บรรดาบริษัทเอกชนข้ามชาติขนาดใหญ่ชั้นนำของโลกหันไปใช้นโยบายสนับสนุนและให้ทุนการศึกษาแก่บรรดาลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท ซึ่งครอบคลุมถึงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะเดิม หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดจนการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สวัสดิการและผลตอบแทนที่บริษัทเสนอให้แก่บรรดาว่าที่พนักงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดใจเหล่าแรงงานคุณภาพให้มาทำงานกับบริษัท รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแรงงานคุณภาพในยุควิกฤตโควิด-19 นี้
แนวคิดสนับสนุนทางการศึกษาด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนของบรรดาบริษัทเอกชนมีขึ้น หลังจากที่ในช่วงวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งกินเวลามากกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้หนุ่มสาววัยแรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องระงับหรือล้มเลิกแผนการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือวิทยาลัยของตนเอง ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษาหลายสำนักออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า หนุ่มสาวแรงงานรุ่นนี้จะสูญเสียโอกาสในการหารายได้ ตลอดจนความก้าวหน้าต่างๆ ในอนาคต
งานนี้ บรรดาเอกชนชั้นนำ โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา จึงเพิ่ม “ทุนการศึกษา” เป็นหนึ่งในสวัสดิการสำคัญในการดึงดูดให้หนุ่มสาววัยแรงงานให้มาสมัครงานกับบริษัทของตนเอง ท่ามกลางตลาดงานที่มีตำแหน่งงานมากกว่าจำนวนแรงงาน ทำให้ต้องมีการแข่งขันแย่งชิงแรงงานที่มีทักษะความสามารถกันอย่างดุเดือด
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในมุมมองของพนักงาน การจูงใจด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษา อาจเป็นแรงจูงใจที่มีคุณค่ามากที่สุดในห้วงเวลานี้
สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ห้างสรรพสินค้า Target และ Walmart เพิ่งประกาศโครงการเงินชดเชยค่าเล่าเรียนเพื่อช่วยให้ลูกจ้างและพนักงานมีทุนกลับไปเรียนหนังสือที่สถานศึกษาอีกครั้ง ขณะที่ Amazon ประกาศให้เงินชดเชยสูงสุดถึง 95% ของค่าเทอมและค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของพนักงานแต่ละคน
นอกจากนี้ยังมี Home Depot, UPS, FedEx, Chipotle และ Starbucks ที่ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนในระดับวิทยาลัยและอุดมศึกษาแก่พนักงานในสังกัดของตนเอง โดยเอกชนบางราย อย่าง Waste Management กล่าวว่า ทางบริษัทไม่เพียงแต่จะจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับปริญญาหรือคอร์สฝึกอบรมทักษะวิชาชีพเฉพาะทางแก่พนักงานเท่านั้น แต่ยังจะให้ทุนการศึกษาครอบคลุมในส่วนของคู่สมรสและบุตรธิดาของพนักงานด้วย
รายงานระบุว่า ในตลาดแรงงานทุกวันนี้ การให้ความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนถือเป็นหนึ่งสวัสดิการผลตอบแทนที่บรรดาบริษัทให้เป็นรางวัลแก่พนักงานเพื่อหวังดึงดูดพนักงานหน้าใหม่ หรือรักษาพนักงานเก่าของบริษัทไว้
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างปรบมือสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นสวัสดิการที่มีคุณค่าและมูลค่ามากที่สุดที่พนักงานคนหนึ่งควรได้รับ เพราะการที่ช่วยให้เรียนหนังสือในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไปได้ฟรีหรือได้ในราคาพิเศษ ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาการลาออกของพนักงานเท่านั้น แต่ยังช่วยตัดลดปัญหาหนี้ทางการศึกษาของนักเรียน ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้ งานศึกษาวิจัยแสดงเห็นว่า ระดับของการศึกษามีผลต่อความแตกต่างทางรายได้ที่หาได้ตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง
รายงานของหน่วยงานด้านประกันสังคม (Social Security Administration) พบว่า ผู้ชายที่เรียนจบปริญญาตรีมีรายได้มากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายประมาณ 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดเส้นทางอาชีพ ขณะที่ผู้หญิงที่จบปริญญาตรีมีรายได้มากกว่า 630,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นหากแรงงานคนนั้นสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิต หรือ ปริญญาโทขึ้นไป
แน่นอนว่า การที่นายจ้างให้ความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาแก่พนักงานไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา มีหลายธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัย หรือด้านบริหารธุรกิจ (MBA) เพียงแต่ว่าพนักงานที่เคยได้สิทธินี้แทบทั้งหมดจะเป็นพนักงานระดับการจัดการและระดับบริหารมากกว่า
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว เห็นได้จากการที่บรรดาบริษัทเอกชนหลายแห่งขยายสวัสดิการทางการศึกษาให้แก่พนักงานด่านหน้า หรือ พนักงานในระดับปฏิบัติการ เช่น พนักงานขับรถ แคชเชียร์ และพนักงานรายชั่วโมง ควบคู่ไปกับการให้ผลตอบแทนด้านอื่นๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ลิเดีย ไจเลค (Lydia Jilek) ผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัทด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กร Willis Towers Watson กล่าวว่า ทุนช่วยเหลือทางการศึกษามักถูกมองข้ามและนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย ทั้งๆ ที่สำหรับนายจ้าง ข้อดีของการให้ทุนการศึกษาในฐานะสวัสดิการของพนักงานเป็นส่วนเสริมที่คุ้มค่าสำหรับข้อเสนอหลัก และเป็นการเพิ่มความภักดีของพนักงาน
“หากว่าใครสักคนสามารถเรียนจบปริญญาตรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ คนคนนั้น ย่อมรู้สึกซาบซึ้งและเพิ่มความไว้วางใจ รวมถึงความภักดีต่อนายจ้างให้มากขึ้น” ไจเลคกล่าว
ด้านแจ็ก ฮาร์ทัง (Jack Hartung) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของบริษัท Chipotle ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า พนักงานที่ใช้ประโยชน์จากทุนการศึกษาแบบให้เปล่าของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอยู่กับบริษัทมากกว่า 3.5 เท่า และมีแนวโน้มที่จะเลื่อนขึ้นเป็นผู้บริหารถึง 7 เท่า
ทั้งนี้ งานวิจัยขององค์กร Bright Horizons เปิดเผยให้เห็นความเป็นจริงว่า แม้พนักงานจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกลับไปเรียนต่อ แต่กลับมีพนักงานน้อยกว่าครึ่งที่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาทั้งตั้งใจไว้ได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านเวลาและอุปสรรคทางการเงิน โดยกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสและกลุ่มผิวสีคือกลุ่มแรงงานที่เผชิญปัญหาติดขัดดังกล่าวมากที่สุด
โดยผลการศึกษาพบว่า 44% ของพนักงานผิวสีประสบปัญหาในการศึกษา เมื่อเทียบกับ 29% ของพนักงานผิวขาว ขณะที่เพศก็เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความแตกต่าง เนื่องจากผู้หญิงวัยทำงานประมาณ 36% ประสบอุปสรรคทางการเงินในการศึกษา เมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 22%
“แรงงานจำนวนมากยังคงเผชิญข้อจำกัดที่ผู้ใหญ่วัยทำงานทุกคนเจอ นั่นคือ เวลา ความมุ่งมั่นทางการเงิน และความมั่นใจที่จะกลับไปที่ห้องเรียน” จิลล์ บูบาน (Jill Buban) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสถานที่ทำงานและผู้จัดการทั่วไปของ EdAssist แผนกหนึ่งของ Bright Horizon ซึ่งมุ่งศึกษาวิจัยด้านการศึกษาของแรงงานกล่าว
ที่ผ่านมา EdAssist ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำมากมาย อาทิเช่น Accenture, Bank of America และ T-Mobile ในการจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (upskilling programs) โดยบูบานกล่าวว่า ผลประโยชน์ตอบแทนทางการศึกษาของบริษัทจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นพิเศษที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกสถานะหรือความก้าวหน้าของบริษัทในอนาคตได้อย่างแท้จริง
ยิ่งไปกว่านั้น “ด้วยโอกาสที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเรียนทางไกล ผู้คนสามารถลงทะเบียนในโปรแกรมออนไลน์ แบบที่ไม่เคยสามารถทำได้ในอดีต” ไจเลคกล่าว
ด้านอเล็กซ์ ฮอลล์ (Alex Hall) ผู้อำนวยการอาวุโสของสถาบัน Liberty Mutual ในบอสตัน ซึ่งเพิ่งจะสำเร็จการศึกษาภาคค่ำในหลักสูตร MBA ออนไลน์ จากมหาวิทยาลัย Northeastern โดยที่นายจ้างของฮอลล์คืนเงินค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาดังกล่าวให้ 100% เต็ม ซึ่งฮอลล์ในวัย 33 ปียอมรับว่า ลำพังตนเองคงไม่สามารถเรียนจนจบปริญญาตรีได้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท เพราะสู้เรื่องค่าเทอมไม่ไหว
ขณะเดียวกัน ฮอลล์ก็หวังว่าใบปริญญาจะช่วยให้ตนเองบรรลุเป้าหมายทางอาชีพ และช่วยให้เขาได้รับการโปรโมตขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง แต่อย่างน้อยตอนนี้ใบปริญญาก็ทำให้เขามั่นใจว่าตนจะสามารถก้าวหน้าได้อีก
ที่มา : Many companies are offering generous tuition assistance so workers can go back to college