การเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเด็กประถมหลาย ๆ คน แต่ไม่ใช่กับนักเรียนโรงเรียนศิริพงศ์วิทยา อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา
คุณครูที่นี่ได้ปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน สอดแทรกความสนุกเข้าไปในเนื้อหาสาระ พร้อมดึงสิ่งรอบตัวมาประยุกต์เป็นสื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการสอน ทำให้บทเรียนเดิม ๆ ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
อารี ปริศวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนศิริพงศ์วิทยา เล่าให้ฟังว่าการสอนช่วงนี้จะปรับโดยออกแบบเป็นธีมการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็ก
เช่น ธีมเรื่องการทำอาหาร ครูแต่ละคนจะวางแผนว่ามีวิชาไหนที่เกี่ยวข้องบ้าง มีตัวชี้วัดอะไรที่จะนำมาใช้ได้บ้าง พร้อมออกแบบการสอนร่วมกัน เช่น เรื่องสารอาหาร 5 หมู่ การปลูกผัก ไปจนถึงการประกอบอาหาร ที่เด็ก ๆ สามารถลงมือปฏิบัติได้ที่บ้าน
“ปัญหาของเด็กเล็กคือ เบื่อง่าย การจะให้มานั่งเรียนหน้าจอนาน ๆ ทำไม่ได้ ครูต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร จากนั้นก็คิดและลองปรับกันไปเรื่อย ๆ อันไหนดีก็พัฒนาต่อไป จากเดิมที่กำหนดเวลาไว้ 30 นาที แต่พอเราเริ่มมีคลิป มีเกมให้เล่น เด็ก ๆ เขาก็สนุก ไม่เบื่อ เขาก็จะอยู่กับเราได้นาน จนตอนนี้ขยายเวลาเป็น 50-60 นาที”
4 เคล็ดลับของโรงเรียนศิริพงศ์วิทยา
1 เทคนิคสร้างความสนุกระหว่างเรียน
ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งรอบตัวหรือสิ่งที่เด็ก ๆ คุ้นเคย เป็นจุดเริ่มต้นทำให้พวกเขาหันมาสนใจกับเนื้อหาการเรียนออนไลน์มากขึ้น เพราะความยากของการสอนออนไลน์คือ ต้องดึงให้เด็กมีสมาธิอยู่ที่หน้าจอ
ตัวอย่างการสอนที่เด็กชอบก็คือบทบาทสมมติ เช่น เรียน ๆ อยู่ครูก็บอกว่าคอยแป๊บหนึ่งนะ แล้วออกไปจากหน้าจอ กระตุ้นให้เด็กรอ สักพักกลับมาแต่งตัวเป็นชาวนา และก็เล่นบทบาทสมมติเป็นชาวนา ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์เรื่องจำนวนนับ ให้เด็กนับเมล็ดข้าวที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีการไม่เหมือนกัน บางคนนับทีละเมล็ด บางคนนับทีละ 2 เมล็ด 5 เมล็ด ทำให้เขารู้จักการนับ หรือถ้าเป็น ป.3 เริ่มเรียนคำนวณ ครูก็จะเล่นบทบาทสมมติเป็นชาวสวน นำผลไม้มาสอนเรื่องบวกลบ เด็กจะรู้สึกสนุกไปด้วย
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ เด็กหลายคนเริ่มสื่อสาร แลกเปลี่ยนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้
2 การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองจะคอยเข้ามาสอบถามคุณครูทั้งเรื่องทำการบ้าน ส่งการบ้าน ไปจนถึงการตรวจการบ้าน เพราะผู้ปกครองต้องเข้ามาเป็นผู้ช่วยสอน หรือเป็นคนคอยถ่ายคลิปให้คุณครู
โดยจะมีการจัดชั่วโมง “โฮมรูม” ร่วมกันทั้งเด็กและผู้ปกครอง ผ่านทาง “ไลน์มีตติ้ง” ให้ได้พูดคุยกับคุณครูในแต่ละวันว่าจะต้องทำอะไร หรือมีอุปสรรคตรงไหน เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข เป็นการอุดช่องว่างระหว่างโรงเรียนกับที่บ้าน ทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
3 การ “เปิดชั้นเรียน”
เพื่อให้ทางผู้บริหารหรือโค้ชเข้าไปสังเกตการณ์การเรียน และนำมาสะท้อนผลเพื่อการพัฒนาในช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังเรียนออนไซต์ที่โรงเรียนได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบให้เกิดการเปิดชั้นเรียนแบบออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนออนไลน์ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เบื้องต้นจะกำหนดรูปแบบ ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปร่วมทดลองเรียนออนไลน์ในวิชาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่เนื้อหา รูปแบบ เทคนิคการสอน ไปจนถึงข้อจำกัด อุปสรรค และการมีส่วนร่วมของนักเรียนว่าเป็นอย่างไร
เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำมาพูดคุยร่วมกันกับคุณครูว่า สิ่งที่ทำได้ดีคืออะไร และยังมีสิ่งไหนที่ต้องปรับแก้ จุดไหนที่ควรเสริมเพิ่มเติม ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณครูอาจจะไม่ทันได้สังเกต ระหว่างที่ตัวเองกำลังสอน
4 บูรณาการแต่ละสาระวิชาเข้าไว้ในกิจกรรมต่าง ๆ
กลไกการทำงานจะใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC โดยครูแต่ละคนร่วมแลกเปลี่ยนออกแบบการเรียนการสอน ที่บูรณาการแต่ละสาระวิชา เข้าไว้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เด็กสนุกระหว่างการเรียนรู้
เชื่อมโยงวิชาต่าง ๆ ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ สังคม ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น การทำอาหารที่ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน จะมีการเชื่อมโยงไปถึงการปลูกผัก การเรียนเรื่องสารอาหาร ดังนั้นครูคนหนึ่งจะไม่ได้สอนเฉพาะวิชาตัวเองเท่านั้น แต่จะเชื่อมทุกวิชาที่เกี่ยวข้องมาไว้ในกิจกรรมเดียว
“มีการพัฒนาต่อยอดเรื่องการเรียนการสอนตลอดเวลา เริ่มจากวางแผนลงมือปฏิบัติ ถ้าเห็นว่ายังไม่ใช่ก็ต้องปรับใหม่ ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนในเครือข่าย ทำให้เห็นแนวทางปฏิบัติและนำมาปรับใช้กับที่โรงเรียนได้หลากหลายขึ้น โรงเรียนจะเปิดอิสระให้ครูได้คิดรูปแบบการสอน ตอนแรกอาจยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องมาช่วยกันดูว่าจะปรับอย่างไรให้สมบูรณ์ขึ้น เป็นการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งนักเรียน ครู และผู้บริหาร”
นอกจากเนื้อหาที่เชื่อมโยงแต่ละวิชาแล้ว สิ่งที่จะสอดแทรกเข้าไปในแต่ละกิจกรรม คือ เรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย โดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัยที่มีความสำคัญในช่วงที่เด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน
โรงเรียนเครือข่าย TSQP ต่อยอดการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โรงเรียนศิริพงศ์วิทยา เป็นอีกหนึ่งในหลายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อทำให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้และมีความสุขผ่านแต่ละกิจกรรม ในช่วงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายเวลานี้
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ เด็กๆ มีสมาธิอยู่กับกิจกรรมได้นานขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่นั่งดูหน้าจอเฉยๆ แต่กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแลกเปลี่ยนมากขึ้นกว่าเดิม