‘เติมโอกาสที่ขาดหายในช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’แนวทางพัฒนาระบบดูแลนักศึกษาทุนบนพื้นที่สูง

‘เติมโอกาสที่ขาดหายในช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’แนวทางพัฒนาระบบดูแลนักศึกษาทุนบนพื้นที่สูง

“ถ้าเราเอาเด็กในเมืองที่เกรดเฉลี่ยสองกว่า กับเด็กชายขอบเกรดสามจุดห้ามาสอบแข่งขันกันเข้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง เชื่อไหมว่าเด็กจากในเมืองจะได้เปรียบกว่าเยอะ เพราะเวทีตรงนั้นไม่ได้วัดกันที่ผลการเรียนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความพร้อมรอบด้าน การสนับสนุนจากผู้ปกครอง โอกาสเข้าถึงสื่อ หรือที่สำคัญเลยคือ ‘หลักสูตร’ ซึ่งมาตรฐานไม่ได้เหมือนกันทุกที่

“เรื่องนี้ทำให้เราตั้งใจสร้างระบบดูแลพัฒนานักศึกษา ให้มีเวลาเติมส่วนที่ขาดจนค่อยๆ เต็ม แล้วถึงจุดหนึ่งเขาจะมีศักยภาพพอสำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงาน ที่ไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่น แต่สามารถไปทำงานอยู่ตรงไหนก็ได้ในประเทศ หรือไปได้ไกลถึงระดับนานาชาติ”  

ผศ.ดร.สุวิชช์ ธนะศานวรคุณ อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการฯ
(ภาพ : https://sat.rmutl.ac.th)

ผศ.ดร.สุวิชช์ ธนะศานวรคุณ อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ดูแลนักศึกษาทุนครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน และตาก เล่าถึงแนวทางดูแลนักศึกษาทุนบนพื้นที่สูง

โดยมหาวิทยาลัยมุ่งเสาะหา ‘ช้างเผือก’ จากท้องถิ่นห่างไกล เพื่อมอบโอกาสในการขัดเกลาตนเองตามกระบวนการพัฒนา ทั้งจากทางมหาวิทยาลัยและทีมหนุนเสริมนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“สร้างวัฒนธรรมดูแลจากพี่ถึงน้อง จากเพื่อนถึงเพื่อน”

มทร.ล้านนา รับนักศึกษาทุนหลักสูตร ปวช. 5 ปี และ ปวส. 2 ปี ในหลายสาขา อาทิ แมคคาทรอนิกส์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยจากแนวทางการเฟ้นหาน้องๆ กลุ่มด้อยโอกาสบนพื้นที่ห่างไกล ผ่านสามปีที่ดูแลนักศึกษามาแล้วถึง 3 รุ่น จึงสามารถฉายภาพของความเปลี่ยนแปลงได้ชัด 

ตั้งแต่คณาจารย์ในสถาบันที่ช่วยกันระดมความคิด หาวิธีการช่วยเด็กในการปรับตัว ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต รวมถึงความรู้รอบตัวต่างๆ 

“เรารู้ว่าปัญหาใหญ่ของเด็กคือการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ตอนเข้ามาใหม่ๆ เขาจะไปได้ช้ามาก ต้นตอไม่ได้มาจากสติปัญญาหรือความสามารถ แต่การ ‘ขาดโอกาส’ ตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งการเลี้ยงดู การสนับสนุน การเติบโตในสภาพแวดล้อมที่พร้อมน้อยกว่าในเรื่องการศึกษา ทำให้พื้นฐานบางอย่างไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร”

ย้อนไปในปีแรกของการรับนักศึกษาทุน มหาวิทยาลัยได้สร้าง ‘ระบบดูแลพิเศษ’ เริ่มจากสอบถามนักศึกษาที่ยังปรับตัวกับการเรียนไม่ได้ว่าติดขัดตรงส่วนไหน จากนั้นอาจารย์จะจัดห้องเรียนเสริมในช่วงเลิกเรียน ช่วยติวเข้มจนนักศึกษาน้องใหม่ค่อยๆ ปรับตัวได้

ขณะที่เมื่อเวลาผ่านไป ห้องเรียนเสริมพิเศษที่คล้ายเป็นพื้นที่ปรับพื้นฐานสำหรับคนที่ตามบทเรียนไม่ทัน ได้ขยายจากความรับผิดชอบของอาจารย์ มาเป็นวัฒนธรรมเล็กๆ ซึ่งรุ่นพี่จะเข้ามาดูแลรุ่นน้อง หรือเพื่อนที่ปรับตัวเรียนรู้ได้ไวกว่าก็ช่วยเป็นที่ปรึกษา พร้อมติวให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้ยกระดับความรู้ไปพร้อมกัน

“จากตอนแรกที่อาจารย์ช่วยปรับพื้นให้ พอรุ่น 1 เขากลายเป็นรุ่นพี่ มีรุ่น 2 เข้ามา พี่เขาก็เอาวิธีการนี้ไปปรับใช้กับรุ่นน้องต่อ มีกลุ่มติวที่แยกออกไปในหมู่เพื่อน คนเก่งช่วยคนตามไม่ทัน ตรงไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็จะรวมกลุ่มเข้ามาหาอาจารย์ นี่คือวัฒนธรรมเล็กๆ ที่พัฒนาขึ้นเป็นระบบเข้มแข็งในช่วงสามปี

“เราเห็นชัดเลยว่าเด็กที่เหมือนกับว่าเขาขาดพื้นฐาน ขาดโอกาสบางอย่างในตอนแรก พอเราให้เวลาปรับตัวสักระยะ คราวนี้ความเปลี่ยนแปลงชัดเลย เข้าเทอมสองเขาก็เรียนรู้ได้ไวขึ้น ค่อยๆ กลืนไปกับเด็กอื่นๆ ที่ในตอนแรกอาจจะทำได้ดีกว่าพวกเขา”

เรียนชีวิตจากประสบการณ์ ‘เด็กหอ’

อาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาทุน มทร.ล้านนากล่าวว่า มหาวิทยาลัยออกแบบกติกาให้นักศึกษาอยู่หอพัก 100% นับแต่วันแรกเข้าจนจบการศึกษา โดยน้องๆ จะต้องฝึกฝนตนเองในเรื่องทักษะชีวิต การดูแลตัวเอง เคารพกฎกติกาที่กำหนดร่วมกัน มีการตรวจระเบียบและลงโทษกันเอง ภายใต้คณะกรรมการนักศึกษาที่ผ่านการออกเสียงเลือกโดยนักศึกษา

“เป็นธรรมดาที่ช่วงวัยของเขาจะต้องอึดอัดบ้าง กับกฎกติการในการอยู่ร่วมกัน แต่เรามองว่านี่คือพื้นที่ที่เขาจะได้เรียนรู้และปรับตัวเรื่องการใช้ชีวิต เด็กส่วนใหญ่ของเราเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เขามีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง ซึ่งเขามีความภาคภูมิใจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงเวลาที่เข้ามาเล่าเรียนวิชาชีพ เขาควรได้แลกเปลี่ยนและหลอมส่วนหนึ่งในตัวให้พร้อมเป็นพลเมืองของโลก ยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน และต้องไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตนไป

“การอยู่ภายใต้กติกาสังคมที่ออกแบบร่วมกัน ได้ฝึกวินัยในตนเอง จะส่งผลไปถึงตอนที่เด็กเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ ต่อเนื่องถึงการทำงาน เพราะบางทีแค่มีทักษะในงานอาชีพเป็นที่ยอมรับอาจยังไม่พอ แต่เขาต้องมีทักษะเชิงสังคมเอาไว้ดูแลตัวเองด้วย”

ยิ่งเห็นโลกกว้าง ยิ่งมีแรงบันดาลใจกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

ในส่วนของกระบวนการหนุนเสริม นักศึกษาทุนจะได้เดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ มีการพบปะกับเพื่อนนักศึกษาทุนต่างสถาบัน ลงพื้นที่ชุมชนทำงานจิตอาสา อาจารย์สุวิชช์บอกว่า นับเป็นแรงบันดาลใจที่ดี ที่นักศึกษาได้เปิดตัวเองออกไปรู้ เห็น ทำความเข้าใจโลกกว้าง แล้วนำบทเรียนต้นแบบกลับมาปรับใช้กับชุมชนบ้านเกิดของตน

“หลายคนที่เขาไม่เคยเดินทางไปที่ไหนเลย พอได้ทำกิจกรรม ลงพื้นที่ ไปเยี่ยมพบปะเพื่อนนักศึกษาทุนสถาบันอื่น หรือลงไปทำงานจิตอาสาตามชุมชน พอเขาเห็นก็สามารถเชื่อมโยงกลับไปยังทรัพยากรที่เขามีที่บ้านได้ เกิดการคิดคำนวณในใจว่าจะกลับไปทำได้อย่างไร อะไรคือทุนตั้งต้น หรือต้องปรับเปลี่ยนยังไงให้เหมาะกับบริบทของตน สิ่งนี้คือความคิดแบบผู้ประกอบการ เป็นการนำประสบการณ์มาสร้างงาน มาพัฒนาบ้านเกิด แล้วเขาไม่ได้มองแค่ว่าตัวเขาหรือครอบครัวจะได้อยู่ฝ่ายเดียว แต่คิดไปถึงว่าเรียนจบแล้วจะกลับไปทำให้ที่บ้านพัฒนาได้อย่างไร

“อย่างคนที่เรียนด้านอุตสาหกรรมอาหาร เขามองไปถึงว่าจะเปิดโรงงานเล็กๆ เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ มีรายได้ที่กระจายเข้าไปสู่ชุมชนหมู่บ้านของเขา นี่คือผลที่เขาได้รับการขัดเกลาจนมีทัศนคติที่แหลมคม พอคิดไกลวางแผนอนาคตไว้แล้ว คราวนี้จะขวนขวายหาโอกาสเรียนต่อให้สูงที่สุด เพราะรู้แล้วว่ายิ่งเรียนก็ยิ่งเห็น ยิ่งมีความรู้ตั้งต้นก็ยิ่งสามารถคิดทำการใหญ่ได้”

ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาระบบดูแลนักศึกษา ที่ช่วยเปลี่ยนน้องๆ จากความด้อยโอกาส ให้มีศักยภาพในการเรียน การทำงาน มีวิชาชีพดูแลตนเองและครอบครัว เพื่อที่ในวันหนึ่ง นักศึกษาที่ได้รับโอกาสกลุ่มนี้เองจะเป็นตัวแทนในการส่งต่อ ‘โอกาส’ ไปยังคนอื่นๆ รอบตัวเขาต่อไป