ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่ครูสอนหนังสือเท่านั้น แต่ครูรัก(ษ์)ถิ่นยังมีภารกิจเป็นผู้นำชุมชน เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาบ้านเกิด
การเตรียมความพร้อมจึงไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้ที่จะเข้าไปสอนเด็กแต่เพียงอย่างเดียว
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี หนึ่งในสถาบันร่วมผลิตครูกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงได้ออกแบบกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาทักษะหลายด้าน
เริ่มตั้งแต่ศิลปะ เพื่อการพัฒนาตนเองและนำไปใช้กับนักเรียนได้ในอนาคต กิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กได้รู้จักตนเองและสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยกิจกรรมจะมีทั้งระบายสีน้ำ 3 สี คือ เหลือง แดง น้ำเงิน เป็นการทำงานกับความรู้สึก ที่จะทำให้ได้เห็นบุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน พร้อมกับให้เด็กแต่ละคนได้สะท้อนความรู้สึกของตนเองออกมา
ถัดมาคือกิจกรรมการปั้นดินเหนียว เช่น การปั้นสัตว์อย่าง หมี กระต่าย เสือ และครอบครัวสัตว์ เพื่อให้เด็กๆ ที่บ้านไกลได้สัมผัสถึงความอบอุ่นของครอบครัวผ่านกิจกรรมนี้ อีกทั้งได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ หลายคนปั้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งบ้าน ถ้ำ รัง มีเครื่องประดับตกแต่งสวยงาม สิ่งที่สอดแทรกในกิจกรรมนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน การร่วมกันทำงาน การเปิดใจ และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
การใช้ศิลปะเข้ามาเป็นสื่อจะช่วยให้เด็กเกิดการตกตะกอนทางความคิด สามารถเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ร่วมไปกับการได้รับมิตรภาพจากเพื่อน ๆ ทำลายกำแพงที่ขวางกั้นของแต่ละคน และนำมาสู่การช่วยเหลือดูแลกันและกัน
ถัดมาที่กิจกรรมปฐมพยาบาล เพื่อให้เด็กเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น การทำแผลอุบัติเหตุ หรือโดนแมลงมีพิษกัดต่อย การทำ CPR ที่ถูกวิธี รวมทั้งมีกิจกรรมฝึกอบรมเรื่องการออกกำลังกายเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี ให้นักศึกษามีความรู้ในหลักการและสามารถพัฒนาสุขภาวะให้กับเด็กนักเรียนต่อไปในอนาคต
รู้จักประยุกต์สิ่งของในชุมชน
เพื่อต่อยอดพัฒนา
อีกกิจกรรมคือการทำขนม ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้การทำอาหารคาว หวาน ทั่วไปแล้ว เช่น ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยวหมูสับ สาคูไส้หมู กิจกรรมนี้ยังสอนให้รู้จักการประยุกต์ นำสิ่งของที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประกอบอาหารด้วย ยกตัวอย่างเช่น การนำกล้วยน้ำว้ามาทำเป็นขนมคล้ายเค้กกล้วยหอม และใช้การนึ่งแทนการอบ
หลังการทำอาหารนักศึกษาจะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนีย์ โรงพยาบาลท่ามะการักษ์ และโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย เพื่อฝึกการเป็นผู้ให้ ที่สำคัญคือเด็กหลายคนยังทำกิจกรรมนี้ต่อเนื่องแม้จะจบกิจกรรมแล้ว
สำหรับกิจกรรมต่อไป ทางมหาวิทยาลัยวางแผนว่าอาจจะเป็นกิจกรรมประเภทงานไม้ เพราะการไปเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น อยู่ในพื้นที่ห่างไกลนั้น บางโรงเรียนอาจไม่มีนักการภารโรง หรือเจ้าหน้าที่ที่จะมาซ่อมแซมตู้ โต๊ะ เก้าอี้ นักศึกษาจึงควรเรียนรู้ทักษะงานไม้ไว้ใช้ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถนำไปสอนนักเรียน ให้รู้จักประดิษฐ์สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยตัวเองได้อีกด้วย
ลงพื้นที่เก็บข้อมูล วางแผนพัฒนาการทำงาน
ดร.สายชล เทียนงาม อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวว่า แนวทางการพัฒนานักศึกษา นอกจากหลักสูตรปกติแล้วจะเสริมด้วยกิจกรรมที่จะเป็นการผสมผสานทั้งแนวทางของ กสศ. และประสบการณ์ของอาจารย์มหาวิทยาลัย
สิ่งที่สำคัญคือการลงพื้นที่ชุมชน เพื่อให้นักเรียนทำความรู้จักกับชุมชน ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมการให้นักศึกษาลงไปศึกษาพื้นที่ก่อนว่ามีของดีอะไรบ้างในชุมชน หรือมีจุดอ่อนอะไร เริ่มตั้งแต่วิธีการลงพื้นที่ วิธีการพูดคุยสื่อสาร หาข้อมูลกับหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน
จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะนำมาพัฒนาเป็นแผนการทำงาน ว่าจะต้องพัฒนาในจุดไหน อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะนำแผนไปใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานช่วยให้เริ่มทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเก็บข้อมูลใหม่
ดร.สายชล มองว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เริ่มตั้งแต่นักศึกษาที่ได้รับทุนตรงนี้ ซึ่งหากไม่ได้รับทุนก็อาจไม่ได้เรียนต่อ ดังนั้นการลงพื้นที่เพื่อคัดเลือกเด็กมาเข้าโครงการจึงมีความสำคัญ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจะแบ่งเป็นพื้นที่ที่รู้จัก เช่น พื้นที่เมืองกาญจนบุรี ที่สามารถเชื่อมต่อประสานไปยังโรงเรียนประจำจังหวัด ประจำตำบล เพื่อให้ช่วยค้นหาในเบื้องต้น เพราะแต่ละแห่งจะมีข้อมูลว่านักเรียนคนไหนมีความเหมาะสม เข้าเกณฑ์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากเป็นครู จากนั้นก็จะลงพื้นที่เพื่อไปคัดกรองอีกครั้ง ส่วนท้องที่อื่นก็อาจใช้การประสานกับทางพื้นที่ ให้ช่วยค้นหาควบคู่กันไปด้วย
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการพัฒนานักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถลงไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต