทักษะอย่างที่นายจ้างต้องการ

เรื่องนี้สอดคล้องกับผลสำรวจในปี 2014 โดย Economic Intelligence Centre ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ทำการสำรวจธุรกิจ 222 แห่ง ใน 6 ภาคส่วน พบว่านายจ้างเกินครึ่ง (53%) ไม่สามารถหาคนมาทำงานได้ภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจภาคบริการ อาหารและเครื่องดื่ม หรือภาคการก่อสร้าง ขณะที่ในปี 2019 สถิติจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แสดงให้เห็นว่า สาขาที่ไทยขาดแคลนแรงงานมากที่สุดสาขาหนึ่งคือ สาขางานที่เกี่ยวกับดิจิทัล ซึ่งตลาดยังต้องการกลุ่มแรงงานกึ่งมีทักษะ (semi-skilled worker) ที่คอยช่วยสนับสนุนและบำรุงระบบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกจำนวนมาก

ทั้งนี้ เรื่องดิจิทัลเป็นประเด็นที่ชวนกังวลไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าโลกในศตวรรษที่ 21 กำลังเรียกร้องทักษะทางดิจิทัลมากขึ้น และจากที่เราเคยคิดว่า ‘มนุษย์’ คือคู่แข่งในตลาดแรงงาน ตอนนี้เราอาจจะต้องหันไปพิจารณา ‘หุ่นยนต์’ ที่เริ่มเข้ามาทดแทนคนในหลายๆ งาน ดังที่ ILO ประมาณการว่างานประมาณ 44% ในไทยมีโอกาสจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ (ซึ่งอัตราดังกล่าวอาจสูงถึง 70% ในเวียดนาม)

ดังนั้น นอกจากเรื่องแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลโดยเฉพาะซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ ทักษะการใช้และความรู้ด้านดิจิทัลของแรงงานทั่วไปก็เป็นอีกประเด็นที่ชวนกังวลไม่แพ้กัน

นี่จึงนำมาสู่ข้อที่สอง คือ คุณภาพของการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ที่อาจไม่สามารถผลิตผู้เรียนที่มีทักษะเพียงพอหรือผลิตผู้เรียนที่มีทักษะตรงตามความต้องการและตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ ดังที่จะเห็นว่าปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานไทยคือ เรามีทั้งแรงงานที่มีคุณสมบัติสูงกว่าที่งานนั้นต้องการ (over qualification) โดยเฉพาะในกลุ่มงานขายและงานบริการ และอุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก ในทางกลับกัน งานประเภทการจัดการ งานเสมียน หรืองานเทคนิค ก็เป็นกลุ่มงานที่พบกับปัญหาแรงงานไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ (under qualification) เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นปัญหามีคุณสมบัติสูงเกินไปหรือมีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ภาพที่สะท้อนออกมาคือนายจ้างได้คนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการ ขณะที่แรงงานก็กำลังทำงานที่ไม่แมตช์กับทักษะที่ตนมี และถ้าจะมองภาพกว้างกว่านั้นคือนายจ้างไม่สามารถหาคนที่มีทักษะในงานนั้นๆ มาทำงานตั้งแต่ต้นเสียด้วยซ้ำ ปัญหานี้จึงไม่สามารถถูกแก้ด้วยการส่งเสริมให้เด็กเรียนอาชีวศึกษามากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ไปถึงการปรับและเปลี่ยนระบบการเรียนและการฝึกอบรมเชิงเทคนิค เพื่อผลิตบุคลากรอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบมากขึ้น และทำให้ผู้เรียนที่จบมามีคุณภาพ ตอบรับความต้องการของตลาดแรงงานได้

4 แนวทางปรับเปลี่ยนอาชีวศึกษา ฝ่าทางตันตลาดแรงงานไทย


เมื่อพูดถึงการเพิ่มศักยภาพและปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในไทยให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น รายงานของ OECD ข้างต้นได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจไว้ 4 ข้อ ดังนี้:

ข้อเสนอแรกคือ การรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพสูงเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็น เพื่อช่วยออกแบบนโยบายการเรียนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย และผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาดได้

ความน่าสนใจของวิธีนี้คือ การรวบรวมข้อมูลอาจช่วยให้เรายิงปืนนัดเดียวแต่ได้นก ‘สาม’ ตัว นกตัวแรกคือข้อมูลที่ได้มาสามารถช่วยออกแบบการเรียนการสอนและการอบรมเชิงเทคนิค นกตัวที่สองคือการที่ภาครัฐสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ออกแบบนโยบายการย้ายถิ่น (migration policy) รวมถึงออกแบบเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวได้ และนกตัวสุดท้ายคือภาคแรงงาน ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ผลักดันให้รัฐออกนโยบายการจ้างงานหรือการศึกษา รวมถึงพัฒนาโครงการฝึกฝนทักษะที่ตอบสนองตลาดแรงงานได้ในอีกทางหนึ่ง

เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ในไทย จะพบว่าเรายังไม่มีการวิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานแบบต่อเนื่องและเป็นองค์รวมเท่าใดนัก เพราะการวิเคราะห์ที่ผ่านๆ มามักทำในลักษณะเฉพาะภูมิภาคหรือเฉพาะภาคส่วนมากกว่า เช่น การวิเคราะห์การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (new s-curve) หรือการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) นี่อาจจะถึงเวลาที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหันกลับมารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้แบบเป็นองค์รวมและจริงจัง รวมถึงมีการแบ่งปันข้อมูลเพื่อช่วยออกแบบนโยบายที่จำเป็นในการปรับปรุงคุณภาพอาชีวศึกษาไทย

ข้อเสนอที่สอง คือ การรวมเอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมออกแบบ รวมถึงร่วมจัดการเรียนการสอนและอบรมอาชีวศึกษา เพราะถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว แม้อาชีพหนึ่งๆ อาจจะต้องการทักษะบางอย่างเพื่อประกอบอาชีพนั้นเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่จะอยู่รอดในตลาดแรงงานจะมีได้แค่ทักษะสำหรับอาชีพของตนเอง พวกเขายังจำเป็นต้องมีทักษะอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย และผู้ที่จะตอบได้ว่าแรงงานควรมีทักษะอะไรบ้าง ก็คือผู้ว่าจ้างหรือคนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทยยังต้องเจอปัญหาที่ว่าตัวแสดงในตลาดแรงงานไม่ค่อยร่วมมือกัน หรือหลายๆ หน่วยงานยังทำงานแบบแยกส่วนโดยมีโครงการฝึกอบรมแบบของใครของมันอยู่ ทำให้การเรียนการสอนอาชีวศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ทักษะหลากหลายที่ว่ามาข้างต้น

นี่จึงนำมาสู่ข้อเสนอที่สาม คือ การอำนวยความสะดวกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนและอบรมในระดับอาชีวศึกษา ถ้าพูดให้ง่ายที่สุดคือทลายความเป็น ‘ไซโล’ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ และทบทวนกลไกให้เอื้อต่อการมีส่วนร่วมนี้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้นายจ้างจากธุรกิจขนาดเล็กหรือภาคธุรกิจที่ไม่เป็นทางการเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคอยให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าระบบอาชีวศึกษาถูกออกแบบและประเมินโดยอยู่บนฐานความต้องการของนายจ้างเป็นหลัก ก็อาจจะนำไปสู่การที่นายจ้างต้องการทักษะที่แคบมากๆ และอยู่ในกลุ่มอาชีพเฉพาะ หรือต้องการทักษะที่มีไว้ทำงานคุณภาพต่ำ หรืออาจเป็นได้แม้กระทั่งว่านายจ้างต้องการแรงงานจำนวนมากที่มีทักษะแบบเดียวกัน เพื่อจะได้เกิดภาวะแรงงานล้นตลาดและทำให้นายจ้างสามารถกดค่าแรงได้

ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งช่วยตอบคำถามว่า ทำไมเราต้องเปิดพื้นที่ให้ทั้งนายจ้างและสหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาท เพราะสหภาพแรงงานสามารถเข้ามาช่วยสร้างสมดุล เป็นปากเป็นเสียงแทนแรงงานทั้งหลายไม่ให้ระบบถูกออกแบบโดยขึ้นกับความต้องการของนายจ้างจนเกินไป และเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ยิ่งรัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับฟังข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยให้การออกแบบการเรียนการสอนและการอบรมสายวิชาชีพเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ตอบโจทย์ทั้งฝั่งนายจ้าง ฝั่งแรงงาน และสามารถดึงดูดผู้เรียนได้ในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ เราต้องอย่าลืมด้วยว่า ไม่มีนโยบายใดที่ถูกออกแบบมาครั้งเดียวแล้วสามารถนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่ได้ เพราะแต่ละภาคหรือท้องถิ่นย่อมมีความต้องการเฉพาะเป็นของตนเอง ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรรับฟังเสียงของหุ้นส่วนทางสังคมในระดับย่อยๆ หรือแม้แต่ความเห็นจากแต่ละสถาบันการศึกษาเพื่อประกอบเป็นการออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจและอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ได้บ้างคือในเดนมาร์ก ซึ่งสถาบันอาชีวศึกษาทุกแห่งต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการจัดการฝึกอบรมในระดับท้องถิ่นอย่างน้อย 1 คณะกรรมการ (ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคส่วนที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับชาติ นายจ้างท้องถิ่น ไปจนถึงผู้เรียน) โดยจะทำงานกับสถาบันอาชีวศึกษาอย่างใกล้ชิดเพื่อออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับความต้องการของท้องถิ่น และยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างสถาบันกับนายจ้างท้องถิ่นอีกด้วย เมื่อมองต่อไปในระดับชาติ การมีคณะกรรมการเช่นนี้จะช่วยเป็นตัวเชื่อมระหว่างระดับท้องถิ่นกับระดับชาติ ช่วยให้คณะกรรมการระดับชาติมองเห็นภาพสถานการณ์ในท้องถิ่นได้ดีขึ้น และทำให้นโนบายของท้องถิ่นสอดประสานไปกับนโยบายในระดับชาติเช่นกัน

และ ข้อเสนอสุดท้าย คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐาน (work-based learning: WBL) เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนจะได้พัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมของ WBL คือการฝึกอาชีพ (apprenticeships) หรือที่บางประเทศเรียกว่าระบบคู่ขนาน (dual system) เป็นการผสมผสานกันระหว่างการเรียนรู้ในที่ทำงานจริงโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในเชิงโครงสร้าง โดยผู้เรียนจะใช้เวลามากกว่าครึ่งของการเรียนในสถานที่ทำงาน เช่น ใช้เวลา 3-4 วันในที่ทำงาน และใช้เวลา 1-2 วันอยู่ที่สถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับสถาบัน

ที่น่าสนใจคือนอกจากผู้เรียนจะได้รับประโยชน์จากการได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติงานในสถานที่จริง บางครั้งการฝึกอาชีพก็อาจเป็นโอกาสให้นายจ้างได้พิจารณาเด็กฝึกที่เข้าตา และยื่นข้อเสนอให้ได้ทำงานเป็นพนักงานเต็มตัวหลังการฝึกเสร็จสิ้นลง

เมื่อหันมามองในไทย การฝึกอาชีพหรือระบบคู่ขนานถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 และเป็นที่สนใจว่าระบบการเรียนอาชีวศึกษาในไทย ทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่างเอื้อให้จัดการเรียนการสอนในระบบที่ว่ามาได้ สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า นักเรียนอาชีวศึกษาไทยเริ่มหันมาเรียนในระบบคู่ขนานมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ภาครัฐช่วยสนับสนุนโดยการยกเว้นภาษีทั้งหมดกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกอาชีพด้วย

อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ด้วยความที่การเรียนในระบบนี้จะต้องอิงอยู่กับความอุปถัมภ์ของฝั่งนายจ้าง ทำให้นายจ้างย่อมคาดหวังแรงงานที่มีคุณภาพสูงตามไปด้วย เพราะถ้าแรงงานไม่มีคุณภาพตามที่ต้องการ นายจ้างก็อาจจะหันไปหาผู้เรียนที่จบจากสถาบันหรือแม้กระทั่งบัณฑิตจากสถาบันอุดมศึกษามากกว่า ทาง OECD จึงให้คำแนะนำเกี่ยวระบบคู่ขนานไว้ว่า การออกแบบระบบการฝึกอาชีพ รวมไปถึงการดำเนินการต่างๆ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อออกแบบระบบที่จะตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้จริง เป็นระบบที่มีศักยภาพ และมอบผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้เรียนได้ เพื่อทำให้ระบบการฝึกอาชีพมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง

แน่นอนว่าในโลกนี้ไม่มีกระสุนเงินที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ทว่าข้อเสนอแนะข้างต้นของ OECD ก็ถือเป็นประโยชน์และอาจเป็นก้าวแรกที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับการเรียนและการฝึกอบรมอาชีวศึกษาในไทย เพื่อที่การเรียนการสอนอาชีวศึกษาในไทยจะได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมกับสากล ดึงดูดเด็กเก่งที่มีทักษะในสายวิชาชีพเข้ามาเรียนอาชีวศึกษา เป็นฟันเฟืองสำคัญของตลาดแรงงานไทย และสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกัน

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world