สร้างบทเรียนชีวิต เสริมทักษะอาชีพ ‘เยาวชนนักขาย (ช้าง) แห่งกรุงเก่า’

สร้างบทเรียนชีวิต เสริมทักษะอาชีพ ‘เยาวชนนักขาย (ช้าง) แห่งกรุงเก่า’

ครั้งหนึ่งที่บริเวณหน้าวิหารมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เคยมีนักท่องเที่ยวร้องเรียนว่ามีกลุ่มเด็กเร่ขายของคอยก่อกวน คุกคาม ทะเลาะวิวาท แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่าง ๆ นานา ทำให้หลายคนหวาดกลัวการเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ 

วันนี้เด็กๆ กลุ่มนั้นยังคงอยู่แต่ภาพจำได้เปลี่ยนไป กลายเป็นเยาวชนคนสำคัญที่มีระบบระเบียบในการทำงาน ปฏิบัติต่อกันด้วยอารี สุภาพอ่อนน้อมต่อนักท่องเที่ยว จนได้รับความเอ็นดู สร้างรอยยิ้มให้ผู้คนที่ผ่านไปมา

นี่คือผลจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่: ภาคกลาง 9 จังหวัด โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับกิจกรรมดูแลน้อง ๆ ด้วยการเสริมทักษะชีวิต สร้างแนวทางและเทคนิคการขายที่มีระบบ และที่สำคัญคือ มุ่งสร้างเป้าหมายชีวิต สะท้อนให้มองเห็นคุณค่าในตนเอง

เหล่า ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ของครอบครัว

“ทีแรกเราคิดว่าพวกเขาถูกใช้แรงงานเด็ก แต่พอเข้ามาพูดคุยด้วยจริง ๆ ถึงรู้ว่าเขาตั้งใจทำมาหากินเพื่อปากท้องครอบครัว เป็นช่องทางเดียวที่เขาทำได้เพื่อมีชีวิตอยู่ 

“บางคนครอบครัวอยู่กันเป็นสิบ มีทั้งน้องตัวเล็ก ๆ และคนแก่ติดเตียง โดยมีเขาเป็นเสาหลักที่ออกมาทำงานลำพัง ด้วยการขายช้างเรซิน ขายดอกไม้บ้าง แล้วเอาเงินกลับไปเลี้ยงดูทุกชีวิตในบ้าน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร สำหรับเราพวกเขาคือซูเปอร์ฮีโร่ ที่ทำทุกอย่างเพื่อพยุงครอบครัวเอาไว้”

สันติ โฉมยงค์ ครูนอกระบบการศึกษา ผู้ขับเคลื่อนโครงการ เล่าถึงช่วงเวลาแรกที่ได้สัมผัสกับเยาวชนกลุ่มนี้ ก่อนเล่าต่อว่าเมื่อเข้าใจบริบทต่าง ๆ ในชีวิตของเด็ก จึงรู้ว่าการ ‘ขับไสไล่ส่ง’ หรือ ‘จับ’ พวกเขา ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ควรทำ หรือเป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับ

สันติ โฉมยงค์ ครูนอกระบบการศึกษา ผู้ขับเคลื่อนโครงการ ฯ

“พอรับรู้ปัญหาเราก็พบสาเหตุ มันมีองค์ประกอบหลายอย่างให้เขา ‘ทำ’ หรือ ‘เป็น’ อย่างนั้น อย่างแรกก่อนมีโควิด-19 เด็กขายช้างเรซินได้เฉลี่ย 12-13 ตัว พอเจอโรคระบาดก็ลดฮวบเหลือ 1-2 ตัวเท่านั้น ทีนี้รายได้หายก็ยิ่งอยากขาย พออยากขายมาก ๆ ก็กลายเป็นไปตื๊อนักท่องเที่ยวจนก่อความรำคาญ หรือบางทีเด็กแย่งลูกค้ากัน ขายของทับที่กัน เขาก็มีปากเสียง ทะเลาะวิวาท”

เนื้อแท้คือจิตใจที่บริสุทธิ์สวยงามซึ่งพร้อมรับการเติมเต็ม

“เด็กพวกนี้เขามีหัวใจที่แข็งแกร่งมากนะ หลายคนโตขึ้นมาโดยไม่มีพ่อแม่ผู้ใหญ่ดูแลเลย ไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องต่อสู้ดิ้นรนบนท้องถนน เป้าหมายคือแค่พาตนเองและคนในความดูแลของเขาให้รอดผ่านวันหนึ่ง ๆ ไปได้ บางคนเร่ขายของมาตั้งแต่อายุแค่ 5 ขวบ ฉะนั้นเขาไม่รู้หรอกว่าระบบระเบียบคืออะไร ไม่เคยมีใครคอยสอน คอยบอก ชี้ถูกชี้ผิดให้เขารู้ ทุกอย่างแสดงออกมาผ่านสัญชาตญาณทั้งนั้น

“เท่าที่ได้คลุกคลีใกล้ชิด เขาทำให้เราเห็นว่าภายใต้ความดิบแข็งกร้าวนั้นซ่อนด้านอ่อนโยนไว้ พร้อมรับฟัง เปลี่ยนแปลง เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพได้ หลักฐานที่ยืนยันว่าเนื้อแท้ของเยาวชนกลุ่มนี้บริสุทธิ์และสวยงามคือ เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้น บางคนแทบไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลย”

สร้างทักษะชีวิต เสริมเทคนิคการขาย วางระบบที่เอื้อสำหรับนักขายทุกคน

เมื่อเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ทางโครงการจึงเริ่มจากการปรับพื้นฐานพฤติกรรม ส่งเสริมทักษะชีวิต สร้างทัศนคติให้รู้จักค้นหาตัวตน เป้าหมาย และมองเห็นคุณค่าในตนเอง รวมถึงพัฒนาระบบการขาย การจัดคิวทำงาน พร้อมนำกลุ่มนักศึกษาอาสาสมัครเข้าไปทำกิจกรรมเล่นดนตรีกล่อมเกลาจิตใจ

“ไม่นานเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมพูดกันเสียงดังเริ่มหายไป ไม่มีการใช้ความรุนแรงอีก เด็กๆ เข้าใจวิธีการสื่อสารมากขึ้น ทั้งการใช้คำพูด ภาษากายต่าง ๆ มีความมั่นใจในตัวเอง เหล่านี้ช่วยให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตร ผลที่ตามมาคือเขาขายของได้เพิ่มขึ้น

“การรวมกลุ่มเด็กมาทำกิจกรรมด้วยกัน ยังมีผลพลอยได้คือทำให้เขาสนิทสนม เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น บางคนเห็นเพื่อนหรือน้องขายได้น้อยกว่า เขาก็ยอมยกคิวของตัวเองหรือต่อเวลาเพิ่มให้คนอื่น”

เยาวชนของ ‘พื้นที่’

ความใกล้ชิดผูกพันจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่เพียงทำให้เด็ก ๆ ปรับตัวกับอาชีพได้ดีขึ้น หากยังช่วยหลอมรวมพวกเขาไว้กับ ‘พื้นที่’ โบราณสถานอันเป็นแหล่งทำมาหากิน ในฐานะส่วนหนึ่งของการดูแลสิ่งแวดล้อมบริเวณวิหารมงคลบพิตร 

ทุกวันพวกเด็ก ๆ จะช่วยกันเก็บขยะ ดูแลความเรียบร้อยทั้งช่วงก่อนและหลังทำงาน แบ่งปันพื้นที่ทำกินกับพ่อค้าแม่ค้าอื่นๆ 

“กิจกรรมที่เราเข้ามาทำร่วมกับเด็ก ๆ แม้จะมีระยะเวลาแค่สั้นๆ แต่ทำให้เราเห็นเลยว่าเด็กเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่เขาเข้าใจกันเองดีขึ้น แต่กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยว ก็กลายเป็นว่าเริ่มใกล้ชิดและเอ็นดูพวกเขา บางคนเข้ามาเล่นด้วย สอนอะไรต่าง ๆ เอาสิ่งของ เอาอาหารมาให้ นับเป็นความสำเร็จเบื้องต้น  หลังจากนี้โครงการจะมองไปถึงขั้นตอนการช่วยเหลืออื่นต่อไป เช่น ถ้าใครที่ประสงค์จะเรียนทั้งในหรือนอกระบบ เราก็พร้อมสนับสนุน”

เรียนรู้เพื่อต่อยอด

สายชล รัศติลัก เยาวชนนอกระบบการศึกษา วัย 14 ปี ตัวแทนเพื่อนนักขายช้างเรซิน กล่าวว่า เขาอยู่ตรงนี้มา 9 ปี ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ยึดอาชีพขายช้างเพื่อหาเลี้ยงน้อง ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ จ่ายค่าอาหาร ค่านม ผ้าอ้อมน้อง ตั้งแต่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรรม รู้สึกดีใจที่ได้เล่น ได้เพื่อนใหม่ รู้จักวิธีแสดงออกมากขึ้น 

“ผมชอบที่มีครูเข้ามาช่วยสอนทักษะการขายใหม่ๆ พัฒนาพวกเราในหลายเรื่อง พอมีการจัดคิว เดี๋ยวนี้พวกเราก็ไม่ต้องทะเลาะแย่งลูกค้ากัน มีแต่จะช่วยกันให้ทุกคนมีรายได้ อยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ 

“การขายของเป็นอาชีพที่สุจริต  ได้ช่วยเหลือครอบครัว ผมคิดว่าพอเราได้ฝึกทักษะการขาย เรียนทักษะชีวิต มันทำให้เข้าใจเรื่องระบบการทำธุรกิจ ตอนนี้ผมมีความฝันว่าอยากให้สิ่งเล็ก ๆ ที่ทำอยู่เติบโตขึ้น พัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อไปถึงความสำเร็จที่ไกลยิ่งกว่านี้ครับ”