“ในสถานการณ์ที่บุคลากรด่านหน้าต้องทำงานแข่งกับเวลา อุปกรณ์หลายอย่างมีค่อนข้างจำกัด บางอย่างต้องใช้ซ้ำ เราเลยคิดกันว่าอยากพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ อยากช่วยเจ้าหน้าที่ให้ทำงานกันได้สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วขึ้น”
‘ปอ’ จิณัฐตา มีนิล พูดถึงความเป็นมาของนวัตกกรรมชนะเลิศอันดับ 1 ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะตัวแทนเพื่อนกลุ่มนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ชั้น ปวส.2 แผนกวิชาช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ซึ่งประกอบไปด้วย ศิรภัส ถวายนิล, ปารีณา พิณทอง, ธีร์ธวัช แจ่มใส, ณัฐวุฒิ เกตุพร, เสฏฐพงศ์ วงษ์ไชโย และรวิพร ฉ่ำสกุล
ตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นจากเครื่องมือกำจัดเชื้อโรคและกลิ่นในรองเท้า ที่ทางทีมน้อง ๆ นักศึกษาทุนสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปีก่อน
“ด้วยหลักการทำงานที่ไม่ต่างกัน เราตั้งใจพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เดิมที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ตรงกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น แต่กว่าจะทำได้ก็ต้องช่วยกันสังเกต หาข้อมูลจากการทำงานของแพทย์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ปรึกษาอาจารย์ และสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ได้มาตรฐาน ทั้งการใช้รังสีและความร้อนที่ถูกต้องในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์หรือชุด PPE ได้
‘ความสำเร็จที่แท้ของนวัตกรรมคือศักยภาพบนเวทีใช้งานจริง’
ปออธิบายว่า ทีมได้เริ่มพัฒนาตู้ฆ่าเชื้อตั้งแต่ยังเรียนกันในชั้น ปวส.1 ช่วงต้นปี 63 โดยเก็บข้อมูลอย่างละเอียด และส่งเข้าร่วมประกวดในรายการประกวดนวัตกรรมอาชีวศึกษาระดับจังหวัด ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รอที่จะไปแข่งขันระดับภาคและระดับชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม รางวัลกลับไม่ใช่เป้าหมาย เพราะหลังประกวดกลับมา น้อง ๆ ในทีมก็ยิ่งช่วยกันมองหาข้อบกพร่อง ตั้งใจจะพัฒนาให้เครื่องมือมีความสมบูรณ์พร้อมใช้หน้างานจริงที่สุด
“จากงานประกวด มีผู้ใหญ่ที่มองเห็นประโยชน์ สนับสนุนให้พวกเราพัฒนาต่อ ก็คิดกันว่าจะทำยังไงให้เครื่องมือลงตัวมากกว่านี้ เป็นช่วงเดียวกับที่ทีมงานขึ้น ปวส.2 มีการแยกย้ายกันไปฝึกงาน ทั้งโรงไฟฟ้า บริษัทต่างชาติ และโรงงานเครื่องมือแพทย์ ต่างคนจึงกลับมาเจอกันพร้อมประสบการณ์เข้มข้น และนำมาช่วยกันปรับปรุงเครื่องมือจนสมบูรณ์ขึ้น
“จากตู้ที่หนักมาก เราก็ทำให้น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวกขึ้น จากช่องสำหรับอบฆ่าเชื้อฝั่งเดียว เราก็เพิ่มพื้นที่ให้ทำงานพร้อมกันได้สองฝั่ง เพื่อประหยัดเวลา แล้วพัฒนาเรื่องการตั้งเวลาจากตัวจับเวลาในโรงไฟฟ้า”
‘ทุนที่ช่วยให้ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพภายใน’
ตัวแทนกลุ่มเพื่อนนักศึกษาทุน เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ กล่าวถึงความสำคัญของการเป็น ‘นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ว่า ตนเองและเพื่อน ๆ ก็เหมือนกับนักศึกษาทุนอีกหลายคน ที่ก่อนได้รับทุนต้องผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากในการมองหาลู่ทางเรียนต่อ เพราะแม้ว่าต่างคนต่างมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง แต่ด้วยความไม่พร้อมของครอบครัว บางคนก็เกือบจะต้องหยุดอนาคตทางการศึกษาไปแล้ว จนเมื่อพบว่ามีทุนที่ช่วยเรื่องค่าเล่าเรียนรวมถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ กระทั่งจบการศึกษา ทั้งยังเป็นสาขาวิชาที่นำมาประกอบอาชีพได้ตรงตามความสนใจ ชีวิตหลังจากนั้นจึงเปลี่ยนไป
“ทุนทำให้พวกเราได้เรียนต่อโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่แต่ละคนสามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ สิ่งประดิษฐ์ที่พวกเราร่วมกันพัฒนาขึ้นถือว่าเป็นความภูมิใจเริ่มต้น โดยแต่ละคนได้เอาความรู้จากการเรียน การฝึกปฏิบัติในวิทยาลัย ไปจนถึงโอกาสเรียนรู้ฝึกฝนตัวเองในสถานประกอบการจริงมาใช้ให้เกิดประโยชน์
“การได้ฝึกงาน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับพี่ ๆ พนักงานหลายฝ่ายหลายหน้าที่ ซึ่งเขามีประสบการณ์ทำงานจริง สามารถแนะนำถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องวัสดุ เทคนิค ขั้นตอน ความทนทานของเครื่อง และช่วยจำลองภาพการใช้งานในสถานการณ์จริง ทั้งหมดนั้นคือส่วนผสมให้พวกเรานำมาปรับปรุงเครื่องจนเป็นเวอร์ชันสมบูรณ์ และได้นำมาทดลองใช้กับการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ในวิทยาลัย เพื่อทดสอบประสิทธิภาพอีกครั้ง ก่อนที่หลังจากนี้พวกเราจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป”