กสศ. ผนึกกำลังโรงเรียนทั่วประเทศ เรียนรู้การวิเคราะห์รายงานผลการประเมิน PISA for Schools ยกระดับการศึกษาไทย

กสศ. ผนึกกำลังโรงเรียนทั่วประเทศ เรียนรู้การวิเคราะห์รายงานผลการประเมิน PISA for Schools ยกระดับการศึกษาไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ศูนย์ PISA สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดงานเสวนาเพื่อให้ 66 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ PISA For Schools ได้เรียนรู้วิธีการอ่านผลการประเมิน PISA for Schools จากรายงานระดับสถานศึกษา (School Report) พร้อมรับฟังคำแนะนำจากนักวิชาการด้านการศึกษาระดับนานาชาติเพื่อนำข้อมูลจากรายงานผล PISA for Schools ต่อยอดสู่การพัฒนาการเรียนการสอน

หลังจากแต่ละโรงเรียนเข้าร่วมการทดสอบ PISA-based Test for Schools (PBTS) แล้ว ทุกโรงเรียนจะได้รับรายงานระดับสถานศึกษา (School Report) ซึ่งสรุปข้อมูลสมรรถนะ เสียงสะท้อน และระดับทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน ให้ผู้ใช้งานในระดับโรงเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปประกอบการวางแผนการพัฒนาโรงเรียนของตัวเองได้ โดยผลการทดสอบในโครงการ PISA for Schools สามารถเทียบเคียงการสอบ PISA ซึ่งดำเนินจัดขึ้นทั่วโลกในทุก 3 ปี ได้ แต่ด้วยข้อมูลในรายงานนี้มีความซับซ้อนและยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเสวนาเพื่อสนับสนุนโรงเรียน โดยทาง OECD ได้แบ่งการทำความเข้าใจรายงานผลการประเมินเป็น 3 ส่วน ดังนี้   ของนักเรียน มุมมองที่มีต่อแรงบันดาลใจ การจัดการเรียนการสอนและบรรยากาศในโรงเรียน ตลอดจนถึงระดับทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน  

1 ทำความเข้าใจรายงาน PISA for Schools เบื้องต้น

การทดสอบ PISA-based Test for Schools (PBTS) ออกแบบมาให้โรงเรียนใช้วัดผลและสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยโรงเรียนจะสามารถข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับนักเรียนนี้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการโรงเรียนในภาพรวมได้ 

โดย PBTS ได้ออกแบบการทดสอบและแบบสอบถามมาเพื่อให้สามารถเข้าถึงถึงข้อมูลเชิงลึกของนักเรียน เช่นเดียวกับการทดสอบ PISA ผู้เรียนกลุ่มตัวอย่างจะต้องตอบแบบทดสอบซึ่งวัดสมรรถนะความฉลาดรู้ (literacy) ของนักเรียนใน 3 ด้านคือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และแบบสอบถามซึ่งรวบรวมข้อมูลทางเศรษฐฐานะ แรงบันดาลใจ มุมมองต่อบรรยากาศการจัดการเรียนการสอน และความสัมพันธ์ต่อครูและเพื่อน ๆ ของผู้เรียน นอกจากนี้ PISA for Schools ยังได้เพิ่มเติมแบบสอบถามเพื่อประเมินระดับทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Skills) ของผู้เรียน และข้อคำถามเกี่ยวกับการรับมือการเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ของผู้เรียน

ดร.โจแอนน์ แคดดี้ (Dr. Joanne Caddy)
นักวิเคราะห์อาวุโส และ หัวหน้าทีมประจำ OECD

โดยการรายงานผลการประเมินนักเรียน ทั้ง 3 ด้านได้แก่ ทักษะทางปัญญา เสียงสะท้อนของนักเรียน และทักษะทางอารมณ์และสังคม OECD จะนำผลการทดสอบ PBTS ที่จัดขึ้นเมื่อต้นปี 2021 กลับไปเปรียบเทียบกับผลการทดสอบของโรงเรียนในประเทศไทยและคะแนนของประเทศในกลุ่ม OECD ที่เข้าร่วมการทดสอบ PISA 2018 เพื่อให้โรงเรียนเห็นภาพเชิงเปรียบเทียบและหาจุดที่จะพัฒนาต่อไปได้ โดยทาง OECD ได้ย้ำว่าการสอบไม่มีคะแนนเต็ม มีแต่คนได้คะแนนมากกับน้อย เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานเพื่อให้เห็นศักยภาพของผู้เรียนเท่านั้น

การติวเพิ่มเติมโดยหวังให้เกิดการแข่งขันในหมู่ผู้เรียน และหวังให้ผู้เรียนสอบให้ได้คะแนนสูง จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะเป็นการสอบเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียน นักเรียนไม่จำเป็นต้องกดดันเพื่อให้ได้ผลสอบที่ดี เพราะจะไม่สะท้อนผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่ง ดร.ไกรยส ภัทราวาท ได้เสริมในส่วนนี้ว่า นอกจากจะต้องทำความเข้าใจกลุ่มเด็กที่ได้คะแนนมากแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับเด็กที่ได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อที่จะได้รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังประสบปัญหาอะไรในการเรียนรู้ และคุณครูสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

2 กรณีศึกษาจากต่างประเทศ

การเข้าร่วมการทดสอบในโครงการ PISA for Schools ไม่ได้เน้นไปที่การวัดผลเพื่อจัดลำดับนักเรียน แต่เน้นไปที่การสร้างข้อมูลคุณภาพสูง เพื่อให้กลุ่มชุมชนนักการศึกษาทั้งในระดับผู้กำหนดนโยบายจนไปถึงครูผู้สอนผู้เป็นหัวใจแห่งการขับเคลื่อยความเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียนจากทั่วโลก เพื่อแบ่งปันกรณีศึกษาทั้งในมุมของปัญหาและแนวทางการแก้ไข ซึ่ง กสศ. และ OECD เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาตินี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีทักษะและสมรรถนะสำคัญในศตวรรษที่ 21

โดย OECD ได้เชิญชวนให้คณะครูและนักการศึกษาจากไทยเข้าไปแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์ม PISA for Schools Community ซึ่งได้ติดตั้งให้มีระบบหลายภาษาเพื่อเชื่อมต่อนักการศึกษาจากทั่วโลกให้มีเครื่องมือที่ออกแบบอย่างดีเพื่อสนับสนุนการประเมิน วัดผล และช่วยวางแผนการจัดการเรียนรู้การสอนให้เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของนักเรียนในแต่ละส่วนของประเทศ

ทีอาโก เดอ มิรันดา เฟรโกโซ (Tiago de Miranda Fragoso)
นักวิเคราะห์ด้านการศึกษา

ทาง OECD ยังได้นำเสนอตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนในสหรัฐฯ และบราซิลที่เข้าร่วมโครงการ PISA for School เพื่อแสดงให้คณะครูจากโรงเรียนไทยที่เข้าร่วมการสัมมนาให้เห็นถึงตัวอย่างการนำเอาผลการทดสอบไปปรับใช้


ตัวอย่างจากโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา

คุณ John Campbell อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งในเมืองแอตแลนต้า จอร์เจีย แบ่งปันประสบการณ์ ว่าได้เรียนรู้จาก PISA for Schools ว่ากลุ่มโรงเรียนของในเขต Gwinnett County ยังขาดความเข้มข้น (Rigor) ความเชื่อมโยง (Relevance) และความสัมพันธ์ (Relationship) ซึ่งเขาได้ชวนเพื่อนครูและผู้บริหารในเขตพื้นท่ีมาถอดบทเรียนพร้อมกับวิธีการแก้ไขปัญหา

ความเข้มข้น –  ผลการทดสอบ PBTS แสดงให้เห็นว่าเมื่อนักเรียนตอบคำถามได้ คุณครูก็ไม่ได้มีความเคร่งครัดท่ีจะผลักดันนักเรียนให้อธิบายเหตุผลในการเลือกตอบคำถาม ดังนั้นจึงนับว่าโรงเรียนยังขาดทั้งความเคร่งครัดและความเข้มข้น จึงได้รับผลสะท้อนออกมาว่านักเรียนยังขาดการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และการสื่อสาร ซึ่งทางโรงเรียนได้นำตัวอย่างบททดสอบที่มุ่งวัดสมรรถนะและทักษะการคิดขั้นสูงของ PISA มาปรับใช้เพื่อพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้มากขึ้น

เซี่ย จื้อ เซิน (Tse Chi Sum) นักวิเคราะห์ด้านการศึกษา

ความเชื่อมโยง – นอกจากนี้ PISA for Schools ยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนจำนวนมากไม่เห็นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอนในห้องเรียนกับปัญหาที่พวกเขาเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่โรงเรียนและคุณครูจะนำเอากรณีศึกษาที่เห็นได้ชัดหรือมีผลกระทบกับตัวนักเรียน หรือเหตุการณ์สำคัญที่ถูกพูดถึง เข้ามาประกอบในหลักสูตรให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่ได้จากในห้องเรียน และการนำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์จริงและฝึกทักษะการเชื่อมโยง รวมไปถึงการคิดอย่างมีระบบ

ความสัมพันธ์ – สำหรับสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ นักเรียนจำนวนมากไม่รู้สึกว่าครูผู้สอนใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับพวกเขานอกเหนือไปจากการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าเมื่ออยู่นอกห้องเรียน พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงคุณครูเพื่อขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติมที่นอกเหนือไปจากเรื่องการเรียนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนตระหนักดีว่าเมื่อผู้เรียนในช่วงวัยรุ่นได้รับความสนใจ พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น


ตัวอย่างจากโรงเรียนบราซิล

คุณ Francisco “Freire” De Sales ผู้อำนวยการโรงเรียนในเขต Sobral ประเทศบราซิล แบ่งปันว่า พวกเขาพบกับปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของเด็กนักเรียนที่มาจากภูมิหลังหลากหลาย และได้แก้ไขด้วยการจับกลุ่มให้นักเรียนที่มีความสามารถใกล้เคียงกันได้เรียนด้วยกัน รวมไปถึงพัฒนาการสื่อสารและทำให้เด็กๆ เรียนรู้ร่วมกันได้มากขึ้น และยังได้มีการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดที่โรงเรียนพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐาน 

ดร.ณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โดยใช้หลักสูตรนอกห้องเรียน การเรียนพิเศษ รวมไปถึงเนื้อหาการสอนจากการแบ่งปันในชุมชนการศึกษา PISA for Schools Community ซึ่งได้รับความช่วยเหลืออย่างดี  นอกจากนี้ทางโรงเรียนได้พัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ที่นักเรียนสามารถนำกลับไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง นอกเหนือจากเนื้อหาด้านวิชาการ เพื่อให้นักเรียนด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาได้ทุกเวลาตามที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ราคาแพง


3 ระดมความคิดและการนำไปปรับใช้

ผู้เชี่ยวชาญจาก OECD และภาคีเครือข่ายช่วยสนับสนุนได้ร่วมกันเน้นใจความสำคัญที่ต้องกระตุ้นให้นักเรียนคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ร่วมมือกับนักเรียนคนอื่นหรือครูเพื่อวิเคราะห์ ประเมินผล และสื่อสารแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้ให้กับทั้งเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน คุณครู และสังคมรอบ ๆ ตัว

OECD ได้สรุปไว้ว่า บทบาทของครูได้เปลี่ยนจากผู้ให้ความรู้กลายเป็นโค้ชที่คอยให้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงความรู้ และให้อิสระกับนักเรียนในการค้นหาว่าพวกเขาอยากเรียนรู้เรื่องอะไร

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED)

ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้คุณครูวางแผนการสอนได้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น ผลการวิจัยที่ว่าการเรียนรู้เป็นกลุ่มช่วยให้เรียนได้ดีขึ้น หรือการเรียนรู้ต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากให้นักเรียนทุกคนเข้าใจอะไรเมื่อการเรียนรู้จบลง และการร่วมมือกันระหว่างครูผู้สอนด้วยกัน เพื่อแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการสอน หรือแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาการเรียนรู้จากคุณครูคนอื่นๆ ทั่วประเทศ และขอร้องให้บุคลากรทางการศึกษาของไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการแบ่งปันเรื่องราวของทุกคนเพื่อระดมสมองร่วมกัน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

อย่างไรก็ตาม ดร.ไกรยส ยังเน้นย้ำว่า การทดสอบ การประเมินผล การเก็บข้อมูล และการทำความเข้าใจรายงานนั้นจะเป็นประโยชน์ในระดับมหภาคเท่านั้น เพราะในระดับจุลภาคยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ หรือบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงหน่วยงานตัวแทนของรัฐเพื่อร่วมกันพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาให้มีความเสมอภาค และเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมต่อต่อไป